กลายเป็นอีกหนึ่งคำศัพท์ที่ผู้ประกอบการน่าจะคุ้นหูมากขึ้นใน ยุค AI Economy กับคำว่า Smart Factory หรือ “โรงงานอัจฉริยะ” ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เทคโนโลยีใหม่ และพนักงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความสามารถที่สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนจะคิดอัปเกรดไปสู่การเป็น Smart Factory ก็มีปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรพิจารณา ส่วนจะมีอะไรนั้น วันนี้มีข้อมูลมาฝากกัน

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นข้อมูลจากทาง ลิบ คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาการวางกลยุทธ์องค์กร และการปรับเปลี่ยนผู้ผลิตไปสู่ Smart Factory ที่ให้ข้อมูลไว้ว่า แม้ผู้ประกอบการหลายรายคิดที่จะอัปเกรดตัวเองเพื่อก้าวสู่การเป็นโรงงงานอัจฉริยะ แต่มิใช่ทุกรายที่จะสามารถไปถึงจุดนั้นได้อย่างราบรื่น เพราะต้องเจอความท้าทายมากมายในการเริ่มต้น อีกทั้งการขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนก็เป็นอุปสรรคใหญ่ โดยปัญหาที่พบบ่อย ๆ นั่นก็คือ ผู้ประกอบการมักไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นที่จุดใดก่อน ซึ่งสำหรับคำแนะนำในเรื่องนี้นั้น อาจจะต้องเริ่มจากการพิจารณาถึง “3 ปัจจัยที่สำคัญ” ก่อนที่ผู้ประกอบการจะ อัปเกรดสู่การเป็น Smart Factory ได้แก่

1.ปัจจัยเชิงเทคโนโลยี (Technological Factor) เพราะความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจนเกิดระบบเศรษฐกิจแบบ On-Demand เพื่อตอบสนองความต้องการได้แบบฉับพลัน ดังนั้น ก่อนจะอัปเกรดผู้ประกอบการจึงควรนำเรื่องนี้มาพิจารณา เพื่อวางกลยุทธ์ใหม่ให้ทันต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

2.ปัจจัยเชิงการเมืองและสิ่งแวดล้อม (Political and Environmental) เพราะนโยบายการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว ดังนั้น ก่อนอัปเกรดสู่ Smart Factory ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อเทรนด์นี้ด้วย

3.ปัจจัยเชิงสังคม (Societal Factor) ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยซึ่งควบคุมได้ยาก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นแรงผลักดันทำให้ผู้ประกอบการเข้าสู่การพัฒนา Smart Factory ได้รวดเร็วขึ้น โดยผู้ประกอบการควรมีการวางแผนการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค เพื่อเพื่อรักษาสมดุลทางธุรกิจ

ขณะที่การเดินหน้าสู่การเป็น Smart Factory นั้น ผู้ให้ข้อมูลได้แนะนำว่า สามารถแบ่งการดำเนินการออกได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) ผ่าน 3 องค์ประกอบสำคัญ คือเรื่องของวิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลง แนวทางสู่การเปลี่ยนแปลง และขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง, การเรียงลำดับการดำเนินงาน (Sequence) ที่ควรมีการกำหนดแผนระยะสั้นร่วมกับแผนระยะยาว, กำหนดโครงสร้างการทำงาน (Structure) เพื่อนำแผนมาพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ 4 ตำแหน่งหลัก ๆ คือเจ้าของ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญข้อมูล และนี่เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีควรต้องพิจารณา หากกำลังคิดที่จะ “อัปเกรด” สู่การเป็น “Smart Factory” .

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]