หลังได้รับเลือกจากการร่วมทุนของบริษัท ฮุนได และบริษัท แอลจี ของเกาหลีใต้ ให้ดำเนินการสร้างโรงงานแบตเตอรี่อีวี มูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 37,200 ล้านบาท) ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังมองหาวิธีเพิ่มการลงทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และกลายเป็นศูนย์กลางด้านรถอีวีในระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนชี้ให้เห็นว่า แม้อินโดนีเซียมีปริมาณสำรองนิกเกิลมากที่สุดในโลก แต่ประเทศยังคงเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เนื่องจากความสามารถในการแปรรูปและการกลั่นที่ไม่ดี, ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของแบตเตอรี่ประเภทอื่น ๆ
นอกจากนี้ อินโดนีเซียต้องพยายามอย่างหนักเพื่อแซงหน้าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างประเทศไทย เนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดของยอดขายรถอีวีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงถึง 78.7% เมื่อช่วงต้นปี 2566 ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ซึ่งมีส่วนแบ่งเพียง 8% เท่านั้น
ด้านฮุนได ระบุว่า โรงงานแห่งใหม่ ถือเป็นพันธกรณีที่จะช่วยให้อินโดนีเซีย กลายเป็นผู้ผลิตรถอีวีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว และแสดงให้เห็นว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนความปรารถนาของรัฐบาลจาการ์ตา ในการเป็นศูนย์กลางรถอีวีในภูมิภาคแห่งนี้
อนึ่ง รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดเผยสิ่งจูงใจหลายประการ เพื่อกระตุ้นตลาดรถอีวี รวมถึงการยกเว้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขาย และทำให้แบรนด์สำคัญจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “บีวายดี” ของจีน และ “วินฟาสต์” ของเวียดนาม เข้าสู่ตลาดของอินโดนีเซีย
ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์แห่งอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นว่า อินโดนีเซียขายรถอีวีให้กับตัวแทนจำหน่าย มากกว่า 23,000 คัน ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับ 17,000 คัน ในปี 2566 อีกทั้งภายใต้กฎระเบียบที่เปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว รถอีวีที่นำเข้ามายังอินโดนีเซีย จะไม่ต้องเสียภาษีจนถึงปี 2568 หากบริษัทตกลงที่จะสร้างโรงงาน และดำเนินการผลิตรถยนต์ในประเทศให้ได้เท่ากับจำนวนรถอีวีที่พวกเขานำเข้า ภายในสิ้นปี 2570
ทั้งนี้ นายรัชมัต ไกมุดดิน เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งลาออกในการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลของพล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวว่า กุญแจสำคัญในกลยุทธ์ของรัฐบาลจาการ์ตา คือการดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ ก่อนดำเนินการตั้งโรงงานในที่อื่น ซึ่งเขาชี้ให้เห็นว่า แหล่งสำรองนิกเกิล ช่วยสร้างความแตกต่าง และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้กับประเทศ เนื่องจากไทย และเวียดนาม ไม่มีสิ่งนี้
กระนั้น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งแม้อินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่รถอีวี 3 อันดับแรกของโลก แต่การลงทุนในภาคส่วนนี้ ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และอินโดนีเซียจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบสำหรับโรงงานแห่งใหม่ รวมถึงนิกเกิลแปรรูป จากเกาหลีใต้และจีน เนื่องจากประเทศขาดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
อีกด้านหนึ่ง นักสิ่งแวดล้อมหลายคนกล่าวเตือนว่า การทำเหมืองนิกเกิล เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซีย ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพิ่มขึ้นของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (แอลเอฟพี) ซึ่งมีราคาถูกกว่า และใช้กันอย่างแพร่หลายในจีน อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ได้.
เลนซ์ซูม
เครดิตาพ : AFP