ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์นี้ต้องติดตามราคาค่าไฟงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 67) ซึ่งยังไม่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ทั้งที่เวลานี้วันนี้ 7 ม.ค.แล้ว ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า จะออกประกาศราคาค่าไฟงวดนี้ สำหรับกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยขึ้นไป จะประกาศได้ไม่เกิน 10 ม.ค.นี้  เพื่อให้เป็นไปตามมติครม. คาดว่า ค่าไฟจะอยู่ในกรอบ 4.17-4.19 บาทต่อหน่วย

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ตัวเลขชัดเจนต้องรอกกพ. ประกาศ เพื่อไม่ให้เป็นการเข้าไปแทรกแซงการทำงาน เนื่องจากกกพ. ยังรอตัวเลขทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติ จากบมจ. ปตท. แต่ยืนยันว่า ค่าไฟงวดใหม่นี้จะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย เนื่องจากที่ผ่านมาได้ปรับและรื้อโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ทั้งหมดทำให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 48 สตางค์ จากเดิมที่ประกาศไว้ 4.68 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานกำลังวางแนวทางเพื่อควบคุมราคาก๊าซฯ ที่เป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เช่นเดียวกับการบริหารจัดการราคาน้ำมัน  หากสามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกันได้ก็จะลดผลกระทบให้กับประชาชนที่ต้องเผชิญผันผวนค่าไฟฟ้าที่ผันผวน

“การรื้อโครงสร้างราคาก๊าซฯ ประกอบไปด้วยการบริหารจัดการก๊าซฯในหลายด้านแต่หลายอย่างก็ลดได้ 5-11.5 สตางค์ แต่รวมๆแล้วสามารถลดได้ 48 สตางค์ แม้จะเพิ่มจากงวดสุดท้ายของปี 66 ก็ตาม” 

สำหรับค่าไฟฟ้างวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.) นั้น มีสัญญาณที่ดี เพราะแนวโน้มราคาก๊าซฯน่าจะทรงตัว เพราะจะได้ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้นจากเดิมขาดหายไป เนื่องจากได้รับรายงานว่าปริมาณก๊าซฯอ่าวไทยจะได้ตามแผนที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 67 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลมาถึงค่าไฟฟ้าในระยะต่อไปด้วย 

รายงานข่าวจาก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ​ เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค. 66  ได้ไม่ถึง​ 600​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน​ แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ​ เนื่องจากได้มีการแก้ไขปัญหา​ โดยให้ ​ปตท.สผ.​เพิ่มกำลังการผลิตจากแหล่งบงกชและ​แหล่งอาทิตย์​ มาชดเชย​ในปริมาณ​รวม​ 160​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน​ รวมทั้งการเลื่อนแผนซ่อมบำรุงของแหล่งยาดานา​ ในเมียนมา​ออกไป​ ดังนั้น 1​ เม.ย. 67​ กำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย ​จะเพิ่มขึ้นเป็น​ 800​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน​อย่างแน่นอน