แม้รัฐบาลโตเกียว แสดงการสนับสนุนให้ลดเวลาทำงานต่อสัปดาห์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2564 หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติเห็นชอบแนวคิดดังกล่าว แต่มันยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นประมาณ 8% อนุญาตให้ลูกจ้างหยุดงานได้ 3 วันต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ส่วนบริษัทในสัดส่วน 7% ให้พนักงานหยุดงาน 1 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดแคมเปญ “ปฏิรูปรูปแบบการทำงาน” ซึ่งส่งเสริมเวลาทำงานที่น้อยลง และการจัดการที่ยืนหยุ่น รวมถึงการจำกัดการทำงานล่วงเวลา และการลาหยุดประจำปีที่ได้รับค่าจ้างตามปกติ อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น ยังเริ่มเสนอบริการและสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจเพิ่มเติมเช่นกัน

“ด้วยการตระหนักถึงสังคมที่คนงานสามารถเลือกรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย ตามสถานการณ์ของตนเอง เราจึงมุ่งหวังที่จะสร้างวงจรประเสริฐของการเติบโตและการกระจายงาน และทำให้คนงานทุกคนมีทัศนคติที่ดีขึ้นสำหรับอนาคต” เว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ระบุเกี่ยวกับแคมเปญ “ฮาตาระคิคาตะ ไคคาคุ” ซึ่งแปลว่า “การสร้างสรรค์วิธีการทำงานของเรา”

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่กำกับดูแลบริการสนับสนุนใหม่สำหรับธุรกิจต่าง ๆ ระบุว่าจนถึงขณะนี้ มีบริษัทแค่ 3 แห่งเท่านั้น ที่ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน, กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเงินช่วยเหลือที่มีอยู่ นับเป็นความท้าทายที่แผนงานริเริ่มนี้ต้องเผชิญ

อนึ่ง การสนับสนุนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโตเกียว ในการปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ดีขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศมีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมการทำงานหนัก จนได้รับการยกย่องว่ามีส่วนช่วยในการฟื้นตัวของประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การทำงานเป็นเวลานานถือเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น ซึ่งแม้ 85% ของนายจ้างในประเทศ รายงานว่าอนุญาตให้พนักงานของพวกเขาหยุดงาน 2 วันต่อสัปดาห์ และมีข้อจำกัดทางกฎหมาย เกี่ยวกับการเวลาทำงานล่วงเวลา ซึ่งมาจากการเจรจากับสหภาพแรงงาน และมีรายละเอียดระบุไว้ในสัญญา

กระนั้น ชาวญี่ปุ่นบางคนก็ทำงานล่วงเวลา ซึ่งหมายความว่า พวกเขาทำงานโดยไม่มีรายงานบันทึก และไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยเอกสารทางราชการฉบับล่าสุดของรัฐบาลโตเกียว เกี่ยวกับ “คาโรชิ” หรือ การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป ระบุว่า ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากกรณีข้างต้น อย่างน้อย 54 รายต่อปี

ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบางคนมองว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติเช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาแรงงาน ท่ามกลางอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น ซึ่งข้อมูลของรัฐบาลคาดการณ์ว่า ประชากรวัยทำงานในประเทศจะลดลง 40% เหลือประมาณ 45 ล้านคน ในปี 2608 จากประมาณ 74 ล้านคนในปัจจุบัน

ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนโมเดลการหยุดงาน 3 วัน กล่าวว่า รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สนับสนุนผู้คนที่ต้องเลี้ยงดูบุตร, ผู้ที่ดูแลญาติผู้ใหญ่, ผู้เกษียณอายุที่ใช้ชีวิตด้วยเงินบำนาญ และผู้ที่มองหาความยืดหยุ่นหรือรายได้เพิ่มเติม เพื่อทำงานต่อไปได้นานขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP