แต่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำทั้งสองเลือกที่จะใช้ภาษาที่นุ่มนวล โดยประธานาธิบดีไบเดนบอกว่า สหรัฐไม่ได้ต้องการที่จะสร้างสงครามเย็นครั้งใหม่ หรือทำให้โลกแตกแยกเป็นกลุ่มก้อน ส่วนประธานาธิบดีสีบอกว่า จีนไม่เคยและจะไม่เคยรุกรานหรือรังแก หรือเพื่อแสวงหาอำนาจ ต่อมายังออกมายืนยัน ที่จะรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ

แต่นัยยะของเรื่องนี้ยังไม่เคยเปลี่ยน เพราะจีนยังคงเสริมสร้างแสนยานุภาพ เพื่อกดดันให้เห็นถึงการแสดงอาณาเขตทางทะเล เช่นทะเลจีนใต้ และล่าสุดยังแสดงแสนยานุภาพ ด้วยการส่งเครื่องบินขับไล่เข้าไปในเขตน่านฟ้าของไต้หวัน แม้สหรัฐและพันธมิตรยังออกมาประกาศสนับสนุนไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าคือส่วนหนึ่งของดินแดนตนเอง ขณะที่ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ผู้นำไต้หวัน ย้ำว่าไม่ต้องการการเผชิญหน้าทางทหาร

นโยบายของสหภาพยุโรปเน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องเจรจากับจีน เพื่อสนับสนุนให้จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะเดียวกัน ก็เสนอให้มีกำลังทางทะเล และขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงกับพันธมิตรในภูมิภาค เพราะจีนเองก็เสริมกำลังทหารและแสดงพลัง จนเพิ่มความตึงเครียดในจุดภูมิภาคตึงเครียด อย่างทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และช่องแคบไต้หวัน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงยุโรป

แต่สำหรับสหราชอาณาจักรที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป ได้ส่งเรือฟรีเกต เอชเอ็มเอส ริชมอนด์ แล่นข้ามช่องแคบไต้หวันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผ่านไปยังเวียดนาม ทำให้จีนไม่พอใจ แม้ก่อนนั้น สหรัฐเคยแล่นผ่านจนเกือบจะเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะไต้หวันคือพันธมิตรของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม อังกฤษอ้างว่าเรือริชมอนด์ถูกส่งมายังทะเลจีนตะวันออก เพื่อร่วมภารกิจการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติต่อเกาหลีเหนือ แต่ก่อนนั้น สหราชอาณาจักรเคยส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ เข้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเข้าร่วมกิจกรรมกับต่าง ๆ กับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งสหราชอาณาจักรได้กลายมาเป็นประเทศคู่เจรจากับอาเซียนแล้ว ซึ่งมีหลายประเด็นในการทำงานร่วมมือกับอาเซียน เช่น ความมั่นคงทางทะเล อาชญากรรมข้ามชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการค้า การกระชับความร่วมมือต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังยุคโควิด-19 การเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง รวมถึงปัญหาโลกร้อน

แต่การแสดงแสนยานุภาพทางทหาร หากยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียด ไม่สมควรด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะกับอาเซียนที่ไทยเราเป็นสมาชิกอยู่ด้วย และข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หวังว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนต.ค.นี้ ปัญหานี้ควรที่จะหยิบยกขึ้นมา หารือในที่ประชุมด้วย

ขณะที่เมียนมาก็ได้รับการแจ้งเตือน จากนายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียว่า อาจไม่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนต.ค.นี้ หากยังไม่ยอมให้ความร่วมมือกับทูตพิเศษของอาเซียน ในการแก้ปัญหาวิกฤติในประเทศเมียนมา อันเนื่องจากการรัฐประหาร จนนำมาซึ่งการปกครองของกองทัพเมียนมา

10 ชาติสมาชิกอาเซียนได้แต่งตั้งให้นายอีริวาน ยูซอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศบรูไน ทำหน้าที่ทูตพิเศษ และผู้เจรจาไกล่เกลี่ยของอาเซียน หลังกองทัพเมียนมา นำโดยพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย เข้ายึดอำนาจการปกครอง จากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี

ส่วนเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเตือนว่า โอกาสที่จะป้องกันไม่ให้กองทัพขยายอำนาจรุกล้ำหน้าที่ของตัวเอง อาจลดลงมาได้ ซึ่งเขาก็เห็นด้วยกับการแต่งตั้งทูตพิเศษอาเซียน แต่ความคืบหน้านั้นล่าช้ามาก ดังนั้น อาเซียนต้องร่วมมือเป็นปึกแผ่น และใช้การปฏิบัติของนานาชาติ ป้องกันวิกฤติไม่ให้รุนแรงลุกลามไปกว่านี้ จนกลายเป็นหายนะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP