เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่เคารพ

ปัจจุบันผมอายุ 60 ปี สภาพร่างกายป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาประมาณ 3 ปีแล้ว ไปพบแพทย์รับการตรวจร่างกายและกินยารักษาโรคมาโดยตลอด เป็นคนมีอารมณ์ทางเพศค่อนข้างมาก ปกติเคยมีความสุขกับภรรยาด้วยการมีเพศสัมพันธ์สัปดาห์หนึ่งประมาณ 3-4 ครั้ง แต่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาพบว่าเริ่มมีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศไม่เต็มที่คือแข็งแบบนิ่ม ๆ จนสอดใส่ไม่ได้ร่วมเพศไม่ได้เลย แม้จะทดลองช่วยตัวเองเป็นบางครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งทำให้หงุดหงิดมากขึ้น ตอนนี้ได้แต่ทำใจไปวัน ๆ อารมณ์ความต้องการทางเพศก็ลดลงไปอีกด้วย จนทำให้รู้สึกอ่อนเพลียละเหี่ยใจ หงุดหงิดง่าย ซ้ำร้ายก็คือตอนกลางคืนก็ยังนอนไม่ค่อยหลับ ทำให้สงสัยว่าอาการดังกล่าวนี้เกิดมาจากการกินยารักษาโรคความดันโลหิตสูงมากเกินไปหรือไม่ สามารถรักษาด้วยวิธีใดได้หรือไม่อย่างไร และขอคำอธิบายสาเหตุเกิดมาจากอะไร

ด้วยความเคารพ
ภาคิน 60

ตอบ ภาคิน 60

การแข็งตัวของอวัยวะเพศต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ โดยเริ่มต้นจากต้องมีความรู้สึกต้องการทางเพศซึ่งเกิดที่สมองได้รับการกระตุ้นซึ่งอาจจะเกิดจากรูป กลิ่น เสียง สัมผัส และจากความคิด ส่งผ่านความรู้สึกต้องการทางเพศนั้นไปยังประสาทไขสันหลังและไปกระตุ้นอวัยวะเพศทำให้เลือดไหลเข้าอวัยวะเพศ หลอดเลือดที่อวัยวะเพศต้องมีการขยายตัวเลือดจึงจะเข้าในอวัยวะเพศได้อย่างเต็มที่

ดังนั้นหากมีปัจจัยมากระทบกลไกทั้งสามก็จะทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หากเกิดความล้มเหลวในการกระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวมักจะเกิดจากจิตใจ สมอง ระบบประสาท และการขาดฮอร์โมนเพศชาย ความล้มเหลวที่เลือดแดงจะไหลเข้ามาคั่งในอวัยวะเพศ ประเภทใจสู้แต่องคชาติไม่ขยายตัวยาว ใหญ่และแข็งพอมักจะเกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตมาเลี้ยงองคชาตไม่พอ ความล้มเหลวในการกักกันเลือดแดงที่ไหลเข้ามาคั่งในองคชาตแล้วค้างอยู่ได้มากพอและนานพอที่จะทำให้องคชาตแข็งตัวเต็มที่และนานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จ มักจะเกิดจากผู้สูงอายุมีพังผืดมาแทนหลอดเลือดแดง

การได้รับยารักษาความดันโลหิตสูงก็มีผลต่อการแข็งตัวที่ลดลง และอายุมากก็ส่งผลให้มีระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนลดลง ซึ่งอาการที่แสดงออกให้รู้ว่ามีระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงนั้น ได้แก่ กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย ไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชา มองโลกในแง่ร้าย กล้ามเนื้อลีบลง สะสมไขมันมากขึ้น นอนไม่หลับ สมองไม่เฉียบคม อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ ขาดความมั่นใจ บางรายถึงกับมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย เป็นต้น

ในระยะยาว การพร่องฮอร์โมนเพศชายเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่สำคัญอีกหลายประการ อาทิ โรคกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง อวัยวะเพศไม่แข็งตัวโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายและอาการอีดีของคุณที่กำลังเป็นอยู่สามารถแก้ไข คุณผู้ชายที่กำลังมีปัญหาเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อจะได้กลับมาเป็นหนุ่มทั้งทางใจและทางกายอีกครั้ง ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศก็จะคืนสภาพเช่นหนุ่มวัย 30 ปีได้อีกแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการรักษาโรคความดันโลหิตสูงก็ให้รักษาควบคู่กันไปด้วย.

————————
ดร.โอ สุขุมวิท 51