ยุคดิจิทัล” เช่นในปัจจุบัน…สร้างความสะดวกสบายให้ผู้คนได้มากมาย แต่ขณะเดียวกัน…ก็อาจมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล “สร้างปัญหา“ ให้ผู้อื่น ทั้งโดย “ไม่ตั้งใจ“ และตั้งใจ…หรือเป็น “มิจฉาชีพยุคดิจิทัล“ ซึ่งก็ “ต้องเท่าทัน!!“… ทั้งนี้ แม้ปัญหานี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องแก้ไข-ป้องกัน และก็เป็นหนึ่งใน “ปัญหาท้าทายฝีมือรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” อย่างไรก็ดี ประชาชนเองก็ต้องยึดหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน“ ด้วย ซึ่ง “แนวทางสำคัญ” ที่ไม่ควรจะมองข้ามคือการมี “ดีคิว (DQ)“…

มี DQ – Digital Intelligence Quotient
แปลเป็นไทย ความฉลาดทางดิจิทัล“
“ยุคดิจิทัล“ เช่นในปัจจุบัน จำเป็น!!“

ดังที่ทราบ ๆ กันว่า “เฟคนิวส์” ที่เชื่อแล้วอาจสร้างความเสียหาย และ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่เชื่อแล้วเสียหายแน่ ๆ ยุคนี้ “ยิ่งน่ากลัว” จากการใช้ดิจิทัลแบบใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งในแง่การ “ป้องกันตนเอง” นั้น ก็ควรมีการติดเขี้ยวเล็บให้ตัวเองโดย “เพิ่มพูนทักษะความฉลาดทางดิจิทัล“เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อง่าย ๆ หรือไม่ทำผู้อื่นเสียหาย โดยเรื่องนี้ทาง มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็มีข้อมูลแนะนำไว้

ทั้งนี้ จากชุดข้อมูลโดย สสย. และ สสส. ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ได้ระบุไว้ว่า… ความฉลาดทางดิจิทัล หรือDigital Intelligence Quotientหรือ“DQ“หมายถึง กลุ่มความสามารถทางสังคม อารมณ์ และการรับรู้ ที่จะทำให้สามารถเผชิญความท้าทายของชีวิตดิจิทัล และสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตดิจิทัลได้ โดยที่ความฉลาดทางดิจิทัลนี้จะครอบ คลุมทั้งความรู้ ทัศนคติ ค่านิยม ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกของโลกยุคออนไลน์ หรืออีกนัยก็คือ…

“ทักษะการใช้สื่อเข้าสังคมออนไลน์“

ในชุดข้อมูลโดยแหล่งดังกล่าวข้างต้นได้ขยายความไว้ว่า… แม้ปัจจุบันทักษะ ความฉลาดทางปัญญา หรือ IQ และทักษะ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ จะยังคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่กลับ ไม่เพียงพอต่อสิ่งที่ผู้คนยุคนี้ต้องเผชิญในโลกดิจิทัล ดังนั้น “ความฉลาดทางดิจิทัล” หรือ “DQ” จึงเป็น ทักษะสำคัญที่ต้องมีเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม-ปลอดภัย โดยปัจจุบันแม้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ก็แฝงไว้ด้วยอันตราย ทั้งอันตรายต่อสุขภาพ หรือการเสพติดเทคโนโลยี หรือแม้แต่ “อันตรายจากมิจฉาชีพออนไลน์“ รวมถึง “ภัยคุกคามทางไซเบอร์“ที่…

พลเมืองโลกยุคใหม่นี้ ต้องรู้เท่าทัน“
พัฒนาทักษะให้ เป็นพลเมืองดิจิทัล“

สำหรับการเพิ่มพูน “ความฉลาดทางดิจิทัล” การที่จะพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็น “พลเมืองดิจิทัล” หรือ “Digital Citizenship” ได้นั้น ในชุดข้อมูลโดย สสย. และ สสส. แนะนำไว้ว่า… จำเป็นต้องมี “ทักษะสำคัญที่จำเป็น 8 ด้าน“ดังต่อไปนี้คือ… 1.ทักษะการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง โดยอัตลักษณ์ที่ดีคือการที่ผู้ใช้สื่อดิจิทัลสร้างภาพลักษณ์ในโลกออนไลน์ของตนในแง่บวก ทั้งความคิด ความรู้สึก และการกระทำ โดย มีวิจารณญาณในการรับส่งข่าวสารและแสดงความคิดเห็น มีความเห็นอกเห็นใจผู้ร่วมใช้งานในสังคมออนไลน์ มีอิสระในการแสดงออก รับผิดชอบทุกการกระทำ และต้องดูแลตัวเองได้ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้ห่างไกลความเสี่ยงของเทคโนโลยี รวมถึงต้องรู้จักปกป้องข้อมูลส่วนตัวจากผู้ไม่หวังดีในโลกไซเบอร์

2.ทักษะการคิดวิเคราะห์โดยมีวิจารณญาณที่ดี โดยหมายถึงการมีความสามารถในการวิเคราะห์ระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด วิเคราะห์ได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์หรือเข้าข่ายอันตราย รวมไปถึงวิเคราะห์ประเมินข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้ 3.ทักษะการรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัล เพราะการรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลมีความสำคัญ ซึ่งถ้าขาดทักษะด้านนี้ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงทำให้ข้อมูลส่วนตัวเกิดการรั่วไหล หรือถูกโจรกรรมได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้มีการทำธุรกรรมทางออนไลน์มากขึ้น หากขาดทักษะในเรื่องนี้ก็อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ได้

4.ทักษะการรักษาข้อมูลส่วนตัว ด้วยการ รู้จักปกป้องความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ เช่น ทักษะการแชร์ข้อมูลอย่างปลอดภัย ทั้งของตนเองและผู้อื่น การรู้จักปฏิเสธแอปพลิเคชันที่พยายามจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว 5.ทักษะการจัดสรรเวลาใช้งานหน้าจอ ด้วยการ รู้จักบริหารเวลา รวมถึงควบคุมการใช้งาน เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และโลกภายนอก โดยต้องรู้เท่าทันและตระหนักถึงอันตรายจากการใช้เวลาในโลกดิจิทัล-หน้าจอออนไลน์นานมากเกินไป

6.ทักษะการบริหารจัดการข้อมูลบนโลกออนไลน์ หรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานจะมีการทิ้งไว้เสมอบนโลกออนไลน์ หรือ Digital Footprints จึงต้อง มีความรู้ความเข้าใจก่อนที่จะโพสต์ข้อความ แชร์ข้อมูล หรือลงทะเบียนออนไลน์ ที่จะต้องทำอย่างรอบคอบพิจารณาโดยถี่ถ้วน 7.ทักษะการรับมือการกลั่นแกล้งบนไซเบอร์ โดยต้องมีทักษะการตอบโต้ผู้กลั่นแกล้ง หรือรู้วิธีปิดกั้นการสื่อสารกับผู้กลั่นแกล้ง หรือกรณีที่ถ้าผู้กลั่นแกล้งยังไม่หยุด ก็ต้องรู้จักเครื่องมือในการบันทึกหลักฐานการกลั่นแกล้งไว้ และ 8.ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม ด้วยการ คิดก่อนโพสต์ ไม่โพสต์ในขณะที่กำลังโกรธ

เหล่านี้คือ DQ“ที่ มี 8 ด้านที่จำเป็น“
กับ พลเมืองดิจิทัลที่ฉลาดทางดิจิทัล“
เพื่อจะ ไม่ทำร้ายใคร-ไม่เสร็จพี่มิจฯ“.