จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ คำแนะนำใหม่ของดับเบิลยูเอชโอ ซึ่งมีเป้าหมายที่มลพิษทางอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก และไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่พบในการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล จะสามารถรักษาชีวิตชาวโลก ไม่ให้สูญเสียไปโดยไม่สมควร ได้ “หลายล้านคน”

นพ.เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ เผยว่า มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตชาวโลกก่อนวัยอันควร อย่างน้อย 7 ล้านคนต่อปี ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศ แม้ในระดับต่ำมาก ส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ ไล่ตั้งแต่สมอง ไปจนถึงทารกที่กำลังเติบโตในครรภ์มารดา

ดับเบิลยูเอชโอคาดหวังว่า การปรับแก้เกณฑ์จะกระตุ้น 194 ประเทศสมาชิก ดำเนินการลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นอีกปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งช่วงนี้ทั่วโลกกำลังถูกกดดัน ให้นำเสนอแผนใหม่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อนถึงการประชุมใหญ่สภาพภูมิอากาศโลก ขององค์การสหประชาชาติ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ ที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์

ในปี 2562 ประชากรโลก 90% สูดหายใจอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ตามเกณฑ์แนะนำของปี 2548 และบางประเทศ เช่น อินเดีย มาตรฐานระดับประเทศยังต่ำกว่าคำแนะนำของปี 2548 ส่วนสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่ของสมาชิก 27 ประเทศ มีมาตรฐานสูงกว่าคำแนะนำ แต่บางประเทศทำไม่ได้

เคิร์ต สเตรฟ อดีตนักวิทยาศาสตร์ประจำสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ ของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า ความพยายามควบคุมมลพิษ ด้วยการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะส่งผลดีถึง 2 เท่า คือสภาวะสาธารณสุขดีขึ้น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง

คำแนะนำใหม่ ลดขีดจำกัดขององค์การอนามัยโลกลงครึ่งหนึ่ง  สำหรับค่าเฉลี่ยรายปีของพีเอ็ม 2.5 ไม่ควรสูงเกิน 5 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร

เกณฑ์ตามคำแนะนำเก่า จำกัดค่าเฉลี่ยรายปีไว้ที่ไม่เกิน 10 ไมโครกรัม แต่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก แม้ในระดับต่ำ ในระยะยาวยังคงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ปอด หลอดเลือดสมอง และผลกระทบทางลบอื่น ๆ ต่อสุขภาพมนุษย์

ในประกาศคำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เกือบ 80% ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวพันกับ พีเอ็ม 2.5 สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากระดับมลพิษทางอากาศในปัจจุบันลดลง

ระดับค่าเฉลี่ย พีเอ็ม 2.5 ในจีน ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในเขตเมืองหลวงกรุงปักกิ่ง ค่าเฉลี่ยสูงถึง 41 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือกลุ่มที่อยู่ในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งต้องพึ่งพาการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

โจนาธาน กริก กุมารแพทย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยควีนแมรี ลอนดอน ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า มีหลักฐานชี้ชัด ประชากรโลกที่ยากจนกว่า และด้อยโอกาสทางสังคมมากกว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสมลพิษทางอากาศ เนื่องจากสถานที่อยู่อาศัยใช้ชีวิต และความจริงที่น่าเศร้าก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้ปล่อยมลพิษสู่อากาศน้อยกว่า แต่กลับได้รับผลกระทบทางลบมากกว่า

กริกย้ำว่า การทำได้ตามมาตรฐานใหม่ของดับเบิลยูเอชโอ ไม่เพียงแต่จะปรับปรุงสุขภาพของประชากรโลกโดยรวม แต่ยังจะช่วยลด ความไม่เท่าเทียมทางสาธารณสุขด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES