ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทส ถดถอยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อรัฐบาลปารีส ประณามการใช้ความรุนแรงของกองทัพอาเซอร์ไบจาน ต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอาร์เมเนีย ในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ที่แยกตัวออกไป

นอกจากนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสยังกล่าวหาว่า รัฐบาลบากูเริ่มแทรกแซงกิจการ รวมถึงปลุกปั่นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในดินแดนโพ้นทะเล และเขตปกครองตนเองของฝรั่งเศส ตลอดจนกระตุ้นความรู้สึกต่อต้านฝรั่งเศส ผ่านทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของรัฐ

ความไม่เป็นมิตรเหล่านั้น ขยายวงกว้างไปทั่วท้องถนนของกรุงบากู ซึ่งผู้คนต่างแสดงความโกรธเคืองอย่างเปิดเผย ต่อฝรั่งเศสของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง

ภายหลังการจลาจลที่รุนแรงในนิวแคลิโดเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลบากูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับบรรดาผู้นำพรรคที่สนับสนุนเอกราช ของดินแดนเฟรนช์โปลินีเซีย เกี่ยวกับ “สิทธิในการปลดอาณานิคม”

ขณะที่ นายเฌราร์ ดาร์มาแน็ง รมว.มหาดไทยและดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ในเวลานั้น กล่าวว่า อาเซอร์ไบจานไม่ใช่จินตนาการ แต่เป็นความจริง และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวนิวแคลิโดเนียบางส่วน ทำข้อตกลงกับรัฐบาลบากู อีกทั้งการแทรกแซงของอาเซอร์ไบจาน ยังส่งผลกระทบต่อดินแดนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟรนช์เกียนา, หมู่เกาะแอนทิลลีส, แคว้นมายอต และเฟรนช์โปลินีเซีย

ต่อมาในเดือน ก.ค. พรรคการเมืองที่สนับสนุนเอกราช จากดินแดนโพ้นทะเลหลายแห่งของฝรั่งเศส เห็นพ้องกับการจัดตั้ง “แนวร่วมปลดปล่อย” ในการประชุมที่กรุงบากู โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่มีอาเซอร์ไบจานหนุนหลัง

อนึ่ง แหล่งข่าวทางการทูตของฝรั่งเศส ระบุว่า การที่รัฐบาลบากู “กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์” ต่อฝรั่งเศส เป็นเรื่องที่น่ากังวล แม้มันจะไม่นำไปสู่การแตกแยกอย่างสมบูรณ์ก็ตาม

กระนั้น ความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสกับอาเซอร์ไบจานก็เพิ่มขึ้น เมื่อรัฐบาลปารีสแนะนำพลเมืองของตนเอง ไม่ให้เดินทางไปยังอาเซอร์ไบจาน หลังชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ในข้อหาพ่นกราฟฟิตี้บนรถไฟใต้ดินในเมืองบากู รวมถึงกรณีที่ผู้เห็นต่างชาวอาเซอร์ไบจานคนหนึ่ง ถูกแทงเสียชีวิตที่บ้านของเขาในเมืองมิวลูส ทางตะวันออกของฝรั่งเศส เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งคำถามเกี่ยวกับการเสียชีวิตข้างต้นยังวนเวียนอยู่ในประเทศ และทางการยังไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ มีความมั่นคงมานานหลายปี จนกระทั่งแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อปีที่แล้ว หลังรัฐบาลบากูยึดคืนภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค จากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอาร์เมเนีย ซึ่งควบคุมพื้นที่ดังกล่าวมานาน 30 ปี

อย่างไรก็ตาม นายราอุฟ มีร์กาดิรอฟ นักวิเคราะห์การเมืองในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า อาเซอร์ไบจานตระหนักดีถึง “เส้นแดง” ของประชาธิปไตยตะวันตก และพยายามไม่ก้าวล้ำเส้นนั้น

แม้อาเซอร์ไบจานวิพากษ์วิจารณ์ฝรั่งเศส แต่บริษัทฝรั่งเศสหลายแห่ง ยังคงลงทุนในกรุงบากู และอุตสาหกรรมพลังงานที่เฟื่องฟู ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มีร์กาดิรอฟ มองว่า ความสัมพันธ์อาเซอร์ไบจาน-ฝรั่งเศส “ไม่ได้ถูกทำลายอย่างสิ้นหวัง”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES