สัปดาห์ที่แล้ว เขียนถึงเรื่องราวของ ปัญหาการก่อสร้าง ถนนพระราม 2ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ธนบุรี–ปากท่อ)ระยะทางกว่า 84 กม. ถือเป็น ต้นตำนาน ถนน 7 ชั่วโคตรเมืองไทย ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ถนนเส้นนี้ไม่เคยว่างเว้น สารพัดโครงการก่อสร้างฯ ยิ่งล่าสุดมาเกิดเหตุโศกนาฏกรรม ขณะกำลังวางโครงเหล็กติดตั้งสะพานขนาดมหึมา ของ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ M82)จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 6 ราย
ปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างถนนพระราม 2 ของเมืองกรุง ขณะเดียวกันใน เมืองน้ำดำ กาฬสินธุ์ ก็มีจนชาวบ้านถึงขั้นติดป้ายประจาน ถนน 7 ชั่วโคตร เช่นกัน ไม่ได้มีเพียงแค่สร้างถนน เพราะเป็น โครงการก่อสร้างพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 8 โครงการ งบประมาณ 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
จัดสรรงบประมาณลงมาเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ยังไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว!!
ตั้งแต่ต้นปี 2567 เดลินิวส์จัด ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลาง ลงไปเกาะติดเรียกว่านำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ อธิบดีกรมโยธาฯ รวมทั้งอีกหลายหน่วยงานต่างลงมาดู กระทั่งกรมโยธาฯ สั่งยกเลิกสัญญา 2 หจก.ก่อสร้างฯ ทั้ง 8 โครงการ ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 67 และขึ้น บัญชีดำ หมดสิทธิเข้าประมูลรับงานจากกรมโยธาฯ ทุกโครงการ แต่มีสิ่งที่เงียบงันอยู่ มาตรการลงโทษตามระเบียบพัสดุ กระทรวงการคลัง และตามกฎหมาย เพื่อเอาผิด ผู้รับเหมา ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มีใครรู้ว่า ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้บ้างหรือยัง
ปัจจุบันสภาพความเสียหายของ การก่อสร้างทั้ง 8 โครงการฯ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ บั่นทอนความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวกาฬสินธุ์มาตั้งแต่ปี 2562 นับวันจะลุกลามมากขึ้น มีการวิจารณ์ว่า “2 หจก.ก่อสร้างฯ” เบิกเงินหลวงไปแล้ว 15% (กว่า 100 ล้าน) กำลังจะล้มบนฟูก ทั้งที่ชาวบ้านและกลุ่มผู้รับเหมารายย่อยกำลังเดือดร้อน
ปลายสัปดาห์ก่อน ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร นำคณะ กมธ.ป.ป.ช. ชุดใหญ่ลงไปร่วมตรวจสอบให้เห็นกับตา หวังจะนำไปใช้เป็น โมเดลป้องกันปัญหาทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง การทิ้งงาน การตรวจงานจ้าง ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง ทำให้พบ “8 ข้อพิรุธ”
1.เอกสารการเริ่มต้นสัญญาทั้งหมด 2.การขยายเวลาก่อสร้างแต่ละโครงการว่าขยายเวลากี่ครั้งในแต่ละครั้งด้วยเหตุผลอะไร 3.เหตุผลยกเลิกสัญญา 4.การประเมินค่าความเสียหายระหว่างการทำงานและการทิ้งงาน 5.การเรียกค่าความเสียหายจากผู้รับจ้าง 6.รายละเอียดการเบิกจ่าย 15%ในแต่ละโครงการทำอย่างไร คืนเงินในช่วงที่เบิกจ่ายหรือไม่ 7.บันทึกประจำวันของกรรมการผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และ 8.ผลการที่กรมโยธาฯดำเนินการทางปกครองอย่างไรกับ 2 หจก.ที่ทิ้งงาน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางปกครองหรือการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายคืนให้กับแผ่นดิน
นายกฯอิ๊งค์–แพทองธาร ชินวัตร จะแถลงผลงานรัฐบาลช่วง 90 วัน ในวันพฤหัส 12 ธ.ค.นี้ ก้าวต่อไปในปี 2568 จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริงแล้ว อย่าลืมย้อนไปดูผลกระทบปัญหา 7 ชั่วโคตรกาฬสินธุ์ ที่กำลังสร้างความเดือดร้อน เวลานายกฯ เดินสายต่างจังหวัด ลองเลือกไปสัมผัสถึงปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่บ้าง อย่าไปดูแต่โครงการผักชี
อย่างน้อยจะได้รับรู้ถึงโครงการก่อสร้างฯที่กำลังเกิดปัญหา แต่ละหน่วยงานนำเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือ “เงินแผ่นดิน” ที่จัดสรรผ่านแผนงานและโครงการเพื่อหวังพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ นั้น บริหารเงินได้คุ้มค่าหรือนำไปใช้แบบไร้ค่า? ที่สำคัญได้แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเช่นไรกันบ้าง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกในอนาคต!!.
………………………………..
เชิงผา