ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2567 รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก(ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานีเป็นโครงสร้างใต้ดินทั้งหมด จะเริ่มลงพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานี (สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ) เพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยปิดการจราจรช่องชิดทางเท้า 1 ช่อง และจะก่อสร้างเต็มรูปแบบโดยนำเครื่องจักรใหญ่ลงพื้นที่ตั้งแต่ต้นปี 2568
“นายสปีด” ให้สถานะรถไฟฟ้าสีส้มส่วนตะวันตกเป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ลำดับที่ 10 ของประเทศไทย มีรูปแบบเป็น Heavy rail รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใช้ล้อเหล็กแบบรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวและเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเหนือ(ช่วงเตาปูน–คลองบางไผ่) ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งกำลังก่อสร้างได้ผลงานแล้ว 44.21% นับเป็นรถไฟฟ้าสายที่ 9 มีแผนเปิดบริการปี 2571
สำหรับรถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้ว 8 สาย (รถไฟฟ้าสายสีเขียว(บีทีเอส) สายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ (สีแดงเลือดหมู) สายสีม่วงเหนือ สายสีทอง สายสีแดง สายสีเหลืองและสายสีชมพู เรียกตามสีที่ขีดไว้บนโครงข่ายแผนแม่บทรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ให้รายละเอียดว่า รฟม. ได้แจ้งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ร่วมลงทุนโครงการ เข้าเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2567 บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างของBEM ได้ฤกษ์ปิดการจราจรพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย.67 เพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภคเป็นลำดับแรก
โดยปิดการจราจรช่องชิดทางเท้า 1 ช่องจราจรทั้ง 4 สถานี ยกเว้นสถานีศิริราช จะจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้างโดยคงช่องจราจรเท่าเดิม ส่วนที่เหลืออีก 6 สถานี จะปิดจราจรตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย.2567 พร้อมระดมเครื่องจักรใหญ่เข้าทำงานเต็มสูบช่วงต้นปี 2568 ช่วงวิกฤติสุดคือการรื้อสะพาน 3 แห่ง (สะพานข้ามแยกราชเทวี ข้ามแยกบางขุนนนท์ และข้ามแยกประตูน้ำ ) ประเดิมรื้อสะพานราชเทวีกับบางขุนนนท์ก่อนในเดือนม.ค.2568 และรื้อสะพานแยกประตูน้ำ ประมาณเดือน มี.ค.2569 พร้อมสร้างสะพานกลับคืนให้ภายใน 2 ปี
รฟม. ได้กำชับผู้รับจ้างเร่งรัดงานก่อสร้างให้เร็วที่สุดเพื่อลดผลกระทบประชาชน เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างสภาพการจราจรหนาแน่น และมีชุมชน–โรงเรียนโดยรอบ รวมทั้งกำชับผู้รับจ้างลดผลกระทบด้านการจราจร โดยปิดถนนเท่าที่จำเป็น ติดตั้งป้ายและเครื่องหมายจราจรให้ชัดเจนตามมาตรฐาน จัดอาสาจราจรช่วยอำนวยความสะดวก ประสานตำรวจจราจรปรับทิศทางการสัญจรเป็นพิเศษบางช่วงเวลา กำหนดทางลัดทางเลี่ยง เพื่อเป็นทางเลือกเดินทาง
ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยการติดตั้งรั้วสูง 2 เมตรล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้าง ปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้าง ล้างทำความสะอาดถนนสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ใช้รถกวาดดูดฝุ่นทุกวัน ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำแรงดันสูง ทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดี ติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวในพื้นที่กำหนด เป็นต้น
ด้านนายทรงวุฒิ ศิริอุดมเลิศ ผู้แทน BEM แจกแจงว่า ภาพรวมโครงการฯได้ผลงานแล้ว 1.90% เริ่มด้วยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค สร้างผนังกำแพงใต้ดิน และก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งในขั้นตอนนี้เครื่องจักรจะเริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่ต้นปี 2568 ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างนั้นเมื่องานเหล่านี้เดินหน้าได้บางส่วน มีพื้นที่เพียงพอที่จะนำหัวเจาะลงไปได้ ก็จะเริ่มงานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งควบคู่ไปด้วย
คาดว่าจะเริ่มขุดเจาะทางวิ่งได้ประมาณปี 2569 ใช้หัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินรวม 7 หัว ใช้เวลาขุดเจาะทั้งหมดประมาณ 2 ปี ตามสัญญางานต้องแล้วเสร็จทั้งหมด และพร้อมเปิดบริการส่วนตะวันตกในปี 2573
นายทรงวุฒิ ให้ความมั่นใจกับประชาชนด้วยว่า บริษัท ช.การช่างฯ มีความพร้อมมากในการก่อสร้าง โดยเฉพาะงานอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งสะสมประสบการณ์มานานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่การขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินแห่งแรกของประเทศไทย การขุดเจาะอุโมงค์สายสีส้มจะดำเนินการลักษณะเดียวกับสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงใต้ เป็น 2 อุโมงค์คู่ขนานกัน ขุดเจาะลึกจากผิวดินประมาณ 30 เมตร ใช้เทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์ Tunnel Boring Machine (TBM) ชนิดสมดุลแรงดันดิน ควบคุมแรงดันภายในหัวเจาะให้เท่ากับแรงดันดินด้านหน้าหัวเจาะไม่ให้เกิดการเคลื่อนตัวของดิน และทรุดตัว หรือการปูดของดินที่ระดับผิวดิน ประสิทธิภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10-15 เมตร
เส้นทางส่วนตะวันตก มีจุดที่ต้องลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมระหว่างสถานีศิริราช และสถานีสนามหลวงด้วย งานก่อสร้างไม่ยาก และไม่น่ามีปัญหาใด เพราะบริษัทฯ มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว สิ่งที่น่ากังวลอยู่ที่การบริหารจัดการจราจรเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย เพราะเส้นทางนี้ผ่านย่านใจกลางเมือง มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่แล้ว โดยเฉพาะถนนราชปรารภ และถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จะประสานตำรวจอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดจราจรให้ลดผลกระทบมากที่สุดและอำนวยความสะดวกประชาชนให้ดีที่สุด
ใจความสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีส้มคือผ่าใจกลางเมืองเชื่อมโยงกรุงเทพฯฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก จากบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ด้วยระยะทาง 35.9 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กม. (21 สถานีใต้ดิน) และยกระดับ 8.9 กม. (7สถานียกระดับ) รวม 28 สถานี
โครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. รวม 17 สถานี เป็นใต้ดิน 10 สถานีและยกระดับ 7 สถานี ก่อสร้างเสร็จ100% เนื่องจากรฟม. แยกประมูลออกไป รอBEMติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและจัดหาขบวนรถมาเดิน มีแผนเปิดบริการปลายปี 2570 จะทะลุโครงการส่วนตะวันตก 13.4 กม. 11 สถานีใต้ดิน ตามแผนเปิดบริการตลอดเส้นทางภายในปี 2573
อดทนปัญหารถติดให้รถไฟฟ้าสายใหม่ลำดับที่ 10 ของประเทศไทยได้ทำงาน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางยิ่งขึ้น ด้วยค่าโดยสารแค่ 20 บาท(ทุกสีทุกสาย) ตามนโยบายรัฐบาลชุดนี้ถ้าอยู่ถึง
……………………………………..
นายสปีด
***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต