การสร้าง Brand” เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องนำมาใช้เชื่อมโยงกับการพัฒนาธุรกิจ ถึงแม้เรื่องนี้จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ก็มีเคล็ดลับที่สามารถใช้เป็นแนวทางได้เช่นกัน ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลมาให้พิจารณากัน โดยเป็นข้อมูลจาก ผศ.ดร.วราภรณ์ คล้ายประยงค์ คณะวิทยาการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ SME ได้ให้แนวทางเรื่องนี้ไว้ผ่านโครงการตอกเสาเข็มเพื่อ SME ปี 2567 ที่ทางศูนย์เซเว่น อีเลฟเว่น สนับสนุนเอสเอ็มอีจัดขึ้น โดยมีการระบุถึงสิ่งที่ SME ควรรู้ก่อนจะปั้นแบรนด์ว่า ปัจจุบันนักการตลาดมักจะแบ่งประเภทลูกค้าตามพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลจากการที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในชีวิตมากขึ้น จนเกิด “กลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่น่าจับตา” ที่ถูกเรียกชื่อว่า “Generation C” หรือ “Connected Generation” ซึ่งคิดเป็น 75% ของประชากรวัยทำงาน ซึ่งสะท้อนว่าอายุอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่นักการตลาดมองแค่อย่างเดียว

ผศ.ดร.วราภรณ์ คล้ายประยงค์

แล้ว Gen C คือใคร? สำหรับเรื่องนี้ทาง ผศ.ดร.วราภรณ์ ได้อธิบายว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ แต่เน้นที่ทัศนคติและแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานใช้กับไลฟ์สไตล์ หรือวิถีชีวิตประจำวัน โดย “จุดเด่นของ Gen C” คือความกระตือรือร้น และชอบมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์ และด้วยเหตุจึงนี้ทำให้คน Gen C นั้น ไม่เพียงแค่ชอบการบริโภคเนื้อหา แต่ยังชอบที่จะสร้าง content ขึ้นเองอีกด้วย รวมไปถึงยังมักจะแบ่งปันชีวิตในโลกดิจิทัลของตนเองผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ส่งผลทำให้คนกลุ่มนี้จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนคำถามสำคัญต่อมา นั่นก็คือ แล้ว SME จะทำอย่างไรให้เข้าถึงได้ โดยเรื่องนี้ ผศ.ดร.วราภรณ์ ได้ให้แนวทางเอาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

1.ต้องมีทัศนคติเชิงบวกกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การมองโลกในแง่ดีและสนับสนุนผู้บริโภคด้วยการสร้างมูลค่าเชิงบวกกับการขายจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นใจ และช่วยสร้างความสัมพันธ์ในแบรนด์ เช่น ผู้ประกอบการที่จำหน่ายพลาสเตอร์ปิดแผล ซึ่งเป็ฯสินค้าที่จะถูกใช้งานก็ต่อเมื่อเกิดบาดแผล แต่ถ้าผู้ประกอบการมีการนำข้อความดี ๆ หรือออกแบบลวดลายของพลาสเตอร์ปิดแผลให้ดูสดใส ก็จะช่วยสร้างอารมณ์และความรู้สึกที่ดีให้ผู้บริโภคได้

2.สร้างความเป็นมิตร เป็นผลจากการที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะมองหาความไว้วางใจที่มีมากกว่ามูลค่าทางด้านตัวเงิน เช่น เลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเลือกใช้บริการที่ทำให้รู้สึกสบายใจ

3.รู้จักผสมผสานเทคโนโลยี โดยผู้ประกอบการต้องศึกษารูปแบบและวิธีขายในแต่ละแพลตฟอร์มให้ดี ๆ เพื่อที่จะสามารถสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

4.ให้ความสำคัญกับงานและชีวิต หากแบรนด์มีการสร้างการตระหนักรู้ถึงความใส่ใจขององค์กรที่มีต่อพนักงาน ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์นั้น ๆ เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เพราะความสุขของพนักงานที่มีต่อการทำงานจะสะท้อนออกมาผ่านตัวสินค้าและบริการนั่นเอง

5.ให้ความสำคัญกับสังคม กลุ่มผู้บริโภค Gen C มักจะชอบค้นหาข้อมูลผู้ประกอบการและที่มาสินค้าว่าสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ดังนั้น การสร้างแบรนด์เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงต้องนำปัจจัยเรื่องนี้มาพิจารณาด้วย

และนี่เป็น “5 ปัจจัย” ที่ผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ SME ระบุไว้ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อ “ปรับตัว-ปั้นแบรนด์” ให้ปังได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]