โดยเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ “ดีพเฟค” เริ่มเป็นที่รู้จักหรือคุ้นหูมากขึ้นนั้น…ต้องย้อนกลับไปปี 2565 หลังสังคมไทยฮือฮาจากกรณีมี “โจรออนไลน์ปลอมตัวเป็นตำรวจ” โดยการ “ใช้เทคโนโลยีดีพเฟค” แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีนี้ยังใหม่ จึงทำได้ไม่เนียน อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้เรื่องนี้ “จำเป็นต้องกลัว” เมื่อ “ดีพเฟค“ วันนี้ “มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปไกล” โดยที่…

“ปลอมเนียน” รวมถึง “ปลอมเสียง”

จน “ตำรวจก็ใช้ปลอมตัวจับคนร้าย”

ก็แล้ว “ถ้าคนร้ายเซียน ๆ ใช้ล่ะ??”…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้…ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้… กับ “เทคโนโลยีดีพเฟค” ที่ในไทยระยะหลัง ๆ ก็พบว่า “มิจฉาชีพออนไลน์” มีการนำเทคโนโลยีนี้มา “ใช้หลอกเหยื่อเพิ่มขึ้น” นั้น จากที่ตอนแรก ๆ เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องขำขัน หากแต่
วันนี้ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกกังวลและรู้สึกเป็นห่วงในความก้าวล้ำของเทคโนโลยีนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการมองไกลไปถึงขั้นที่ว่า…ในอนาคต “ผู้ก่อการร้าย” อาจ “ใช้ดีพเฟคสร้างความโกลาหล-ก่อความรุนแรงร้ายแรง” ก็เป็นได้??…

แม้วันนี้จะยังไม่มีกรณีร้ายแรงดังว่า

แต่วันหน้าจะมีมั้ย??…นับว่าน่าคิด??

และกับกรณีปัญหาที่มีคำว่า “เฟค (Fake)” หรือ “ปลอม” รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ยังมีการ “เตือน” คนไทย “เลิกประมาทไม่ได้” กับ “เล่ห์เก่า ๆ” ที่มิจฉาชีพยังนิยมใช้ “ตุ๋น-ลวง” ผู้คนผ่านทางระบบออนไลน์ คือ “ชีพเฟค (Cheapfake)” ซึ่งเรื่องนี้เผยแพร่ไว้ผ่านบทความ “AI-DEEPFAKE เทคโนโลยีซับซ้อนปลอมเนียนน่ากังวล แต่อย่าประมาท CHEAPFAKE ทริกง่าย ๆ ที่ก็ยังหลงเชื่อกันได้” โดยทาง โครงการโคแฟค ประเทศไทย ได้ย้ำเตือนไว้ว่า… แม้ “ดีพเฟค” ก็เป็นเครื่องมือสำคัญเวลานี้ที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกทรัพย์สินจากเหยื่อ แต่กับ “ทริกเดิม ๆ” อย่าง “ชีพเฟค” นั้นมิจฉาชีพก็ยังคงใช้ได้ผลอยู่…

กลัวดีพเฟค” ก็ “ยังต้องกลัวชีพเฟค”

แม้ต่างรูปแบบต่างเทคนิคแต่ก็ตีคู่!!

แล้ว “อะไรคือชีพเฟค?” … ในบทความนี้ได้อ้างอิงคำอธิบายที่ Samsung SDS บริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลของเกาหลีใต้ ได้อธิบายไว้ว่า… “ชีพเฟค” หรืออีกคำคือ “แชลโลว์เฟค (Shallowfake)” แปลแบบตรงตัวก็จะหมายถึง “การหลอกลวงหรือบิดเบือนข้อมูลด้วยวิธีการแบบง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อน” เนื่องจากชีพเฟคอาจมีการใช้เทคโนโลยีช่วยบ้าง แต่ก็ไม่ต้องใช้ความรู้ชั้นสูง ซึ่งต่างจาก ดีพเฟค ที่ต้องเข้าใจเรื่อง AI และ Machine learning พอสมควร โดย วิธีการทำชีพเฟคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น แต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop หรือตัดต่อวิดีโอด้วยการเร่งหรือลดความเร็ว เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย “กลลวงชีพเฟค” ที่คนไทยน่าจะผ่านตาบ่อย ๆ ก็คงเป็นกรณีอย่างการ “นำภาพเก่ามาเล่าใหม่” โดยการ “ตั้งใจเล่าให้ผิดไปจากบริบทของเดิม” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น “ข่าวปลอม-ข่าวเท็จ” และนอกจากนั้น “เทคนิคชีพเฟค” ที่พบบ่อย ๆ ไม่แพ้กัน ซึ่งมิจฉาชีพมักนำมาใช้เป็น “กลยุทธ์หลอกเหยื่อ” โดยเฉพาะกับ คนใจบุญ-คนใจดี ที่ชอบสร้างกุศล-บริจาคเงินช่วยเหลือ ผ่านการ โอนเงินบริจาค นั่นก็คือ… การ “นำภาพเก่าหรือภาพของคนอื่นมาโพสต์” เพื่อ “หลอกลวงขอรับบริจาค” ซึ่งกรณีนี้ก็ยังเป็นกระแสดราม่าปรากฏอยู่บ่อย ๆ …นี่เป็นตัวอย่างโดยสังเขปเกี่ยวกับ…

“รูปแบบของชีพเฟค” ที่ “พบในไทย”

และในบทความ “เตือนคนไทย” ก็ยังได้มีการระบุถึงอีกหนึ่งเทคนิค “ชีพเฟค” ที่ก็พบได้บ่อยไม่แพ้ 2 กรณีข้างต้น คือ… นอกจากการใช้ภาพหลอก ยังมีการ “ใช้ข่าวเก่าแบบลอกมาทั้งหมด” แต่ “เปลี่ยนชื่อ-บัญชีธนาคารผู้รับบริจาค” โดยปัจจุบันก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ “หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ” ซึ่งก็เป็น “เล่ห์ลวง” อีกแบบที่ต้องระวัง ที่สำคัญ…นอกจากเทคนิคนี้ถูกใช้หลอกลวงคนทั่วไปบนโลกออนไลน์แล้ว ยังมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ “หลอกโยงไปถึงตำรวจ” ด้วย!! อาทิ ปี 2566 มีผู้ต้องหาซึ่งเปิดเฟซบุ๊กขายป้ายทะเบียนปลอม สารภาพว่า… “ทำป้ายทะเบียนปลอมจากโปรแกรม Photoshop”…

ทำเพียงแค่ 3 นาที ทุนไม่ถึง 10 บาท

แต่ใช้หลอกขายได้ราคาสูงถึงหลักพัน

ทั้งนี้ แม้ตอนนี้ “กังวลกันมาก” กับเทคโนโลยีใหม่ “ดีพเฟค” ที่เกี่ยวโยง “AI” ที่ทำให้ ข่าวลวงหรือการบิดเบือนข้อมูลทำได้แนบเนียน-จับผิดได้ยากมากขึ้น แต่ในบทความโดย โคแฟค ประเทศไทย ก็เตือนย้ำไว้ด้วยว่า… ก็ต้องไม่ลืม อันตรายของ “ชีพเฟค” เพราะรูปแบบง่าย ๆ หรือกลเม็ดง่าย ๆ มีโอกาสเจอได้บ่อย ๆ เนื่องจากทำได้ง่าย ๆ ไม่ต้องอาศัยความรู้ซับซ้อน และหากบังเอิญ “กระตุ้นอารมณ์เหยื่อได้” ไม่ว่าใครก็อาจ “หลงเชื่อ” ได้ ดังนั้น “หลักสำคัญที่สุด” คือ…

“ตั้งสติก่อนเชื่อ-เช็กให้ชัวร์ก่อนโอน”

ท่องไว้ให้ “เป็นคาถาขึ้นใจ…ก็จะดี”

จะ “สู้มันได้…ทั้งชีพเฟค-ดีพเฟค”.