ทั้งที่กฎหมายเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่ม“ผิดซ้ำ”กำหนดบทลงโทษหนักขึ้น  แต่…เหตุใดพฤติกรรมเมาขับในสังคมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

นพ.ธนะพงศ์  จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) สะท้อนกับ“ทีมข่าวอาชญากรรม”ถึงหลักการสำคัญที่น่าจะทำให้การป้องปรามเมาขับได้มากขึ้นคือ“ความแน่นอน”ของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 กำหนดให้“ผิดซ้ำ”เมาขับต้องมีโทษ“จำคุก”และปรับด้วยเสมอ  ยกตัวอย่าง เมื่อกระทำผิดข้อหานี้ ต้องเป็นที่รู้กันว่าต้องโทษจำคุกแน่นอนตามกฎหมาย ไม่มีการใช้ดุลยพินิจ

(มาตรา 160 ตรี/1 ผู้ใดกระทำความผิดซ้ำอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่)

ทั้งนี้ ระบุ ความแน่นอนของกฎหมายสำหรับประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะยังมีช่องที่สังคมรู้สึกว่ามีโอกาสหลุด พร้อมวิเคราะห์ฐานรากปัญหาคือคนยังคิดว่าการดื่ม หากมีสติควบคุมตัวเองได้ก็ขับรถได้  ซึ่งคนที่ดื่มส่วนใหญ่ไม่มีใครคิดว่าตัวเองเมา

เมื่อต้นทางมีฐานคิดว่ายังไหว และประเมินว่าไม่น่าเจอด่าน หรือหากตรวจเจอก็สารภาพโทษจำคุก เหลือปรับ และรอลงอาญา นี่เป็นช่องโหว่ที่ต้องอุดให้ได้  ด้วยการทำให้เห็นว่า หาก“ผิดซ้ำ”จะมีโทษหนักตามกฎหมายใหม่คือ จำคุกและปรับด้วยเสมอ

พร้อมยอมรับหลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย สังคมไทยต้องการเคสตัวอย่าง เพื่อให้เห็นว่าศาลลงโทษหนักขึ้นจริง ต้องมีเคสให้เป็นที่รับรู้ว่าถึงการบังคับใช้  เพราะสังคมไทยจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จนกว่าจะเห็นว่าการลงโทษจริงๆ

ผู้จัดการศวปถ. ฉายภาพข้อหา“ผิดซ้ำ”เมาขับว่าในต่างประเทศว่า  ข้อหาดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปรามนักดื่ม เพราะมักไม่กลัว“ครั้งแรก” เนื่องจากเป็นโทษปรับ และรอลงอาญาไม่ได้ต่างจากประเทศไทยที่ถูกจับครั้งแรกแทบทุกราย หากสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจริงเพียงโทษปรับ พักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกก็เป็น“รอลงอาญา”

อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจคือในหลายประเทศจะไป“เพิ่มโทษ”หนักขึ้นกับผิดซ้ำ เช่น การให้ติดตั้ง“Alcohol interlock” ไว้ในรถตามระยะเวลาที่ลงโทษ โดยผู้ต้องหาเป็นผู้รับผิดชอบนำมาติดตั้งเอง ไม่เป็นภาระรัฐ  อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้ต้องมีการเป่าแอลกอฮอล์ก่อนสตาร์ทรถ หากพบมีแอลกอฮอล์จะสตาร์ทไม่ติด

“ในต่างประเทศนอกจากผิดซ้ำเมาขับมีบทลงโทษหนัก ยังมีมาตรการให้ติด Alcohol interlock ซึ่งมีข้อมูลยืนยันว่าได้ผลดี สามารถป้องกันการกระทำผิดซ้ำเมาขับได้ถึง 69 %  อุปกรณ์นี้มีใช้แล้วกว่า 10 ประเทศในยุโรค รวมทั้ง 34 รัฐในสหรัฐอเมริกา”

จากสถิติเมาขับเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียบนท้องถนน โดยเฉลี่ยมีจากผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนวันละ 40 ราย ในจำนวนนี้ 15-20 % เป็นผลพวงจากเมาขับ

ผู้จัดการ ศวปถ. เผยอีกประเด็นอุปสรรคการลงโทษ“ผิดซ้ำ”นั่นคือ ระบบตรวจสอบความผิดซ้ำ เพื่อให้ทันฟ้องใน 48 ชม. เนื่องจากเมาขับเป็นคดีในอำนาจศาลแขวง ตามขั้นตอนต้องส่งฟ้องภายใน 48 ชม. ดังนั้น เสนอว่าจำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบประวัติที่รวดเร็ว เพื่อให้พนักงานสอบสวนแนบประวัติกรณีผิดซ้ำให้อัยการเสนอศาลลงโทษหนักขึ้นตามกฎหมายใหม่ได้

เชื่อว่าไม่มีใครอยากเปลี่ยนแปลงหลังแลกมาด้วยความสูญเสีย  เมื่อปัจจัยบางอย่างเป็นสิ่งที่ป้องปรามได้ ความเด็ดขาดกับโทษ“ผิดซ้ำ”เมาขับ จึงถูกคาดหวังสร้างแรงกระเพื่อมให้นักดื่ม ตระหนักถึงผลพวงมากว่าเดิม.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]