นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 จนถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ 4 เดือน สำหรับปฏิบัติการตามนโยบาย Quick Win (ควิก วิน) นำผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยหวังผล นำร่องจากกลุ่มหนักสุด(สีแดง) จนถึงวันนี้พอเห็นเค้าลางเป็นรูปเป็นร่างอย่างไรบ้าง…

ทีมข่าวอาชญากรรม”ได้รับการเปิดเผยจาก นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. สรุปผลลัพธ์“ควิก วิน”ส่งบำบัดรักษาเป้าหมายกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชรุนแรง(สีแดง) ในพื้นที่ 30 จังหวัด 85 อำเภอ จำนวน 4,414 ราย ป.ป.ส.ส่งเข้ารับการบำบัด“ครบ”ทุกคนและอยู่ระหว่างกระบวนการทางสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม นอกจากกลุ่มนี้ยังเล็งเห็นควรยกระดับกลุ่มเป้าหมายเป็นทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้มีการสำรวจและเดินหน้าต่อเนื่อง จนพบจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดที่มีอาการจิตเวช (มีทั้งผู้ที่ใช้แล้วเกิดอาการทางจิต และผู้ที่มีอาการทางจิตมาก่อนจะใช้สารเสพติด) รวม 32,623 ราย ในจำนวนนี้เข้าไปดำเนินกาแล้ว 11,894 ราย และสามารถนำผู้บำบัดส่งคืนชุมชน 4,551 ราย

นายมานะ ฉายภาพสถิติลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาจิตเวชจากการใช้ยาเสพติดของกลุ่มผู้มีอาการทางจิต 32,623 ราย พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด 13,694 ราย ส่งเข้าบำบัดตามนโยบาย“ควิก วิน” แล้ว 6,142 ราย ผ่าน 3 แนวทาง คือ

1.นำผู้เสพเข้าระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (บสต.) ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข 2,134 ราย 2.นำผู้เสพเข้าระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนยั่งยืน หรือ ระบบ CBTx ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) 154 ราย และ 3.นำผู้เสพเข้าระบบซักถามข้อมูลยาเสพติด ภายใต้การรับผิดชอบของตร. 3,854 ราย

ทั้งนี้ จากการขยายฐานข้อมูลตร.พบว่ายังมีกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวช แต่“ตกสำรวจ”อีก 1,505 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้“ยาบ้า” ซึ่งป.ป.ส.จะส่งต่อกระทรวงสาธารณสุขไปคัดกรองระดับความรุนแรง และพิจารณาให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูตามมาตรการ เช่น ส่งเข้าบำบัดยังสถานพยาบาล สั่งจ่ายยาปรับสารเคมีในสมอง เพื่อส่งคืนชุมชน โดยดำเนินการไปแล้ว 846 ราย และจำเป็นต้องประเมินผลเป็นระยะ ป้องกันการกลับไปเสพซ้ำอีก

สำหรับภาพความรุนแรงที่มาจากผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด ที่ผ่านมาพบรายงานข่าวอาการหลอน คลุ้มคลั่งและก่อเหตุทำร้ายร่างกายคนรอบข้าง หรือครอบครัว แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ล่าช้า ในเรื่องนี้ได้ทำความเข้าใจกับผู้ใช้กฎหมาย ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ออกคู่มือเมื่อรับแจ้ง เพื่อให้รู้ข้อควรปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการซักซ้อมแผนหากพบการคลุ้มคลั่งภายในชุมชน จะต้องทำอย่างไรก่อนเจ้าหน้าที่ไปถึง

ส่วนเจ้าหน้าที่เมื่อสยบคลั่งได้แล้ว ต้องสามารถพิจารณาการส่งตัวไปรักษายังสถานพยาบาลที่เหมาะสมได้ เช่น ผู้เสพมีอาการป่วยจิตเวชต้องส่งไปยังสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาเรื่องจิตเวชโดยเฉพาะ แต่หากผู้เสพมีบาดแผลตามร่างกาย แต่ไม่ได้มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยต้องพิจารณาส่งไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา

ที่ผ่านมาป.ป.ส.เก็บข้อมูลในรอบ 1 ปี เพื่อเปรียบเทียบ พบเฉพาะช่วงวันที่ 1 ..65 -14 มี..66 มีข่าวจากผลกระทบเรื่องยาเสพติด 175 ข่าว ส่วนช่วงเดียวกันในเวลาถัดมาคือวันที่ 1 ..66 -14 มี..67 มีข่าวจากผลกระทบเรื่องยาเสพติด 156 เรื่อง

ถือว่ามีแนวโน้มจำนวนลดลง และอาจบ่งบอกได้ว่าเรามาถูกทาง เพราะถ้าเรายังดำเนินการจับกุมการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่องและนำมาแสดงให้สาธารณะชนได้รับรู้ ประชาชนก็จะได้เห็นว่าเรามีการป้องกัน ปราบปราม สกัดกั้น ในภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน” นายมานะ ทิ้งท้ายมุมมองต่อผลลัพธ์ที่เริ่มเห็นเค้าลาง.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]