ระบบการแพทย์ของประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีอีกหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศที่ต้องมีการพัฒนาทั้งในแง่ของ “ความครอบคลุม” และ “ศักยภาพ” เพราะพื้นที่แต่ละภูมิภาคของประเทศมีหลายลักษณะ โดยเฉพาะป่า ภูเขาสูงหนทางยากลำบากแก่การเข้าถึง จึงต้องพัฒนาการแพทย์ในพื้นที่ให้ดีเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างสะดวก ครอบคลุมความเจ็บป่วยให้มากที่สุด

ยกตัวอย่าง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อน การเดินทางคดเคี้ยวและค่อนข้างไกลจากตัวเมือง ดีที่มี “รพ.สบเมย” ซึ่งคอยดูแลประชากรกว่า 47,784 คน ที่กระจัดกระจายกันตามเขา

นพ.พิทยา หล้าวงค์ ผอ.รพ.สบเมย ระบุว่า รพ.สบเมย เป็นรพ.ชุมชนขนาด 30 เตียง ทำหน้าที่เป็นรพ.แม่ข่ายโซนใต้ของจ.แม่ฮ่องสอน ที่ดูแลประชาชนครอบคลุมพื้นที่อำเภอสบเมย และพื้นที่รอยต่อ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และรอยต่อ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมถึงการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนเมียนมา ที่ผ่านมาได้ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 50,000–100,000 ราย ส่วนผู้ป่วยในเฉลี่ยปีละกว่า 2,000 คน

รพ.สบเมย ทำหน้าที่ทั้งการตรวจรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและฟื้นฟูสภาพมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี โดยแบ่ง การให้บริการแบ่งออกเป็นโซน 3 อาคาร ได้แก่ 1. อาคารผู้ป่วยนอก ประกอบไปด้วยการให้บริการผู้ป่วยนอกจำนวน 6 ส่วน ได้แก่ อุบัติเหตุและฉุกเฉิน คลินิกทันตกรรม ห้องคลอด ห้องรังสีและฉายแสง ห้องแล็บ และห้องจ่ายยา

2. อาคารกลาง ประกอบไปด้วยการให้บริการจำนวน 22 คลินิก ได้แก่ คลินิกเมทาโดน คลินิกแม่และเด็ก คลินิกโรคหอบหืด คลินิกโรคไต คลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คลินิกโรคไม่ติดต่อมีภาวะแทรกซ้อน คลินิกวาร์ฟาริน คลินิกโรคความดันโลหิตสูง คลินิกจิตเวช คลินิกจิตสังคมบำบัด คลินิกนิรนาม คลินิกโรคเบาหวาน คลินิกผู้พิการ คลินิกพัฒนาการเด็ก คลินิกโรคเรื้อน คลินิกวัณโรค คลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกโรคหัวใจ คลินิกโรคหลอดเลือดสมอง คลินิกสุขภาพเด็กดี งานแพทย์แผนไทย และงานกายภาพบำบัด และ 3. อาคารผู้ป่วยใน

ปัญหาขณะนี้คือ ในส่วนของอาคารกลาง มีคลินิกจำนวนมาก และการให้บริการผู้ป่วย 15,776 ครั้งในปีงบประมาณ 2566 มีการใช้พื้นที่ทุกวัน ไม่เพียงพอต่อการรองรับบริการ และยังยากต่อการบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้บางคลินิกต้องแยกออกมาตรวจบริเวณโรงจอดรถ โดยการกางเต็นท์ให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เพื่อลดความแออัด ไม่ใช่แค่ข้อจำกัดพื้นที่บริการผู้ป่วยหรือญาติ แต่ยังรวมถึงพื้นที่ทำงานของบุคลากรก็หนาแน่น ทั้งที่บุคลากรคือด่านหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยหลักหลายร้อยคน ประกอบกับอาคารหลังนี้ใช้มาเกือบ 30 ปี เริ่มชำรุดทรุดโทรม แต่ยังต้องเปิดให้บริการผู้ป่วยทุกวัน ซึ่งประมาณการปรับปรุงอาคารใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านบาท

แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการซ่อมแซมอาคาร แม้จะมีการทำเรื่องของบประมาณตามหลักเกณฑ์แล้ว แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่เพียงพอ จึงได้จัดทำ โครงการเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการต่อลมหายใจช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และปรับปรุงอาคาร รพ.สบเมย คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงระหว่างปีงบประมาณ 2568-2569 และจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ตั้งแต่ 1 ต.ค.2568 -30 ก.ย.2569สำหรับการบริจาคเงินในโครงการต่อลมหายใจช่วยชีวิต..ผู้ป่วยฯ ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ บัญชีออมทรัพย์ สาขาแม่สะเรียง เลขที่บัญชี 020173387942 โดยทางรพ.สบเมยจะนำส่งข้อมูลการบริจาคให้สรรพากรในระบบ e-donation ทั้งนี้หากประสงค์รับใบเสร็จรับเงิน สามารถติดต่อฝ่ายการเงิน รพ.สบเมย เลขที่ 248 หมู่ 3 .แม่คะตวน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 58110.