สถานการณ์โควิด 19 ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันเพราะการเข้ามาของเชื้อกลายพันธุ์ “เดลตา” หรือสายพันธุ์ “อินเดีย” ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็ว ประการสำคัญคือการติดเชื้อวันนี้เข้าสู่พื้นที่ชุมชน คนชั้นแรงงาน ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า พอโรคมันกระจายเยอะ การติดตามไทม์ไลน์ เป็นเรื่องยาก สิ่งสำคัญที่สุดคือ “มาตรการส่วนบุคคล” คือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ

ทั้งนี้ สถานการณ์ขณะนี้ เนื่องจากมีการติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมีความต้องการตรวจหาเชื้อกันจำนวนมาก บางคนได้รับการตรวจ บางคนไม่ได้รับการตรวจ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมนนั้น ต่อประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยที่ประชุม EOC มีมติให้ใช้ชุดตรวจ rapid antigen test ซึ่งเป็นชุดตรวจอย่างง่าย มีหลายการตรวจ ทั้งนี้มาตรการนี้ให้ทำทันที แต่ให้ทำในสถานพยาบาลที่ขึ้นไว้เท่านั้น และมีเตียงรองรับ หากให้ผลเป็นลบก็กลับบ้าน แต่หากให้ผลบวก หรือแพทย์มีความสงสัย ก็จะมีการตรวจซ้ำ RT-PCR เมื่อยืนยันผลเป็นบวกให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาต่อไป สำหรับในอนาคตอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้ชุดตรวจ rapid antigen test ที่บ้านได้ แต่ย้ำว่าตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม “นพ.โอภาส” ย้ำ การตรวจหาเชื้อฯ เพื่อหวังผลในการควบคุมป้องกันโรค และการนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ดังนั้นจึงต้องมีการจัดลำดับการตรวจ โดยคนที่ควรได้รับการตรวจก่อนคือคนที่มีอาการ ผู้สูงอายุ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

ส่วนคนที่ไม่มีอาการอะไรเลยแต่อยู่ๆ อยากจะตรวจเพื่อความสบายใจนั้น หลักการคงได้รับการตรวจทีหลังเพื่อน เพราะบางครั้ง พอมีคนอยากตรวจเยอะๆ จะทำให้กลุ่มที่เราอยากตรวจไม่ได้รับการตรวจ กลุ่มที่ควรรอได้ก็มาแซงคิวดังนั้นคนที่กังวลว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ ให้ไปพบเจ้าหน้าที่ เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ อย่างไร อย่าไปบังคับว่า “ฉันต้องตรวจทันที” เพราะซักไปซักมาก็พบว่าไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร แบบนี้จะทำให้เสียโอกาสในการตรวจคนเสี่ยงจริงๆ

“การประเมินตัวเองเหมือนเดิมเสี่ยงสูงคือ การพูดคุยกันใกล้ชิดโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย 5 นาที ไอจาม รดกัน อยู๋ในห้องเดียวกันเดิน 15 นาทีไม่ใส่หน้ากาก เพราะฉะนั้นถ้าใส่หน้ากากก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ และถ้าฉีดวัคซีนแล้วก็จะยิ่งลดความเสี่ยงลงอีก”

“นพ.โอภาส” ระบุว่า “การกักตัวเองสำคัญกว่าการตรวจ” เป็นการกักตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่ไปติดคนอื่น เพราะเราพบว่าการติดเชื้อขณะนี้ โดยเฉพาะ กทม. การติดเชื้อเกือบทั้งหมดติดจากคนรู้จัก คนที่บ้าน เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่เราซื้อของด้วย ผู้ค้า ผู้ขายในตลาด เรียกว่า ส่วนใหญ่ติดจากคนรู้จัก ดังนั้นคำแนะนำคือ ถ้าคนกทม.อยากช่วยลดการระบาด 1. เวลาไปคุยกับใครให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และต่างคนต่างรับประทานอาหาร 2.เวลาที่อยู่กับคนที่ไว้ใจ โดยเฉพาะเพื่อน หลังๆ พบติดเชื้อในที่ทำงานเยอะขึ้น ทีมีการถอดหน้ากากคุยกัน

“ขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ จะช่วยลดการติดเชื้อได้เยอะทีเดียว พยายามรับประทานอาหารคนเดียว ถ้าเป็นไปได้ อย่าหวังพึ่งพาคนอื่น ถ้าไปคุยกับใครก็ให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยถ้าทำตรงนี้ ไม่ว่าสายพันธุ์ไหนก็ป้องกันได้หมด”

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก

เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง