“จงยิ้มต่อไป ทิ้งหยดน้ำตาเอาไว้ คิดถึงความสดใส ลืมเลือนความกลัวไป หัวเราะเข้าไว้ ไม่ต้องใส่ใจความเจ็บปวด จงมีแต่ความสดใส ทิ้งทุกอย่างที่ไม่ควรค่าแก่การจดจำไว้ในปีเก่า”
ในรอบปีที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์” มันกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่นับวันยิ่งน่ากลัว ยิ่งอันตราย ไม่รู้เลยว่าเราหรือคนรอบตัวเราจะตกเป็นเหยื่อเมื่อไหร่วันไหน บางคนสูญเสียทรัพย์จนเป็นโรคซึมเศร้า บางคนสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนถึงขั้นคิดสั้นเลยก็มี
ที่สำคัญประชาชนเท่านั้นที่ต้องรับชะตากรรมเพียงลำพัง ธนาคารและค่ายโทรศัพท์มือถือที่ใช้บริการอยู่นั้นไม่ต้องมาร่วมรับผิดชอบอะไรด้วย มันจึงมีผู้คนจำนวนมากรู้สึกไม่ยุติธรรม เนื่องจากหลายคนมองว่าธนาคารกับค่ายมือถือควรจะมีระบบป้องกันการโจรกรรมที่แน่นหนากว่านี้
แต่จากที่ประเทศสิงคโปร์บังคับใช้กฎหมายให้ธนาคาร และค่ายโทรศัพท์มือถือ ร่วมรับผิดชอบหากลูกค้าถูกหลอกผ่านช่องทางออนไลน์ มันจึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินรอยตาม
กระทั่งมีการยืนยันจากตำรวจ สอท. ว่า ในไทยก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยหากเทียบมาตรการของประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์ถือว่ามีความใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่า อาจมีบางมาตรการที่มีความชัดเจน อย่างในเรื่องของการป้องกันกรณีบัญชีกับโทรศัพท์
ซึ่งประเทศไทยเรามีการกำหนดเหตุอันควรสงสัยสำหรับสถาบันการเงินเอาไว้ 19 ข้อ อาทิ บัญชีที่มีการโอนเงินเข้าและออกที่มีมูลค่าน้อย ในระยะสั้นหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการโอนยอดเงินสูงออกจากบัญชีดังกล่าวไปทันที, บัญชีที่มีปริมาณการโอนเงินเข้าออกจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
ทางสถาบันการเงินได้เสนอเพิ่มอีกหนึ่งข้อ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเสนอเพิ่มอีกหนึ่งข้อ คือ พฤติกรรมต้องสงสัยเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี โดยทางสถาบันการเงินได้รับเรื่องไปพิจารณา ซึ่งพฤติกรรมต้องสงสัยเหล่านี้ทางสถาบันการเงินธนาคารจะใช้อำนาจตาม ม.6 แห่ง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระงับธุรกรรมไว้ก่อน 7 วัน เพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งอันนี้จะใกล้เคียงกับมาตรการที่ประเทศสิงคโปร์มี
ส่วนมาตรการในเรื่องของความรับผิดชอบ ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับสิงคโปร์ทันที ยกเว้นฉบับที่ 3 เรื่องธนาคาร และผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องร่วมรับผิด ที่เรามี พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กำหนดหน้าที่ให้ธนาคารและผู้ให้บริการโทรคมนาคมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษ
“ซึ่งในส่วนนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และ กสทช. สามารถออกกฎเพิ่มเติมได้”
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้มีกรณีตัวอย่างที่ศาลสั่งให้สถาบันการเงินชดใช้เงินให้กับผู้เสียหายในคดีคอลเซ็นเตอร์และคดีหลอกลวงทางออนไลน์
ซึ่งแนวทางศาลก็จะมาเทียบเคียงกับแนวทางทั้ง 19 ข้อว่าทางสถาบันการเงินได้ทำตามหรือไม่ หากไม่ทำตามก็ต้องมีการรับผิดชอบร่วมความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกรณีทางแพ่ง แต่หากจะมีโทษทางอาญาเหมือนประเทศสิงคโปร์นั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กสทช. จะต้องไปออกกฎ
ทั้งพูดง่ายๆคือขณะนี้ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
โดยมาตรการที่ 1 การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ และโอเปอเรเตอร์ มาตรการที่ 2 คือ การจ่ายเงินคืน และมาตรการที่ 3 เพิ่มโทษผู้กระทำความผิด ส่วนรายละเอียดการคืนเงินให้กับผู้เสียหายอยู่ระหว่างการพูดคุย ซึ่งยังไม่มีกำหนด และไม่ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา สามารถดำเนินการได้เลย
โดยถ้าแนวทางหากออกมาตรการไปแล้ว และโอเปอเรเตอร์รวมถึงธนาคาร ไม่ปฏิบัติตามทำให้เกิดความเสียหาย ต้องมีส่วนร่วมในเงินที่ประชาชนเสียไป ทั้งนี้ มติของที่ประชุมระบุว่าต้องดำเนินการเพื่อตัดทุกช่องทางของมิจฉาชีพ ซึ่งทางผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และธนาคารต่างเห็นด้วย
ที่สำคัญตั้งแต่ในวันที่ 1 ม.ค. 68 จะมีอีก 1 มาตรการออกมาเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต คือ การส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์ต่างๆ ที่จะมีการแนบลิงก์เพื่อลงทะเบียน ผู้ส่งต้องแจ้งสถานะว่า เป็นใคร หากไม่พบข้อมูลผู้ส่ง โอเปอเรเตอร์จะมีการระงับการส่งดังกล่าว
ซึ่งการแก้ไข พ.ร.ก. ครั้งนี้ เป็นการนำบทเรียนจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่งออกกฎหมายลักษณะเดียวกันมาใช้ โดยไทยหวังให้มาตรการนี้สามารถปิดทุกช่องโหว่ที่มิจฉาชีพเคยใช้ผ่านระบบธนาคารและผู้ให้บริการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความหลอกลวง หรือการโอนเงินเข้าสู่บัญชีมิจฉาชีพ
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาย้ำว่า เห็นด้วยกับแนวทางในลักษณะนี้ ว่าต้องกำหนดหน้าที่กันให้ชัดเจนถึงความรับผิดชอบของธนาคาร ค่ายมือถือ ซึ่งอาจเพิ่มแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้าไป รวมถึงแนวทางการชดใช้ผู้เสียหายที่ต้องแบ่งความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม
คงต้องจับตากันดูว่าผลลัพธ์ของการร่วมรับผิดชอบนี้จะเห็นผลชัดเจนมากแค่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มการป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินได้ เพราะหากมีการแจ้งเตือนลูกค้าว่ากำลังโอนไปยังบัญชีต้องสงสัย รวมทั้งสามารถ หน่วง หรือ ระงับธุรกรรม มันก็จะเป็นการลดความเสี่ยงได้ด้วย.
ข่าวสารตำรวจ
บุรีรัมย์พร้อมรับมือ
ที่ห้องประชุม ศปก. อาคารตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พ.ต.อ.ชูสิทธิ์ หล่อแสง รอง ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านการจราจรและความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ร่วมประชุมบูรณาการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการบูรณาการ ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และรับทราบแผนบูรณาการในการเตรียมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยได้มีการประชุมทางไกลผ่านวีดิโอคอนเฟอร์เร้นท์ เพื่อรับมอบนโยบายจาก พล.ต.ท.วัฒนา ยี่จีน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค3
ซ้อมแผน
พ.ต.อ.รักชาติ เรืองเจริญ ผกก.สภ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น มอบหมายให้ ร.ต.อ.ณัฐสิทธิ์ พันธุ์ศรี รอง สว.สส. ร.ต.อ.ภาณุพันธ์ สุพันทวี รอง สวป.สภ.ชุมแพ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ เข้าร่วมซ้อมแผน เหตุการณ์ผู้ป่วยจิตเวชเกิดคลุ้มคลั่งเอะอะโวยวาย คว้ามีดกรรไกรเป็นอาวุธจับเจ้าหน้าที่เวรเปลจี้เป็นตัวประกัน เพื่อทำความเข้าใจกรอบการปฏิบัติ รวมถึงขั้นตอนปฏิบัติในการระงับเหตุให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์จริง
เตรียมพร้อมช่วงปีใหม่
พ.ต.อ.ธรรมรัฐ อัครไชยพงศ์ ผกก.สภ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พร้อมด้วย พ.ต.ท.มาโนช เพ็ชรประกอบ รองผกก.ป.พ.ต.ท.ภัทรธน เจริญผล รองผกก.(สืบสวน) พ.ต.ท.นันทพนธ์ นาในบุญ รองผกก.(สอบสวน) พ.ต.ต.ชานนท์ ลิ้มสิริวัฒนกุล สารวัตรควบคุมงานจราจร และข้าราชการตำรวจในสังกัด ร่วมประชุมบริหาร กำชับการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตำรวจ พร้อมมอบนโยบายการบริหารและข้อสั่งการในการเตรียมความพร้อมตามมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้บังคับใช้กฎหมาย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ประชาชนและผู้ใช้รถ ใช้ถนนในพื้นที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
ขวัญกำลังใจ
พ.ต.อ.กานตภณ วรรณา ผกก.สภ.คูคต จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย ธัญญพร เกตุวัฒนา ภรรยา มอบของขวัญให้กับข้าราชการตำรวจและบุคลากร สภ.คูคต ทุกนาย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ พ.ศ.2568
ปล่อยแถว
พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.ภ.7 เป็นประธานพิธีปล่อยแถวป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อย การบังคับใช้กฎหมาย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ 2568
ชาวบ้านชื่นชม
พ.ต.อ.กานตภณ วรรณา ผกก.สภ.คูคต จ.ปทุมธานี ทำงานขับเคลื่อนยกระดับการบริการอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนสะดวกรวดเร็ว ได้รับประโยชน์สูงสุด ถ้าไม่ได้รับความสะดวกหรือเป็นธรรมเข้าพบเป็นการส่วนตัวได้ทันที ชื่นชมครับ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ขอให้เป็นปีมหหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยความสุขทั้งด้านการเงินการงาน สุขภาพ และการดำรงชีวิตประจำวันทุกๆท่าน.
********************************
คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป