สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ถือกำเนิดเมื่อปี 2510 เป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งแรกและแห่งเดียวของภูมิภาคเอเชียะตัวนออกเฉียงใต้ ที่สมาชิกทุกประเทศร่วมกันผ่านร้อนผ่านหนาวและสามารถรักษาผลประโยชน์ระดับภูมิภาค ร่วมกันได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ตลอดระยะเวลานานกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พื้นฐานของอาเซียนนั้น ไม่ใช่การรวมตัวเพื่อเป็นสหภาพทางทหารระดับภูมิภาค แต่เป็นการจัดตั้งกรอบบรรทัดฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกันระหว่างสมาชิก ที่ปัจจุบันมี 10 ประเทศ บนหนึ่งในหลักการสำคัญ คือ “การไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ที่อาจเป็นโอกาสให้เกิดการแทรกแซงจาก “บุคคลที่สาม” ซึ่งอยู่นอกภูมิภาค

Reuters

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายและน่าแปลกใจมากนัก ที่อาเซียนไม่เคยมีความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อการรัฐประหารในไทย คดีมหากาพย์การทุจริตในกองทุนพัฒนาแห่งชาติ “วันเอ็มดีบี” ของมาเลเซีย สงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ลาวและเวียดนาม กฎหมายควบคุมสื่อที่เข้มงวดในสิงคโปร์ กฎหมายชารีอะห์ในบรูไน และสถานการณ์ด้านความมั่นคง ในจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย เพราะอาเซียนมองว่า สถานการณ์ทั้งหมดนี้ “เป็นกิจการภายใน” ของสมาชิกแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์ในเมียนมา ซึ่งเป็นผลจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา คือความท้าทายหนักหน่วงที่สุดของอาเซียน ชัดเจนที่สุดคือการทำให้จุดยืนของประชาคมแห่งนี้ ในเรื่องการไม่ก้าวก่าย “เรื่องภายใน” มีอันต้องสั่นคลอนอย่างหนัก จนรูปแบบดังกล่าวที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของอาเซียน หรือ “อาเซียน เวย์” เผชิญกับคำถามว่า “ควรเป็นแบบนี้ต่อไปหรือไม่”

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วิถีอาเซียน ในด้านความเป็นกลางระดับภูมิภาค ทำให้อาเซียนสามารถประนีประนอม และอะลุ้มอล่วยแก่กัน จนอยู่ร่วมกันได้ ท่ามกลางพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของสมาชิกแทบทุกประเทศที่แตกต่างกัน

นายลิ้ม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ( คนซ้าย ) ต้อนรับพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ในการประชุมที่กรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนเม.ย.ปีนี้

ทว่าการเมืองภายในของสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ มีความซับซ้อนมากเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด แต่สถานการณ์ในเมียนมากำลังเป็นบททดสอบความเป็นเอกภาพ “ที่แท้จริง” ของอาเซียน นับตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจในเมียนมา อาเซียนเผยแพร่แถลงการณ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการประชุมฉุกเฉินหลายต่อหลายครั้ง ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่แทบไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

แม้อาเซียนเชิญพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายกรัฐมนตรีของเมียนมา ให้ประชุมร่วมกัน ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นำไปสู่การบรรลุกติกาที่เรียกว่า “ฉันทามติ 5 ข้อ” มติที่ในทางทฤษฎีดูแล้วเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด แต่ก็ยังคงไม่สามารถผลักดันให้บังเกิดผลได้ในทางปฏิบัติ

สถานการณ์ในเมียนมามีแนวโน้มยืดเยื้ออีกนาน ในเวลาเดียวกับที่ภูมิรัฐศาสตร์ในอาเซียนเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นภูมิภาคซึ่งจะเป็น “สมรภูมิใหม่” ของการขับเคี่ยวช่วงชิงอำนาจ ระหว่างสหรัฐกับจีน อำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจทั้งสองประเทศ ทำให้จุดยืนและรูปแบบการดำเนินนโยบายของสมาชิกอาเซียนแต่ละแห่ง “เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนมากขึ้น”

ต่อให้ไม่มีปัญหาเรื่องเมียนมา สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ที่สหรัฐลงทุนพาตัวเองเข้ามามีบทบาท สั่นคลอนความเป็นกลางของอาเซียนมากพออยู่แล้ว หนำซ้ำยังมีโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจไปทุกองคาพยพ และยังมีกลุ่ม “ออคัส” เกิดขึ้นมา และมีเป้าประสงค์ชัดเจน ว่าต้องการปิดล้อมจีน

สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย

การที่อาเซียนตัดสินใจ “ลดระดับ” เมียนมา ในการประชุมสุดยอด ที่บรูไนซึ่งทำหน้าที่ประธานประจำปีนี้ เป็นเจ้าภาพผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางไกล ระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค. ดูเหมือนเป็นเพียงการผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับทั้งระดับภายใน และบรรเทาแรงเสียดทานจากภายนอกออกไปชั่วขณะ แม้อาเซียนยืนยันว่า การตัดสินใจดังกล่าว ไม่ใช่การลดสถานะสมาชิกของเมียนมา และจะเชิญ “ผู้แทนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง” เข้าร่วมการหารือแทน

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ามีการเชิญหรือไม่ แล้วบุคคลนั้นเป็นใครก็ตาม แต่หลังผ่านพ้นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ สถานการณ์ในเมียนมายังคงเป็นปัญหาเรื้อรังของอาเซียนเหมือนเดิม และการที่ประธานในปีต่อไปคือ กัมพูชา ประเด็นเกี่ยวกับเมียนมาอาจกลายเป็นเรื่องร้อนแรงยิ่งกว่านี้ บนเวทีระหว่างประเทศ.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AP, GETTY IMAGES