กลายเป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันของโลกที่หลายคนให้ความสนใจและพากันอยากรู้ที่มาที่ไปของ วันดมยาสลบโลก (World Anaesthesia Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงความสำเร็จของวิลเลียม มอร์ตัน แพทย์ชาวอเมริกัน สาธิตการใช้ยาสลบ อีเทอร์ (Ether) ในการผ่าตัดต่อหน้าสาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

โดย วิลเลียม มอร์ตัน (William Thomas Green Morton) เป็นแพทย์ชาวอเมริกัน ได้สาธิตการใช้ยาสลบอีเทอร์ (Ether) ในการผ่าตัดต่อหน้าสาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2389 เขาทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยให้คนไข้สูดดมก๊าซอีเทอร์ก่อนทำการผ่าตัดเนื้องอกที่คอ ทำให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บปวดแม้แต่น้อย ความสำเร็จในการผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการศัลยกรรม นับเป็นการปฏิวัติวงการศัลยกรรมเลยทีเดียว ทำให้การผ่าตัดวิธีใหม่ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น แม้ว่ามอร์ตันจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนแรกที่ใช้ยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัดก็ตาม แต่การทดลองใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดมีมาก่อนหน้าที่มอร์ตันจะทำการทดลองแล้ว ศัลยแพทย์ครอฟอร์ด ลอง (Crawford Williamson Long) ได้ทำการผ่าตัดโดยใช้อีเทอร์เป็นยาระงับความรู้สึกมาตั้งแต่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2385 (ค.ศ.1842) แต่ไม่ได้เผยแพร่ผลการทดลอง กว่าจะมีการตีพิมพ์เผยแพร่ก็ล่วงไปถึง พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868)

สำหรับในประเทศไทย มีหลักฐานว่าหมอมิชชันนารีที่เข้ามาในสยามเมื่อครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลด์ เฮ้าส์ ( Rev. Samuel Reynolds House, M.D.) หรือที่คนไทยในสมัยนั้นเรียกกันว่า “หมอเหา” ได้ทดลองใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดเอาไม้ไผ่ที่แทงเข้าไปในตัวหญิงชราผู้หนึ่ง เมื่อราว พ.ศ. 2390 (ค.ศ. 1847) หลังจากที่อ่านพบรายงานการใช้อีเทอร์ในการผ่าตัดจึงเกิดความสนใจที่จะนำมาทดลองใช้บ้าง เพื่อลดความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด บางคนให้ความเห็นว่าถ้าเป็นจริงเช่นว่า นี่อาจเป็นการใช้อีเทอร์เป็นยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในเอเชีย

ปัจจุบัน วิสัญญีแพทย์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “หมอดมยา” มีหน้าที่หลักคือ ให้การระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยในระหว่างการผ่าตัด คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเมื่อเข้ามาในห้องผ่าตัดแล้วจะได้รับการ “ดมยา” จนหลับใหล ไม่รู้สึกตัว อันที่จริงการระงับความเจ็บปวดอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบหนึ่งให้ยาสลบทั้งตัว คือทำให้หมดสติ และอีกแบบหนึ่งให้ยาชาเฉพาะที่ทำให้บริเวณที่ทำผ่าตัดไม่รู้สึกเจ็บปวด โดยผู้ป่วยไม่หมดสติ ซึ่งวิสัญญีแพทย์ต้องเข้าใจว่า แต่ละโรคทำให้เกิดความผิดปกติอะไรบ้าง ต้องผ่าตัดทำอะไรใช้เวลานานเพียงใด จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะสามารถช่วยให้ความปลอดภัย ให้เกิดอันตรายน้อยลง หรือช่วยบรรเทาทุกขเวทนาได้นั่นเอง