ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธ.ค. 2564 ผลการลงประชามติในนิวแคลิโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียราว 1,000 กิโลเมตร ปรากฏว่า 96.49% ต้องการเป็นดินแดนอยู่ภายใต้อธิปไตยของฝรั่งเศสต่อไป

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์อยู่ที่เพียง 41.6% เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์คานัค ชนพื้นเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชมานาน และมีสัดส่วนราว 40% ของประชากรนิวแคลิโดเนีย ซึ่งมีอยู่ราว 270,000 คน บอยคอตการลงประชามติครั้งนี้

ชาวคานัคกลุ่มหนึ่งรวมตัวปิดถนน ในกรุงนูเมอา เพื่อประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศส

ก่อนการหยั่งเสียงครั้งนี้ นิวแคลิโดเนียจัดการลงประชามติเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วสองครั้ง เมื่อปี 2561 และ 2563 ส่วนการลงประชามติเมื่อปี 2564 ถือเป็นครั้งสุดท้าย ตามเงื่อนไขของ “ข้อตกลงนูเมอา” ฉบับปี 2541 ว่าด้วยการกระจายอำนาจ โดยการจัดลงประชามติ ซึ่งเป็นผลจากความเห็นชอบร่วมกัน ระหว่างชาวพื้นเมืองคานัค กับประชากรผิวขาวซึ่งยังคงต้องการอยู่กับฝรั่งเศส และทั้งสองฝ่ายสู้รบกันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 ราย

การที่นิวแคลิโดเนียยังคงสมัครใจขอเป็นดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสต่อไป ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองและการทูตที่สำคัญมากสำหรับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งกำลังผลักดันนโยบายอินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ รัฐบาลกลางในกรุงปารีสปกครองดินแดนนิวแคลิโดเนีย ตั้งแต่ปี 2396 จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับรัฐบาลนูเมอาปีละ 1,500 ล้านยูโร ( ราว 59,140 ล้านบาท ) คิดเป็นมากกว่า 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ของนิวแคลิโดเนีย และกองทัพฝรั่งเศสมีฐานทัพที่นี่ด้วย

สภาผู้แทนราษฎร ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 เกี่ยวกับการกำหนดสิทธิการเลือกตั้ง ของประชาชนในนิวแคลิโดเนีย

ทว่าเมื่อเวลาล่วงเลยไป นิวแคลิโดเนียกำลังเผชิญกับสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองครั้งใหม่ ซึ่งปะทุในเดือนพ.ค. จากความไม่พอใจของชาวคานัค ที่มีต่อมติของสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ซึ่งปรับเปลี่ยนกฎการลงคะแนนเสียงของชาวนิวแคลิโดเนีย ซึ่งชาวคานัคมองว่า เป็นการ “ลดทอนสิทธิ” ของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากจะมีการมอบสิทธิการเลือกตั้ง ให้กับผู้ที่มีสถานะพักอาศัยถาวร ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่มาครงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในนิวแคลิโดเนีย ส่งทั้งทหารและสารวัตรทหารลงพื้นที่เพิ่มเติมแล้วมากกว่า 1,000 นาย เพื่อปราบปรามการจลาจล ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ด้านนายกาเบรียล อัตตาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาขยายเคอร์ฟิว และมาตรการแบนติ๊กต็อกออกไปอีก แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยอัตตาลให้เหตุประกอบการแบนติ๊กต็อก ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์แห่งนี้ “เป็นเครื่องมือของผู้ก่อการจลาจล”

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลของลา เรอูว์นียง ในมหาสมุทรอินเดีย กัวเดอลุปและมาร์ตีนิกในทะเลแคริบเบียน และเฟรนช์เกียนา ที่อยู่ทางเหนือของอเมริกาใต้ ซึ่งดินแดนทั้ง 4 แห่ง ยังคงมีสถานะเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสเช่นกัน ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรียกร้องรัฐบาลกลางในกรุงปารีส ยกเลิกนโยบายเปลี่ยนกฎการลงคะแนนเสียงของชาวนิวแคลิโดเนีย เพื่อหลีกเลี่ยง “สงครามกลางเมือง”

แม้ไม่ได้มีสถานะรัฐเอกราช แต่นิวแคลิโดเนียอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยปัจจุบันอยู่ในอันดับ 3 และตอนนี้นิกเกิลถือเป็นหนึ่งในแร่ธาตุสำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการจากนานาประเทศ ซึ่งกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ( อีวี ) ขณะเดียวกัน นิวแคลิโดเนียตั้งอยู่ในบริเวณซึ่งถือเป็น หนึ่งในจุดสำคัญทั้งทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” และ “ภูมิยุทธศาสตร์” ที่เป็นสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงอิทธิพลระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ คือสหรัฐกับจีน อีกทั้งยังมีผู้เล่นรายสำคัญระดับภูมิภาคที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากอาจเป็น “ตัวแปรสำคัญ” นั่นคือ ออสเตรเลีย

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เยือนกรุงนูเมอา เมืองหลวงของนิวแคลิโดเนีย 23 พ.ค. 2567

ด้านมาครงเยือนกรุงนูเมอา เมืองหลวงของดินแดนนิวแคลิโดเนีย เพื่อพบหารือกับผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางธุรกิจในพื้นที่ เกี่ยวกับสถานการณ์จลาจลซึ่งยังคงยืดเยื้อ

ทหารฝรั่งเศสตรึงกำลัง ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนานาชาติมาเจนตา ในกรุงนูเมอา เมืองหลวงของนิวแคลิโดเนีย

ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวว่า ต้องการให้สถานการณ์ความไม่สงบของนิวแคลิโดเนีย กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด แต่กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เดินทางมาจากกรุงปารีส จะยังคงประจำการอยู่ที่นี่ “นานอีกระยะหนึ่ง” ขณะที่นายหลุยส์ เลอ ฟรองซ์ ข้าหลวงฝรั่งเศสประจำนิวแคลิโดเนีย กล่าวว่า สถานการณ์ภายในนิวแคลิโดเนียมีความสงบมากขึ้น หลังฝรั่งเศสเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจากส่วนกลาง เข้ามาปราบปรามการประท้วงในพื้นที่

อนึ่ง การเยือนนิวแคลิโดเนียของมาครงครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 โดยการเยือนในเวลานั้นเผชิญกับการบอยคอตอย่างหนักจากตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์คานัค บ่งชี้ความสัมพันธ์ที่ยังคง “ตึงเครียด ยุ่งยาก และซับซ้อน” ระหว่างรัฐบาลกลางในกรุงปารีส กับบรรดาดินแดนโพ้นทะเลซึ่งยังคงอยู่ภายใต้อาณัติ.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP