@@@@ รัฐนิวเซาท์เวลส์เป็นรัฐแรกที่มีประชากรผู้ใหญ่ที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนแล้วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564 มุขมนตรี นายโดมินิก เพอร์รอตเตต์ ได้ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญบน Facebook โดยกล่าวว่าข้อจำกัดต่างๆ จะผ่อนคลายมากขึ้นในวันจันทร์ นายเพอร์รอตเตต์ กล่าวว่าเป็นการรอเป็นเวลานาน แต่รู้สึกดีที่ได้แจ้งข่าวนี้ นอกจากนี้ เขายังขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และผู้อยู่อาศัยในรัฐนิวเซาท์เวลส์ “ขอบคุณมากสำหรับพยาบาลและเจ้าหน้าที่ศูนย์ฉีดวัคซีนของ NSW Health, GPs, เภสัชกร และทุกคนในรัฐของเราที่ถลกแขนเสื้อร่วมมือกันฉีดวัคซีนทำให้เรามาถึงจุดนี้” เขากล่าว ภายใต้แผนงานด้านโควิด-19 ของรัฐบาล จะมีการอนุญาตให้มีเสรีภาพมากขึ้นในวันจันทร์นี้ หลังจากที่รัฐบรรลุเป้าหมาย ตอนนี้หมายความว่าตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม กฎใช้บังคับ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะถูกผ่อนลง ซึ่งทำให้มีเสรีภาพรวมถึงผู้มาเยือนบ้านคุณจะเพิ่มจำนวนได้มากขึ้นถึง 20 คน ผู้คนมารวมตัวกันที่กลางแจ้งได้มากขึ้นรวมทั้งกิจกรรมการแจ้งสามารถออกตั๋วเพิ่มมากขึ้น นายเพอร์รอตเตต์ แนะนำให้เข้าไปที่ NSW Health and Service NSW site เพื่อให้ทันกับข้อมูลที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง update ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป หน้ากากอนามัยจะไม่ต้องสวมในสำนักงานอีกต่อไป กิจกรรมกีฬาต่างๆของชุมชนจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และไนท์คลับก็เปิดได้อีกครั้งเช่นกัน ยกเว้นผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ

นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน แสดงความยินดีกับนายโดมินิก เพอร์รอตเตต์ มุขมนตรีทางโซเชียลมีเดีย โดยเขียนว่า “ทำได้ดีมาก NSW” เพื่อตอบสนองต่อการประกาศดังกล่าว “ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่! ไปกันต่อเถอะ ช่วยให้คุณ ครอบครัว และชุมชนของคุณปลอดภัยด้วยการฉีดวัคซีนวันนี้” นายมอร์ริสันกล่าว

รัฐนิวเซาท์เวลส์ยอดผู้ติดเชื้อลดลงไปเรื่อยๆ มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในพื้นที่ 319 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ภายใน 24 ชั่วโมงถึง 20.00 น. เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นชายในวัย 60 ปีจากทางตะวันตกของซิดนีย์ ซึ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 หนึ่งโดส เสียชีวิตที่โรงพยาบาล Royal Prince Alfred และผู้หญิงที่ไม่ได้รับวัคซีนในวัย 90 ปีจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของซิดนีย์ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเซนต์จอร์จ NSW Health รายงานปัจจุบันมีผู้ป่วย 652 รายที่ติดเชื้อไวรัสในโรงพยาบาล โดย 138 รายยังอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จำนวน 460 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อในรัฐวิคตอเรียยังคงพุ่งทะยาน รายงานพบผู้ป่วย COVID รายใหม่ 1,993 รายและเสียชีวิต 7 ราย ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากผลการทดสอบ 79,214 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ active อยู่ทั้งหมดในรัฐอยู่ที่ 21,647 ราย ผู้ที่เสียชีวิตเป็นชายในวัย 80 ปีและหญิงในวัย 60 ปี จาก Darebin ผู้หญิงในวัย 70 ปีจาก Whittlesea ชายในวัย 80 ปีจาก Moonee Valley ผู้หญิงและวัย 60 ปีจาก Casey และชายวัย 50 ปีจาก ฮูม Jeroen Weimar ผู้บัญชาการโรคโควิด-19 COVID-19 commander กล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจมาก จากการที่หนึ่งในผู้เสียชีวิต มีเด็กสาวอายุ 15 ปี ที่มีอาการหลายอย่างแทรกซ้อน รวมถึง COVID เขากล่าวว่ามีคนที่ติดเชื้อโควิด ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยในโรงพยาบาล 798 รายที่ติดเชื้อ COVID-19 โดย 163 ราย ต้องอยู่ใน ICU และ 106 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งๆที่เมื่อวันศุกร์ แผนกรายงานว่ามีผู้ป่วยในโรงพยาบาล 695 ราย ผู้ป่วยหนัก 157 ราย และผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ 101 ราย นายไวมาร์กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในวันนี้ มากกว่าเมื่อวานประมาณ 100 ราย ผู้ป่วยในโรงพยาบาลร้อยละ 89.2 ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน เขาเตือนว่าจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

รัฐ NSW เป็นรัฐแรกที่มีประชากรผู้ใหญ่ที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนแล้วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ มุขมนตรี นายโดมินิก เพอร์รอตเตต์ แสดงความยินดี เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม กฎใช้บังคับ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะถูกผ่อนลง

@@@@ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยได้ออกประกาศเตือนเรื่องวีซ่าการเกษตร (Agriculture Visa) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการออกวีซ่าทางการเกษตรของออสเตรเลียให้แก่ผู้ใด เนื่องจาก กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ อย่าหลงเชื่อการโฆษณาจากองค์กรหรือบุคคลใดที่อ้างว่าสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่านี้ได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขอให้ผู้หางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะงาน และสมัครงานกับบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ขอให้แรงงานไทยระมัดระวังอย่าโอนเงินให้ผู้ใดโดยยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล และหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นเงินสด ควรชำระผ่านธนาคารหรือแอปพลิเคชันธนาคารเพื่อเข้าบัญชีผู้รับอนุญาตจัดหางานโดยตรง ที่สำคัญแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางานก่อนเดินทางทุกครั้ง และต้องเดินทางออกไปทำงานโดยผ่านด่านตรวจคนหางานที่ประจำอยู่ ณ ท่าอากาศยาน ข้อมูลจากกรมการจัดหางานระบุว่า ประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สวีเดน และออสเตรเลียตามลำดับ ผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

@@@@ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔  เวลา ๑๐.๐๐ น. นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้วางพวงมาลา กล่าวน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาประเทศตลอดจนพระปรีชาสามารถและพระเกียรติคุณซึ่งได้รับการสรรเสริญและยอมรับอย่างกว้างขวางในเวทีระหว่างประเทศ และยืนสงบนิ่งเป็นเวลา ๘๙ วินาที พร้อมหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันได้ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ทั้งนี้ การจัดพิธีดังกล่าวเป็นไปตามมาตรการท้องถิ่นด้านสาธารณสุขของทางการ Australian Capital Territory เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา จัดกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๔

@@@@ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ จัดพิธีและกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ วัดพุทธรังษี แอนนันเดล โดยมีนายชาลี กาญจนกุญชร รองกงสุลใหญ่  รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ เป็นประธานในพิธี และมีหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยในนครซิดนีย์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ พร้อมคู่สมรส และชุมชนไทยเข้าร่วมกิจกรรมในพิธีประกอบด้วย การวางพวงมาลา การกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 89 วินาที พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์และสวดมนต์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ข้าราชการและประชาชน ถวายผ้าไตร จากนั้น ผู้ร่วมพิธีได้ร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมเป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขของรัฐนิวเซาท์เวลส์

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ จัดพิธีและกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ วัดพุทธรังษี แอนนันเดล เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564

@@@@ ฉบับนี้ขอพาไปรู้จัก เมืองวูลกูลกา Woolgoolga เป็นหมู่บ้านริมทะเลในบริเวณชายหาดทางตอนเหนือของคอฟส์โคสต์ Coffs Coast และอยู่ห่างจากคอฟส์ฮาร์เบอร์ไปทางเหนือเพียง 25 กม. เมืองนี้มีชายหาดหลายแห่งที่เหมาะสำหรับการเล่นกระดานโต้คลื่น ตกปลา และดำน้ำตื้น snorkeling เมืองวูลกูลกา Woolgoolga เป็นที่ตั้งของวัด Guru Nanak Sikh ของชาวซิกข์ หรือแขกโพกผ้า นับถือศาสนาซิกข์ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของชาวซิกข์ในประเทศออสเตรเลีย และจะมีการจัดงาน Curryfest ที่มีชื่อเสียงในเดือนกันยายนของทุกปี แต่ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงต้องเลื่อนไปจัดในปีหน้า Woolgoolga Curryfest เป็นปาร์ตี้ริมถนนที่มีสีสันที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรม ความหลากหลาย และชุมชนด้วยอาหาร ดนตรี และการเต้นรำที่น่าตื่นตาตื่นใจ นับเป็นเทศกาลประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของเมืองนี้อีกงานหนึ่ง

คนในพื้นที่ละแวกนั้นเรียกเมือง Woolgoolga ว่า ‘Woopi’ เป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่สวยงามมากมาย เช่น เขตอนุรักษ์ธรรมชาติเชอร์วูด Sherwood Nature Reserve และพื้นที่ปิกนิกวูลกูลกาครีก Woolgoolga Creek Picnic บริเวณชายฝั่งทะเลมีจุดชมวิวที่ยอดเยี่ยมสำหรับการดูปลาวาฬจากแหลมวูลกูลกา Woolgoolga Headland พร้อมทิวทัศน์อันสวยงามของหมู่เกาะ Solitary Islands จนคนทั่วไปทราบกันดีว่า ถ้าอยากดูปลาวาฬ ไปดูที่ไหนไม่เจอในหน้าปลาวาฬ ให้มายืนที่ปลาย Woolgoolga Headland จะไม่มีวันพลาดเมื่อถึงหน้าปลาวาฬมาเยือน นอกจากนี้เมืองวูลกูลกายังมีไร่บลูเบอร์รี่ดาษดื่น ซึ่งผลิตบลูเบอร์รี่ออกสู่ตลาดมากมายสำหรับรัฐนิวเซาท์เวลส์ พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของการปลูกกล้วยในรัฐนิวเซาท์เวลส์มาช้านาน แต่อุตสาหกรรมไร่กล้วยนี้ลดลงเมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกล้วยในรัฐควีนส์แลนด์ กาลเวลาผ่านมาจึงได้เห็นสวนกล้วยหลายแห่งแทนที่ด้วยบลูเบอร์รี่กันไปหมด หลังจากราคากล้วยตกต่ำในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพื้นที่นี้จึงมีชาวอินเดียมากเพราะเป็นคนงานไร่กล้วยที่อพยพมาจากอินเดีย Sikh/Punjabi ถูกว่าจ้างมาในอดีตและกลายมาเป็นเจ้าของไร่กันเองในเวลาต่อมา 90%ของไร่กล้วยเป็นของชาวอินเดีย และเปลี่ยนเป็นไร่บลูเบอร์รี่ในปัจจุบัน

เมืองวูลกูลกา Woolgoolga เป็นเมืองชายทะเลทางตอนเหนือของคอฟส์โคสต์ Coffs Coast และอยู่ห่างจากคอฟส์ฮาร์เบอร์ไปทางเหนือเพียง 25 กม. เมืองนี้มีชายหาดหลายแห่งที่เหมาะสำหรับการเล่นกระดานโต้คลื่น ตกปลา และดำน้ำตื้น

@@@@ เมืองวูลกูลกา Woolgoolga เป็นเมืองเล็กมีปรชากรอยู่ไม่เกิน 6,000 คน มีร้านอาการไทย Thai Chai Yo และร้าน JT’s General store ซึ่งเจ้าของเป็นคนไทย คือ เชฟเอ๋ ธัญญรัตน์ พุดราชวงศ์ และสามีอดีตนายทหารนอกราชการ จัสติน แมคเคย์ ซึ่งขายดิบขายดีมาก เป็นที่รู้จักของคนทั้งเมืองและละแวกใกล้เคียง เชฟเอ๋ ธัญญรัตน์ เล่าว่า “เอ๋เป็นเชฟยิปซี ร่อนเร่ไปเรื่อยกว่าจะมาจบที่ Woolgoolga เป็นมือปืนรับจ้างคะ เมื่อก่อนสามีรับราชกาลทหาร 3-4 ปีทีก็ย้ายที เมืองสุดท้ายที่อยู่คือ Townsville พอใกล้ย้ายอีก  จึงคิดว่าถึงเวลาแล้ว เราน่าจะลองหาทำเลดี ๆ เปิดร้านเป็นของตนเองสักที สามีก็คงจะเริ่มเหนื่อยจากการย้ายเมืองบ่อย ๆ แล้ว จึงตกลงลาออกราชการทหาร จากที่เคยทำอยู่ 16-17 ปี ในปี 2018 เราก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ Woolgoolga รู้จักเมืองนี้เพราะเจ้าของร้านอาหารเดิมชื่อ อร่อยดี ประกาศขายกิจการในเวปไซต์ Gumtree จึงคุยกับแฟนว่าเราลองมาดูสถานที่กัน และได้พูดคุยกับเจ้าของร้านเดิม เพราะสถานที่สวยงามมาก ๆ อยู่ไม่ห่างจาก Coffs Harbour มากและเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มี Headland หลายจุด สวยงามถูกใจ พอมาถึงที่นี่ทำให้ใจอยากอยู่ที่เมืองนี้มาก ๆ จึงตัดสินใจซื้อร้าน รวบรวมเงินจากแรงกายและน้ำพักน้ำแรงที่มีอยู่ เราก็เริ่มคิดได้แล้วว่า ควรจะเป็นนายจ้างตัวเองได้แล้ว ความฝันเราเป็นจริง ดีใจจังเลย ไชโย ๆ เปลี่ยนชื่อร้านจากเดิมร้านอร่อยดี เป็น ไทยไชโย เลยคะ”

เมื่อเริ่มเปิดร้านใหม่เพียงช่วง 2-3 เดือนแรก เธอก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดีมาก เพราะรสชาติอาหาร  และความหลากหลายของเมนูในอาหารไทยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายร้าน เธออกตัวว่า “อาจจะเพราะร้านมีการปรับปรุงใหม่ และการบริหารที่ดีก็ได้คะ แม่ ป้า เคยเปิดร้านอาหารตามสั่ง เปลี่ยนไปเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวบ้าง ร้านส้มตำบ้าง หมูปิ้ง ไก่ย่างบ้าง จากการที่ช่วยครอบครัวขายอาหาร จนทำให้เราชอบทำอาหารไปด้วย ไม่ได้เรียนจบด้านอาหารที่ไหนมาคะ อีกอย่างโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่เมืองไทย และในออสเตรเลีย ชวนสามีแวะทานอาหารไทยเกือบทุกร้านที่ไปเที่ยว ชอบกิน ชอบชิม ยิ่งอาหารบ้านเราขึ้นชื่ออยู่แล้ว Street food หาทานง่ายก็จดจำรสชาติและเมนูเอาไว้ ตอนนี้ลูกค้าเอ๋อยู่ตัวแล้วทั้งขาประจำและขาจร ไปได้ดีคะ”

ร้านไทยไชโย นั้นเป็นร้านขนาดกะทัดรัดตามปกติของร้านหัวเมือง ข้างในจุลูกค้าได้ 30 ที่นั่ง ส่วนข้างนอกนั้นประมาณ 100 คน ตามปกติของเมืองท่องเที่ยวชายทะเล ที่ลูกค้าชอบนั่งด้านนอก โดยเฉพาะหน้าร้านเป็นลานใหญ่ที่มักมีการจัด Event ต่างๆประจำ มีการแสดงต่างๆ รวมทั้งดนตรีสดๆให้ดู เชฟเอ๋ ธัญญรัตน์ เล่าถึงอาหารที่ลูกค้าของเธอชื่นชอบว่า “อาหารส่วนใหญ่จะเหมือนร้านไทยอื่นๆหลายๆร้านแหละคะ อาหารอันดับแรกที่ขายดีที่สุด เห็นจะเป็นผัดไท ประเภทนั่งปั๊บสั่งปุ๊บเลยคะ เราใช้น้ำมะขามเข้มข้น 100% ผัดไฟแรง และปรุงเพิ่มตามสูตรของร้าน ผัดผักหมูกรอบ และกระเพราะหมูกรอบ  เราจะอบหมูให้กรอบและเนื้อนุ่ม ใช้ไฟอบไม่แรง เพราะหนังจะไหม้ไว แต่ต้องอบนาน เนื้อนุ่มใน กรอบนอก อธิบายยาก ต้องมาลองของจริงคะ ยำเนื้อ เป็นเมนูอีกอย่างที่ลูกค้าชอบทาน จะเป็นอาหารทางเหนือ เรียก ยำจิ้น ไม่ใส่น้ำพริกเผา เน้นตระไคร้ ใบคึ่นช่าย ใบสาระแหน่ เอากลิ่นหอมของผักพวกนี้นำ เมืองชายทะเลก็ต้องมี เมนูอาหารทะเล กุ้ง หอยเชลล์ ปลาต่างๆ ปลาหมึก เราใช้อาหารทะเลสด ๆ ตามฤดูกาล จะทำเป็น special ของร้าน รวมมิตรทะเลเผา อาศัยความสดและน้ำจิ้มแซ่บๆหรือแล้วแต่ลูกค้าต้องการ ก็อร่อยแล้วคะ อีกจานก็ เสือร้องไห้  เราใช้เนื้ออย่างดี หมักกับซอสหมักสูตรของทางร้าน ผ่านไฟแรงแบบรวดเร็ว ทำให้เนื้อมีกลิ่นหอมสุกกำลังดี จิ้มกับน้ำจิ้มสูตรเด็ดของทางร้าน อีกจานก็ปอเปี๊ยะใส้ผัก และไก่ เราจะไม่ผัดไก่และผักรวมกัน และรวมถึงใส่ผักใช้ผักสด และห่อทันที ไม่ใช่ห่อทิ้งไว้ในตู้เย็น เพื่อเวลาลงทอดแล้ว ลูกค้ารู้สึกได้ว่าผักยังใหม่และสดกรอบ ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพาน สูตรของทางร้าน นร่ก็เป็นอีกจาน เราเคี่ยวน้ำซอสผัดสูตรพิเศษ ผัดกับผักสดและไก่ทอดกรอบ เป็นเมนูที่เกือบทุกโต๊ะจะต้องสั่ง  อีกเมนูนี้หนึ่งที่ทางร้านภูมิใจนำเสนออย่างแรง คือ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ร้านเราต้มเป็ดพะโล้เอง แล้วนำไปย่างบนเตาเพื่อให้เป็ดมีกลิ่นหอม น้ำซุปก๋วยเตี๋ยวของเราใช้น้ำพะโล้เป็ดมาเป็นส่วนผสมเพื่อให้ได้น้ำซุปที่หอมเครื่องพะโล้ โรยด้วยกระเทียมเจียว จาระไนไม่เห็นภาพนะคะ ผ่านมาต้องมาลองเองคะ”

ถามเธอถึงร้าน JT’s General store เธอเล่าว่า “เมื่อก่อนเป็นร้านผักผลไม้ใช้ชื่อว่า Sprouts and Grow เอ๋เพิ่งย้ายมาที่นี่ ตอนนี้เปลี่ยนเป็น JT’s General store ซึ่งย่อมาจาก็ชื่อเต็มของเราสองคน Justin และ Thanyarat เริ่มมาจากร้านอาหารแหละคะ พอลูกค้าเยอะขึ้นๆ ร้านอาหารเริ่มซื้อของมากขึ้น พื้นที่ที่มีอยู่ในร้านไม่เพียงพอเพราะร้านอาหาร สถานที่คับแคบมากไม่สามารถติดตู้เย็นใหญ่ ๆ ที่เรียกว่า Cool room ได้ สามีเลยบอก มีห้องให้เช่ายังว่างอยู่ใกล้ๆร้าน เผื่อเป็นที่กักตุนพืชผักได้ ขยับขยายห้องเย็นเพิ่มที่ร้านผัก แล้วได้เก็บกักตุนพืชผัก เนื้อสัตว์ รวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุงต่าง ๆได้อีก ให้ลูกค้าได้มาซื้อบ้าง แต่จะเน้นผักที่เราใช้ในร้าน ปี 2019 เลยตัดสินใจเช่าเปิดเป็นร้านผักผลไม้ใช้ชื่อว่า Sprouts and Grow จากร้านผักเล็กๆ เปิดมาได้ 7-8 เดือน เกิดนิยมกันขึ้นมาต้องหาห้องที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เจอคำถามเดิม ๆ และหลากหลายเกี่ยวกับของกินของใช้ ถูกถามอยู่ทุกวัน จะเอาโน่น นี่ นั่น ในที่สุดเราก็สามารถขยายร้านผักไปที่ใหม่ได้ ไม่ห่างจากร้านเดิมนัก ประมาณ 200 เมตรเท่านั้น ยังคิดว่าโชคดีจัง เพราะการไปเอาผักเพื่อมาใช้สำหรับร้านอาหารแต่ละวันก็เยอะพอสมควร ขาดเหลืออะไร ก็วิ่งไปเอามาได้ นอกจากจะเปิดร้านผัก ผลไม้แล้ว ก็เพิ่มของใช้ ขนม นมเนย ไอศกรีม อาหารกระป๋อง น้ำผลไม้คั้นสด ๆ เครื่องใช้ในครัวเรือนทุกอย่าง คล้ายกับร้านขายของชำบ้านเรานั่นเองตามคำเรียกร้อง ก็เลยต้องเปลี่ยนชื่อร้านด้วย เท่าที่ทราบกันช่วโรคโควิดเริ่มระบาดหนัก ยอดขายตกหมด สามีก็ชวนทำพายขาย มัสมั่นพาย Pie Thai food ก็เลยยาวเลบ มีแกงเขียวหวาน พแนงไก่ หรือเนื้อ เนื้อผัดน้ำมันหอย ฯลฯ ก็เป็นที่ถูกใจสำหรับลูกค้า สามีเริ่มทำขนมปัง ชีส เบค่อน ไข่ดาว แฮมเบอร์เกอร์ สำหรับมื้อเล็ก ๆ ง่าย ๆ หยิบซื้อทานได้เลย ก็ลามไปเป็นชูชิ เลยต้องแยกอาหารและร้านของชำออกจากกัน แบ่งโซนร้าน JT’s ไปอีกห้อง ใช้ชื่อว่า Aey’s กิจการก็ไปได้ด้วยดีคะตอนนี้ ส่วนนักท่องเที่ยวก็ยังลดลงเป็นอย่างมาก ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด และต้องปฎิบัติตามนโยบายของรัฐบาล”

แต่กว่าจะมามีธุรกิจเป็นของตัวเองและมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นในวันนี้ เธอก็ต้องต่อสู้ชีวิตและประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายมาจนแทบหมดหวังในชีวิตไปหลายรอบแล้ว เธอเล่าว่า “ตัดสินใจเล่าชีวิตตัวเองให้เดลินิวส์ฟัง ก็อายๆอยู่นะคะ แต่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาตลอด ทราบจุดประสงค์ว่าเป็นข้อคิดเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคน คิดว่าเรื่องของตัวเองเล่าให้น้องๆฟังสำหรับเป็นการเตือนในการหาคู่ การทำมาหากิน ให้คิดให้รอบคอบ อย่าด่วนตัดสินใจ อย่าใจร้อน เอ๋พื้นเพเป็นคนจังหวัดลำปาง  ย้ายมาอาศัยอยู่กรุงเทพตั้งแต่เริ่มเรียนประถมศึกษา จนจบปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หลังจากจบก็ได้ทำงานเป็นพนักงานบริษัทวิจัยตลาดประมาณ 10 ปี เริ่มรู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตบ้าง ช่วงนั้นติดต่อกับอดีตสามีออนไลน์ กระทั่งปี 2009 เขาไปรับ ก็เดินทางมาอยู่ออสเตรเลียกับสามี เริ่มแรกทำงานรับจ้างเป็นพนักงานทำครัวในร้านอาหารร้านไทยแห่งหนึ่งในเมือง Wodonga แล้วก็ลามไปเมือง Albury ว่างไม่ได้รับงานไปหมด งานร้านนวดเอ๋ก็ไปทำ ขอให้ได้เงิน เรามาเพราะคิดว่า จะมีอนาคตที่ดี ไม่ตรวจสอบดีๆเสียก่อน สามีเอ๋เขามีแฟนเก่ายังไม่ได้เลิกกัน ก็เกิดระหองระแหง เป็นปากเสียงกัน เขาทำร้าย ก็กลายเป็น Domestic violence แฟนเอ๋ เขาจะส่งเอ๋กลับอย่างเดียว เจ้าของร้านทุกร้านที่ไปทำใจดีมากรวมถึงพี่ ๆ ที่เคยร่วมงานกัน ทุกคนคอยอบรมสั่งสอนในการใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน การทำงาน และคอยช่วยเหลือสนับสนุนทุกอย่าง ทุกคนบอกกลับไม่ได้ ต้องอยู่ ต้องสู้ เอ๋สู้อยู่เกือบสองปีคะ ถึงได้ PR มีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ ช่วยแปล อิมิเกชั่นเขาถึงกับส่งเอ๋ไปหาจิตแพทย์เช็คเราว่าเราพูดจริงมั้ย พูดตรงกันทุกครั้งหรือเปล่า เอ๋เจอสามีคนปัจจุบันก็เพื่อนๆแนะนำคะ เขาเป็นคนโสดก็เข้ามาช่วยเรื่องหนังสือตลอด ก็เลยตกลงอยู่กินกับคุณจัสติน แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยคะกับคนนี้วันแรกยังไง วันนี้ก็ยังงั้น เป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้สึกว่าออสเตรเลียนี่คือ บ้านเกิดหลังที่สอง เพราะมีพี่ ๆ น้อง ๆ คนไทย ที่ Wodonga และ Albury ที่น่ารักและอบอุ่น เอ๋หวังว่าชีวิตเอ๋น่าจะให้อะไรใครบ้าง”

เธอทำงานในเมืองแฝด Wodonga และ Albury ได้ 3 ปี ก็ต้องย้ายตามสามีอีกครั้งทั้งๆที่มีพี่น้องสนิทสนมกันมากมายแล้ว เพราะสามีรับราชการทหาร ต้องย้ายเมืองทุก ๆ 3 ปี เมืองต่อไปคือ Townsville รัฐควีนส์แลนด์ ได้ประสบการณ์ร้านอาหารไทยจากเมืองที่แล้ว ทำให้เธอรับงานร้านอาหารไทยแทบทุกร้านในเมืองเพราะ Townsville นั้นใหญ่กว่า Wodonga หลายเท่า เธอเล่าว่า “ร้านไหนว่าง หนูรับทำหมด งานเยอะมาก ทำอยู่ได้ถึง 3-4 ปี สามีจะย้ายอีกแล้ว ก็มานั่งคิด ย้ายทุกทีเอ๋แย่เลยเหมือนจากบ้าน พ่อ แม่ พี่น้อง ต่อกันไม่ติด บอกไม่เอาแล้ว ชวนสามีลาออก ไปปักหลักอยู่กันแบบถาวร ไม่ย้ายไปไหนกันอีกแล้ว ตอนนี้เมิอง Woolgoolga เป็นบ้านกลังที่สองเอ๋แล้วคะ ไม่ไปไหนแล้ว ขอขอบคุณสามี คุณJustin Mckay ที่อยู่ด้วยกัน สนับสนุนให้กำลังใจกันมาตลอด และพี่ๆน้องๆ ที่ร่วมงานช่วยเหลือกันตลอดมา รวมถึงลูกค้าที่น่ารักทุกๆ ท่านคะ” ร้านไทยไชโย Thai Chai Yo Restaurant ตั้งอยู่ที่ 58 Beach Street, Woolgoolga, New South Wales 2456, Australia โทรศัพท์ไปสำรองที่นั่งกันพลาด 02 6654 0777

เชฟเอ๋ ธัญญรัตน์ พุดราชวงศ์ กับร้านอาการไทย Thai Chai Yo ของเธอ ซึ่งขายดิบขายดีมาก เป็นที่รู้จักของคนทั้งเมือง Woolgoolga และละแวกใกล้เคียง ขนาดกะทัดรัดตามปกติของร้านหัวเมือง ข้างในจุลูกค้าได้ 30 ที่นั่ง ข้างนอกนั้นจุได้ประมาณ 100 คน

อาหารขายดีของร้าน ไทยไชโย อาทิ ผัดไท ผัดผักหมูกรอบ กระเพราะหมูกรอบ ยำจิ้น ยำเนื้อแบบชาวเหนือ อาหารทะเลเผา เสือร้องไห้  ปอเปี๊ยะใส้ผัก ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพาน ก๋วยเตี๋ยวเป็ด และก๋วยเตี๋ยวเรือ

ร้าน JT’s General store ร้านขายของชำ ที่สามีอดีตนายทหารนอกราชการ จัสติน แมคเคย์ แบ่งภาระไปดูแลช่วย ซึ่งนอกจากจะขายผัก ผลไม้ ยังมีของใช้ ขนม นมเนย ไอศกรีม อาหารกระป๋อง น้ำผลไม้คั้นสด เครื่องใช้ในครัวเรือนทุกอย่าง รวมทั้งมีอาหารสำเร็จขาย

ไตรภพ ซิดนีย์
[email protected]