ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อ ’โดนัลด์ ทรัมป์“ ได้กลับมาคว้าชัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง!! ย่อมต้องส่งผลกระทบไปทั่วโลกแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางตรงหรือผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะผลกระทบที่ส่งต่อมายังประเทศ ไทย แม้ว่าในหลายฝ่ายหลายมุมมองต่างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ามีทั้งเรื่องท้าทายและเรื่องที่เป็นโอกาส!! โดยเฉพาะในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เชื่อกันว่าจะปะทุขึ้นอีกครั้ง จนทำให้การค้าโลกสะดุด ปริมาณการค้าโลกจะเริ่มลดน้อยถอยลง นั่นหมายความว่าย่อมส่งผลต่อการส่งออกของไทยไม่น้อยเช่นกัน

ในมุมกลับกันในมุมที่เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการย้ายฐานการผลิตเข้ามาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอีกหลายกลุ่มสินค้า หรือแม้แต่ในเรื่องของการเร่งนำเข้าสินค้าจากไทย ก่อนสหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้า 10% สำหรับประเทศทั่วไป และอีก 60% สำหรับประเทศจีน 

มีการคาดการณ์กันว่าในช่วง 100 วันแรกของประธานา ธิบดีสหรัฐ คนที่ 47 จะเน้นใช้อำนาจฝ่ายบริหารเกี่ยวกับผู้อพยพ และการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนตามมาส่วนผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าการดำเนินนโยบายภาษีนำเข้าของนายทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกชะลอตัว โดยอาจส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทย 0.3-0.5% ในกรณีที่ “ทรัมป์ “ สามารถดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ทั้งหมด

วางตัวเป็นกลางไม่เลือกข้าง

แล้ว!! ในแง่ของประเทศไทย คนไทย จะต้องทำตัวกันอย่างไร? ต้องวางนโยบายกันอย่างไร? เพื่อให้สามารถรองรับนโยบายของ “ทรัมป์ 2.0” ได้อย่างไร้แรงกระแทกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยในแง่ของกระทรวงพาณิชย์เองที่ต้องรองรับเรื่องนี้โดยตรง “พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ ก็เรียกประชุมพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการค้า เพราะไทยจำเป็นอย่างยิ่งต้องวางตัวเป็นกลางไม่เลือกข้าง รวมทั้งต้องทำให้ไทยเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของอาเซียน ที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาลงทุนทำการค้าการขาย

ไม่เพียงเท่านี้หากไปดูข้อมูลในอดีต!! ก็จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยในหลาย ๆ รายการกลับเพิ่มขึ้นจากสงครามการค้าที่ทำให้สหรัฐลดการนำเข้าสินค้าจากจีนลงอย่างต่อเนื่อง และนำสินค้าไทยไปแทนการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยมุมมองของ “เจ้ากระทรวงพาณิชย์” เชื่อว่าสินค้าไทยจะสามารถเพิ่มการส่งออกไปยังสหรัฐได้แน่นอน สะท้อนให้เห็นได้จากการที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจีนลดลงต่อเนื่อง แต่การส่งออกของไทยไปสหรัฐกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 15%

แนะผู้ส่งออกรับมือ 3 รับ 3 รุก

ขณะที่ “ชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แนะนำว่า จากนี้ไปโลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และคาดการณ์ได้ยาก รวมถึงจะเกิดการจัดระเบียบโลกการค้าขึ้นใหม่ ซึ่งประเทศไทยจะต้องปรับตัวรับมือให้ได้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ต้องเตรียมตัวรับแรงกระแทกการเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่จะมีแน่นอน และมีความรุนแรงไม่น้อยกว่าเดิม

สำหรับแนวทางการรับมือของไทยในเชิงรุก 1.ไทยควรหาพันธมิตรทางการค้าเพิ่มเติม เช่น ในกลุ่มอาร์เซป ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ เพื่อป้องกันผลกระทบทางการค้าที่เกิดจากสหรัฐกับจีนที่มีต่อกัน 2.มองว่านโยบายการค้าของทรัมป์ ที่สนับสนุนรถยนต์ใช้น้ำมันต่อไป จะเป็นโอกาสให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปได้ประโยชน์ จึงควรมุ่งเปิดตลาดสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้เพิ่ม และ 3.ไทยควรสร้างบรรยากาศเปิดรับการลงทุนใหม่และการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค เพราะเชื่อหลังจากนี้จะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนค่อนข้างเยอะ

ขณะเดียวกันยังรวมถึงบรรดานักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ ก็อาจจะตัดสินใจหันเหไปลงทุนในประเทศอื่นที่เป็นกลางหรือประเทศที่สามมากขึ้นก็เป็นไปได้ ทั้งหมดก็เพื่อหลบเลี่ยงผลกระทบจากการมีสงครามการค้า

ส่วนผลกระทบทางลบที่ไทยต้องปรับตัวรับมือ 1.ไทยต้องระวังการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศใหม่ ๆ เพื่อป้องกันความขัดแย้งการเป็นคู่กรณีระหว่างสหรัฐกับจีน 2.ต้องเตรียมรับมือสินค้าจากจีนที่อาจจะทะลักเข้าไทยเพิ่ม เพราะมองว่าเมื่อสหรัฐมีการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีนขึ้นมาจะทำให้สินค้าจีนที่ผลิตไว้ส่งออกไปสหรัฐได้น้อยลง และจีนก็จำเป็นต้องหาตลาดหรือแหล่งขายใหม่เพื่อระบายสินค้าที่ผลิต โดยมีกลุ่มประเทศเอเชีย รวมถึงอาเซียนและไทยเป็นจุดเป้าหมาย  หากส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ และ 3.ต้องรับมือการแข่งขันทางการค้าโลกที่มีความรุนแรง เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการลดต้นทุนการผลิตจากจีนลงอีกที่ไทยต้องทำให้ได้เพื่อแข่งขันกับคู่แข่ง รวมถึงการปรับไลน์ผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

สร้างความแข็งแกร่งด้านอื่น

ส่วนทางด้านการเงิน “บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า หลังจากรู้ผลเลือกตั้งทำให้เงินบาทอ่อนค่าในทันที เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และต้องติดตามนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะสามารถทำได้อย่างที่หาเสียงไว้หรือไม่ เช่นในเรื่องของการค้าที่มีนโยบายต้องการลดการขาดดุลการค้ากับประเทศต่าง ๆ รวมถึงกับประเทศไทย

ดังนั้นในส่วนของไทยต้องระมัดระวัง เพราะสหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก โดยรัฐบาลไทยต้องเร่งเจรจา มีนโยบายสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น และถ้าไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐไม่ได้ด้วย จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไทยส่งออกไปสหรัฐคาดว่าเป็นอันดับหนึ่งในเวลานี้ รวมถึงไทยต้องระวังว่าจะถูกสหรัฐจับตามองว่าเป็นฐานการผลิตให้กับจีน ซึ่งเป็นเป้าหมายการกีดกันการค้าของสหรัฐ

ที่ผ่านมามีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอาเซียนรวมถึงไทยค่อนข้างมาก เพื่อมาผลิตและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ และสหรัฐด้วย ซึ่งยังต้องจับตาว่าสหรัฐจะมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร อาจให้ใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อผลิตมากขึ้นหรือไม่ โดยมองว่าหลังจากนี้ไทยควรลดการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ และมองหาตลาดอื่น ๆ สร้างความแข็งแกร่งด้านอื่น ลดพึ่งพาการส่งออก และไปเน้นเรื่องการบริการ ท่องเที่ยว ทางด้านการแพทย์สาธารณสุข โดยรัฐบาลควรให้การดูแลในส่วนนี้”

นอกจากนี้ ข้อดีของการเข้ามาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ คือโลกอาจสงบสุขมากขึ้น อาจทำให้สงครามบางประเทศคลี่คลายลงไป อย่างเช่น ระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันโลกนั้นลดลงได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อนหน้าไม่ได้เน้นเรื่องนี้มากนัก และผลของสงครามก็คือราคาน้ำมันโลกแพงขึ้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวรับมือและเตรียมพร้อมไว้ว่า ถ้าโดนสหรัฐขึ้นภาษีจะทำอย่างไร ถ้าพาร์ตเนอร์ที่เป็นจากจีนและถูกกีดกันการค้าจะทำอย่างไร จะปรับตัวได้อย่างไร แต่สุดท้ายต้องติดตามรายละเอียดนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะสามารถทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน และหากทรัมป์จะขึ้นภาษีการค้า ภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ อาจมีส่วนกระทบต่อคนในสหรัฐเองด้วยหรือไม่

หาจุดสมดุล-ตามให้ทันเทคฯ

ไม่ใช่เพียงแค่การค้าการลงทุนเท่านั้น ในเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็สำคัญไม่น้อย โดย “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์”  ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ยอมรับว่า การกลับมาของ “ทรัมป์” ครั้งนี้ บริษัทเทคระดับโลกที่จะลงทุนในไทย จะยังเหมือนเดิมและมีการลงทุนเพิ่มหรือมีการประกาศจากรายใหม่ ๆ หรือไม่ เพราะทรัมป์มีนโยบายการแข่งขันทางการค้ารุนแรง และการแข่งขันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทางการค้าด้วย จากนโยบาย “อเมริกัน เฟิสต์” ซึ่งจะมีมาตรการกีดกันทางภาษีกับประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้จะมีเรื่องการสร้างข้อได้เปรียบของสหรัฐในการเติบโตในธุรกิจดิจิทัล ซึ่งอาจไม่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยมาก เพราะไทยไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี นอก จากนี้การที่สหรัฐมียุทธศาสตร์ทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการสู้กับจีน ประเทศไทยต้องเลือกทำงาน เพราะไทยจะเป็นจุดตรงกลาง เราจะไปใช้งานทางฝั่งไหน ไม่ว่าจะเป็นระบบเน็ตเวิร์ก ซอฟต์แวร์ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยปัจจุบันไทยโครงสร้างพื้นฐานแบบ 50 : 50 ระหว่างของจีนกับสหรัฐทำให้ไทยต้องดูว่าจะไปทิศทางไหนในการทำธุรกิจการค้าในโลกดิจิทัล

ส่วนตัวมองว่า ไทยควรมองภาพในเรื่องการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในการทำการค้า ต้องหาจุดสมดุล ทำการค้าแบบเสรีและเป็นมิตรกับทุกคน จะบอกว่าไทยเลือกฝั่ง หรือไม่เลือกคงไม่ใช่  ซึ่งทางรัฐบาลก็มีนโยบายในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไทยต้องทำให้ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น และต้องระวังมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต ถือเป็นการทำการค้าในโลกใหม่ เหมือนเคยที่มีการแข่งขันของแพลตฟอร์มของอเมริกาและจีน ที่ไทยจะสามารถรับการเปลี่ยนแปลงหรือตามทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการแข่งขันของ 2 ประเทศได้หรือไม่”

ขณะเดียวกันการที่  “ทรัมป์” ประกาศกีดกันทางการค้ากับจีนนั้น อาจทำให้จีนรวมถึงไต้หวัน อาจมองมาที่ไทยใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งสินค้าไปที่อเมริกา แต่ต้องดูว่าในอนาคตจะมีมาตรการเกี่ยวกับประเทศที่รับจ้างผลิตออกมาหรือไม่ในอนาคต แต่หากจีนและไต้หวันย้ายฐานการผลิตสินค้าเทคโนโลยีมาไทย ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องเงินลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ก็ถือว่าไทยมีคู่แข่งคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ไทยได้เปรียบในเรื่องภูมิศาสตร์ที่ตั้งและระบบขนส่ง แต่ขาดเรื่องกำลังคนดิจิทัลในบางสาขาที่ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริม

ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงมุมมองส่วนหนึ่งของบางหน่วยงาน บางส่วนงานเท่านั้น แต่จากนี้ไปประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องไม่นิ่งเฉย หรือรอคอยแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น โดยต้องจับตามองไปที่สหรัฐอย่างไม่กะพริบตา เพื่อปรับตัวเองให้อยู่รอดหรือใช้โอกาสนี้ตักตวงประโยชน์ที่ควรจะได้ ก่อนเสียโอกาสในทุกทาง!!.