แต่ขณะนี้ “เรดิโอเอเรนา” (Radio Erena) สื่ออิสระเพียงหนึ่งเดียวของเอริเทรีย ซึ่งถ่ายทอดข่าวที่เชื่อถือได้มาเป็นเวลานานถึง 15 ปี จากสตูดิโอในเมืองหลวงของฝรังเศส ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม และเสี่ยงต่อการหยุดออกอากาศ เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุน
ตามข้อมูลจากทีมงาน สื่อบางสำนักพยายามต่อต้านการแพร่ภาพกระจายเสียงจากต่างประเทศ โดยพวกเขาส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองของเอริเทรีย ส่วนเรดิโอเอเรนา เป็นสื่อเพียงรายเดียวที่ “เป็นอิสระ” และ “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”
ทั้งนี้ เรดิโอเอเรนา ออกอากาศรายการน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ในภาษาทิกริญญา และภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นสองภาษาหลักของเอริเทรีย อย่างไรก็ตาม การประมาณการจำนวนผู้ฟังนั้นทำได้ยาก เนื่องจากประเทศมีการเข้าถึงที่จำกัด โดยองค์กรสื่อ “ดีดับเบิลยู อคาเดมี” ของเยอรมนี ระบุเมื่อปี 2560 ว่า ชาวเอริเทรีย 520,000 คน ฟังเรดิโอเอเรนาอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งละครั้ง จากประชากรทั้งหมดราว 3.5 ล้านคน
ด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) ซึ่งช่วยก่อตั้งสื่ออิสระแห่งนี้ในปี 2552 ระบุว่า คลื่นสัญญาณของเรดิโอเอเรนา ถูกรบกวนบ่อยครั้ง อีกทั้งในปี 2555 เจ้าหน้าที่รัฐเอริเทรียยังกล่าวหาว่า สถานีวิทยุแห่งนี้ยุยงปลุกปั่นให้ผู้ฟัง “ก่อความรุนแรงต่อตัวแทนของรัฐบาลเอริเทรีย” ส่งผลให้เรดิโอเอเรนา ไม่สามารถออกอากาศได้เป็นเวลานานเกือบ 8 เดือน
ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีเสรีภาพสื่อของอาร์เอสเอฟ ก็จัดให้เอริเทรียอยู่ที่ “อันดับสุดท้าย” จากทั้งหมด 180 ประเทศ เนื่องจากประเทศมีชื่อเสียงฉาวโฉ่จากการควบคุมตัวนักข่าวนานกว่าประเทศอื่นใดในโลก
“ชาวเอริเทรียต้องการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่อีกฟากหนึ่งของโลก เช่นเดียวกับพื้นที่นอกพรมแดนของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของเอธิโอเปีย ซึ่งกองทัพของเอริเทรีย ร่วมต่อสู้เคียงข้างกับกองกำลังรัฐบาลกลางเอธิโอเปีย เพื่อจัดการกับกลุ่มกบฏชาวทิเกรย์” บาตา กล่าว
ขณะที่ นายมาร์ก ลาแวร์ญ ผู้สันทัดกรณีด้านจะงอยแอฟริกา จากศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ “ซีเอ็นอาร์เอส” ของฝรั่งเศส กล่าวว่า สื่อของรัฐเอริเทรียนำเสนอ “ภาพลักษณ์ที่ลวงตาอย่างสิ้นเชิง” โดยให้ความรู้สึกว่า ทุกอย่างในเอริเทรียยังคงเป็นปกติ แต่ในความเป็นจริง เสรีภาพสื่อไม่มีอยู่ในประเทศ เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ
อนึ่ง นายมักซ็องส์ เปนีเกต์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของเรดิโอเอเรนา ชี้ให้เห็นถึงการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้ง ที่พยายามทำลายการดำเนินงานของสถานีวิทยุ และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ เงินทุนของเรดิโอเอเรนา กำลังจะหมดลง
“แหล่งเงินทุนจากผู้บริจาคภาคเอกชน รวมถึงองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) ในสหรัฐและยุโรป ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนอีกต่อไป และการหาผู้บริจาครายใหม่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เมื่อพิจารณาถึงวิกฤติที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก” เปนีเกต์ กล่าวเพิ่มเติม พร้อมกับเสริมว่า หากไม่มีเงินทุนก้อนใหม่ เรดิโอเอเรนาจะสูญเสียงบประมาณปี 2568 เกือบครึ่งหนึ่ง และสถานีวิทยุแห่งนี้อาจเงียบหายไป “ในอีกไม่กี่เดือน”.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP