2005 onward

More system oriented learning

แพลตฟอร์มที่กำเนิดจาก NEBT และ สวรส. เป็นโอกาสให้ผมได้สืบสานการพัฒนาความรู้ทักษะการวิจัยกว้างขวางยิ่งขึ้นในด้านการเงินการคลังสุขภาพ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินตลอดจนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ด้านการอภิบาลระบบสุขภาพด้วยความกรุณาของ อ.หมอสัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผอ.สวปก. และคุณหมอพงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สวรส. โดยลำดับ นอกจากนั้น ในรั้วโรงเรียนแพทย์ ผมได้สัมผัสงานวิจัยของครูแพทย์ทางคลินิกที่มีนัยต่อนโยบายสุขภาพเด่นชัดมากขึ้นในสมัยของคณบดี นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา

ในบทบาทการสอน ตลอดเวลาของการดำเนินชีวิตและงานในสามยุคสมัย ผมได้ตกผลึกความคิดเพิ่มขึ้นโดยลำดับ และเห็นว่าการสร้างคนสำคัญมากกว่าที่เคยตระหนัก จึงหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับบทบาทครูแพทย์ ในระยะนี้แม้ว่า ผมยังคงเดินตามแนว ปุจฉาวิสัชนา แต่ได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับ “reflection notes” ของศิษย์ เพราะตระหนักมากขึ้นว่า สิ่งนี้เปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนบทบาทครูแพทย์ ของผม สะท้อนการพัฒนาตนเองของศิษย์อย่างมีความหมายมากกว่าการวัดผลอื่นใด

“ผมได้รู้จัก เพื่อนเลว แสนน่ารัก จากการทำงานกลุ่ม”

“หนูไม่เคยพบการเรียนรู้ แบบนี้ (ได้คำถามแทนคำตอบจากครู) ที่ทำให้หนูต้องคิดต่อ หาคำตอบด้วยตนเอง ใหม่ๆ หนูรู้สึกอึดอัด ตอนนี้หนูรู้แล้วว่า คำถามสำคัญกว่าคำตอบ”

ในด้านเนื้อหาวิชา ประสบการณ์ที่สะสมมา และการได้มีโอกาสอ่านหนังสือมากขึ้น ช่วยให้ผมมีชุดตัวอย่างใช้เสริมการเรียนรู้ร่วมกับศิษย์ ตลอดจนใช้ประกอบการตั้งคำถามเพื่อแสวงหาความรู้ยิ่งๆ ขึ้น ในการฟังบรรยายจากคณบดีสองคนจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อันเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงซื้อชุดความรู้เกี่ยวกับแนวทางและเครื่องมือแพทยศาสตร์ศึกษาแบบใหม่จากฮาร์วาร์ด เท่าที่ผมจับความได้ ผู้บรรยายพยายามเสนอว่าชุดความรู้ใหม่นี้ดีกว่าเดิมอย่างไร เช่น

นักเรียนแต่ละคนเข้ามาเรียนพร้อมกันแต่ไม่จำเป็นต้องจบพร้อมกัน เพราะแต่ละคนมีเอกลักษณ์การเรียนรู้ในแบบของตน (uniqueness)

นักเรียนชั้นปริคลินิก เรียนรู้สรีระวิทยาของไตโดยเริ่มต้นการเรียนจากคนไข้ไตวายในหอผู้ป่วยใน แล้วตั้งคำถามเพื่อย้อนกลับมาหาคำตอบตามหลักการทางสรีระวิทยา ทำให้ความรู้ทฤษฎีเชื่อมโยงกับโจทย์ทางคลินิกได้แนบแน่นกว่าการเรียนทีละส่วนแยกกัน

นักเรียนทำข้อสอบ 9 ข้อที่ครูคิดขึ้น ส่วนข้อสิบให้นักเรียนคิดเองตอบเอง เขาพบว่าการวัดผลแบบนี้ ช่วยให้นักเรียนตระหนักว่า การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด การวัดผลเป็นเพียงเครื่องมือช่วยให้นักเรียนรู้ว่ายังไม่รู้อะไร

จบการบรรยาย ผมจึงยกมือถามว่า…

“ผมชื่นชม ครูแพทย์และศิษย์จากฮาร์วาร์ด ครูแพทย์ท่านหนึ่งคือ พอล ฟาร์มเมอร์ ซึ่งผมได้อ่านเรื่องราวของเขาจากหนังสือ “ล่าฝันโพ้นภูผา” ผู้เป็นแบบอย่างของการอุทิศตนเพื่อคนยากไร้….. สามสิบปีก่อน ศิษย์จากฮาร์วาร์ดตอบคำถามคณบดีรามาฯ ผู้ถามว่า คุณได้อะไรจากฮาร์วาร์ด คำตอบคือ “รู้จักถามคำถามที่เหมาะสม”…………ผมจึงอยากทราบว่า หลักสูตรใหม่ที่ท่านบรรยายมานั้น จะนำไปสู่คำตอบแบบใด ถ้าศิษย์ในวันนี้ของท่านได้ยินคำถามเดิม”

หลักสูตรคือ ระบบสร้างคน ฉันใด หลักสูตรใหม่เกิดได้ก็ด้วยคน สร้างระบบ (หลักสูตร) ฉันนั้น

แต่คนชนิดใดเล่าที่สามารถสร้างระบบได้ ผมเชื่อว่า เป็นคนที่ตระหนักความสำคัญและเข้าใจระบบนั่นเอง ด้วยความตระหนักและเข้าใจเช่นนี้ที่ผมพอมีอยู่บ้างและเพิ่มพูนขึ้นหลังผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบฤดู ผมจึงพยายามสร้างชุดประสบการณ์เรียนรู้แก่ศิษย์และตนเอง หลักสูตรปีสาม เป็นโอกาสให้ผมเปิดหูเปิดตาตัวเอง และศิษย์ด้วยการเปลี่ยนสถานที่ฝึกภาคสนามอยู่เนืองๆ

ที่ขอนแก่น ผมได้ตระหนักว่า Trauma care ที่นั่นก้าวหน้าจนเป็นแบบอย่างของประเทศและนานาชาติจนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกและไจก้า เพราะองค์ประกอบหลายประการได้แก่ ผู้นำ (ผู้มีแรงจูงใจภายในแรงกล้า) ทุนสนับสนุนต่อเนื่อง ระบบสารสนเทศซึ่งเปรียบดังเหมืองแร่ที่มีทีมขุดไปใช้ประโยชน์ connection กับแหล่งทุนตั้งแต่วันเริ่มต้น นำไปสู่การขยายเครือข่ายต่อยอดทุนทางการเงินและทุนทางปัญญา(นักวิจัยจากในและต่างประเทศ ทำให้เกิดผลงานตีพิมพ์หนุนเนื่องทุนทางสังคม และทุนทางปัญญา)

ที่ละแม (ชุมพร) ผมได้ตระหนักว่า HA เป็นแนวคิดและเครื่องมือสร้างแรงบันดาลใจและชุดประสบการณ์ให้ศิษย์รามาฯ สามารถนำไปใช้เมื่อสำเร็จปริญญา จนทำให้ รพ.ละแม ได้รับ accredited เป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้ง และสืบเนื่องรอบสองเมื่อ 2019

ที่บ้านคา (ราชบุรี) ผมได้ตระหนักว่า พยาบาลก็เป็น ผอ.รพช. ผู้สามารถเชื่อมโยงกับผู้นำชุมชน คหบดีเพื่อระดมทุนพัฒนาโครงสร้างบริการผู้สูงอายุในพื้นที่ยากจน ติดพรมแดนเมียนมา มีภูเขาและป่าไม้เป็นทุนธรรมชาติดึงดูดทุนทางการเงินและทุนสังคม

วันที่ผมไปสำรวจพื้นที่ ผมได้เห็นพิมพ์เขียวโครงสร้างบริการผู้สูงอายุ ผมได้สังเกตว่ามีคหบดีรอพบท่าน ผอ. และได้ทราบว่า แม้ฐานะการเงินของ รพ.ถูกจัดอันดับความเสี่ยงสูงสุด (ระดับ 7) ของจังหวัด แต่ ผอ.ก็มีวิธีบริหารความเสี่ยงโดยประวิงการจ่ายหนี้ค่ายา ค่าสาธารณูปโภคเพื่อให้มีเงินจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร จัดหาเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

Realization of strong self identity

ฮิตเลอร์ สังหารหมู่ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ก็เพราะยึดมั่นถือมั่นว่า ชาวเยอรมันเชื้อสายอารยันเท่านั้นที่คู่ควรบนแผ่นดินเยอรมนี

ชาวคริสต์และชาวมุสลิมทำสงครามครูเสดยาวนานนับศตวรรษ ก็เพราะยึดมั่นถือมั่นว่า ศาสนาของตนยิ่งใหญ่กว่าของฝ่ายอื่น

ทั้งสองกรณีคือตัวอย่างสุดโต่งของการยึดมั่นถือมั่นใน มายาคติ จากการปรุงแต่งจิตของตนเอง ครั้นย้อนมองตัวเอง ผมตระหนักเรื่อยมาว่า ผมก็ตกอยู่ในบ่วงกรรมแห่งมายาคตินั้น ผมเคยเล่าแบบอย่างพฤติกรรมของตนเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ศิษย์พึงหลีกเลี่ยง

“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมวิศวกรจราจรจึงไม่เข้าใจความหมายของ “black spots” หรือ “hazardous locations” ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยมากมายยืนยันว่ามันมีอยู่จริงและสามารถแก้ไขได้”….เป็นคำกล่าวของผมต่อที่ประชุมผู้แทนหน่วยงานด้านถนนปลอดภัยสมัยที่ผมเป็นประธานยกร่างแผนยุทธศาสตร์ป้องกันอุบัติเหตุจราจร ของสำนักงานจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.)

ทำไมผมจึงมีพฤติกรรมดูหมิ่นผู้อื่น ทั้งๆ ที่ ตนเองก็เคยเจ็บปวด เพราะคำพูดของผู้อื่น เช่น ครูแพทย์ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน “คุณต้องรู้ ไม่ใช่คิดว่า อย่างนู้นอย่างนี้”….เป็นคำพูดของครูแพทย์ เมื่อผมฝึกคลำตับคนไข้ แล้วครูถามว่า “คนไข้เป็นอะไร”

แพทย์อาวุโส สมัยเป็นแพทย์ฝึกหัด “ออร์เดอร์ของยูไม่เข้าท่า….กลับไปอ่านตำราซะใหม่” พร้อมฉีกใบออร์เดอร์คนไข้ในที่ผมได้รับมอบหมายให้ราวน์ก่อนแพทย์อาวุโสตามมาตรวจ

Seeking for inner engineering skills

ผมมีสมมุติฐานว่า การคิดด้วยเหตุผลในระดับจิตสำนึก ผ่านตำราก็ดี ประสบการณ์ตรงก็ดี ฟังธรรมเทศนาก็ดี สนทนาธรรมก็ดี น่าจะไม่เพียงพอต่อการดัดแปลงตนเอง ผมต้องการเครื่องมือใหม่ เพื่อขัดเกลาจิตใจที่จะให้ผลแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาตลอดสี่ทศวรรษของชีวิตและงาน นี่คือ พันธกิจหลังเกษียณของผม เพื่อที่ผมจะกำหนดความสัมพันธ์กับผู้อื่น กับสิ่งแวดล้อม และกับตนเองได้เหมาะสมกว่าอดีต

Young waves are bigger than old ones

ความเชื่อว่า “คลื่นลูกหลังใหญ่และแรงกว่าคลื่นลูกก่อน” นับวันหนักแน่นมากขึ้นตามอายุงาน ตั้งแต่เป็นอาจารย์มาจนวันนี้เกือบสี่สิบปี ผมได้สัมผัสและจดจำ ตัวอย่างครูแพทย์รุ่นหลังต่อไปนี้

ผมไม่เคยมีลูกศิษย์เดินตาม เหมือนอาจารย์รุ่นหลัง เช่น อ.บวรศม ลีละพันธ์

ผลงานวิจัยสำรวจสถานะสุขภาพประชาชนไทยที่ อ.วิชัย เอกพลากร ได้ยกระดับให้เป็นโมเดลการวิจัยทางระบาดวิทยาระดับสากลและเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวท่าน ตลอดจนเป็นมรดกทางปัญญาให้คนรุ่นหลัง คือแบบอย่างครูแพทย์ที่ควรค่าแก่การประดับไว้ในหอเกียรติยศของรามาธิบดีเป็นอย่างน้อย

ในวัยเดียวกัน อาจารย์รุ่นหลังหลายท่านสอนบรรยายได้สนุกสนานตื่นตาตื่นใจ แสดงถึงความลุ่มลึกทางวิชาการและทักษะการสื่อสารมากกว่าที่ผมเคยทำ

ล่าสุด ผลงานของกลุ่ม Radiators อันเกิดจากแรงบันดาลใจและการชี้แนะอย่างแยบคายของ อ.ภาณุวิช แก้วกำจรชัย  คือภาพสะท้อน แบบอย่างครูแพทย์มือโปร ที่ผมใฝ่ฝันและพยายามจะเป็น

เมื่อเห็นคลื่นลูกหลังเช่นนั้น ผมจึงวางใจได้สนิทว่า ถึงเวลาที่ผมจะได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้เฝ้าติดตาม ชื่นชมผลงานคนรุ่นหลังต่อไปอีกนานเท่านาน

สุดท้ายนี้ การเติบโตทางความคิด ความก้าวหน้าในการงานของผม เป็นไปได้ก็ด้วยความเกื้อหนุนจาก คุณสุภาษร สุริยะวงศ์ไพศาล ภรรยาคู่ชีวิต และลูกชายทั้งสอง ความเมตตากรุณาจาก อาเด อามา และญาติผู้ใหญ่ตลอดจนพี่น้องในครอบครัวสุริยะวงศ์ไพศาล กัลยาณมิตรทั้งหลายภายในและภายนอก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี.

“36 ปี” ที่มาที่ไป ของครูแพทย์คนหนึ่ง (1)

“36 ปี” ที่มาที่ไปของครูแพทย์ คนหนึ่ง (2)

“36 ปี” ที่มาที่ไปของครูแพทย์ คนหนึ่ง (3)

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด