วัฒนธรรมอาหาร” เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์สำคัญของเกาหลีใต้ ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย โดยนอกจากจะดึงดูดใจให้ผู้คนสนใจอาหารเกาหลีแล้ว ยังมีส่วนช่วยทำให้ธุรกิจมอาหารเกาหลีใต้เติบโตตามไปด้วย ซึ่งผู้ประกอบการของไทยน่าติดตามศึกษา โดยวันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลเกี่ยวกับ “ธุรกิจอาหารเกาหลี ปี 2567” มาให้พิจารณา โดยเป็นข้อมูลที่ สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน และ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล จัดทำและเผยแพร่ไว้…

ทั้งนี้ แหล่งข้อมูลดังกล่าวได้ระบุถึง “แนวโน้มธุรกิจอาหารเกาหลีใต้ ปี 2567” เอาไว้ว่า… แม้ปี 2566 ปัจจัยเศรษฐกิจที่ไม่เติบโต และดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหารเกาหลีใต้ แต่ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้ก็ยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับอาหาร นอกจากนั้นจากการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ MZ Generation มีอิทธิพลการใช้จ่ายมากขึ้น กรณีนี้จึงส่งผลทำให้เกิดเทรนด์สินค้าและบริการใหม่ ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารต่าง ๆ ดังนี้…

1.เทรนด์ระวังการใช้จ่าย ที่เป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้เลือกปรับลดค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันลง และหันไปบริโภคชุดอาหารจากร้านสะดวกซื้อหรือห่อข้าวมากินแทน รวมถึงให้ความสนใจการใช้ส่วนลดหรือสิทธิพิเศษจากช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการด้านอาหารจึงเร่งแข่งขันผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ของตนเอง

2.เทรนด์สนใจรสชาติใหม่ ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ตัวเอง รวมถึงแชร์ประสบการณ์อาหารของตน ผ่านช่องทางออนไลน์ จนเกิดกระแสต่าง ๆ มากมาย

3.เทรนด์อาหารทานเล่นในอดีต เป็นอีกกระแสที่กลับมาในกลุ่มผู้บริโภคเกาหลีใต้ โดยมีการนำปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ MZ Generation

4.เทรนด์ Loconomy ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคเกาหลีใต้ เนื่องจากต้องการมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

5.เทรนด์สูตรอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะบุคคล หรือ Customizing Recipe เช่น การปรับสูตรอาหารเฉพาะบุคคล และให้ผู้บริโภคเลือกสูตรอาหารหรือวัตถุดิบของตนเองได้ ที่ถือเป็นการตลาดที่กำลังเป็นกระแสเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภค MZ เนื่องจากต้องการได้รับประสบการณ์จากการบริโภคใหม่ ๆ

6.เทรนด์ Healthy Pleasure ที่เป็นการเลือกอาหารที่มีแคลอรีต่ำ แต่ยังคงความอร่อยเหมือนเดิม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ

7.เทรนด์บริการแบบไร้พนักงาน โดยใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องให้บริการอัตโนมัติที่เริ่มนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเงินเดือนขั้นต่ำของแรงงงานที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในธุรกิจอาหาร

นี่เป็นข้อมูลน่าสนใจที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่เอสเอ็มอีในด้านนี้ หรือแม้แต่สาขาอื่น ๆ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ทั้งเพื่อปรับใช้ ทั้งเพื่อให้ทันเทรนด์ธุรกิจ.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]

ขอขอบคุณภาพจาก www.freepik.com