เมื่อถึงเวลาขึ้นปีใหม่ หลายคนนิยมตั้งเป้าหมายที่อยากจะทำให้สำเร็จในปีนั้น ๆ หรือที่เรียกกันว่า “ปณิธานปีใหม่” ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เป้าหมายทางสุขภาพ, หน้าที่การงานหรือการศึกษา ฯลฯ โดยรวมแล้วล้วนมาจากความตั้งใจที่จะปรับปรุงตัวเอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน 2 เดือน จนถึงครึ่งปี เป้าหมายเหล่านั้นอาจไม่มีความคืบหน้าหรือไร้แนวโน้มที่จะสำเร็จโดยสิ้นเชิง ความล้มเหลวระหว่างทางนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็มีบางคนที่สามารถทำได้สำเร็จเพราะเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ และการเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ดังนี้
ตั้งเป้าหมายที่มีแรงบันดาลใจช่วยผลักดัน
หมายถึงตั้งเป้าหมายโดยเลือกหัวข้อที่เรามีแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง เลือกสิ่งที่เราสนใจอย่างมากจนกลายเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลังให้เรามุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ยกตัวอย่างเรื่องของ แดเนียล มินิ ครูสาวใหญ่วัย 55 ปี ผู้ตั้งปณิธานเมื่อปีที่แล้วไว้ว่า “จะไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดปี” เพราะเธอสนใจเรื่องผลกระทบของอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จึงตั้งใจว่าจะไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยการเลือกซื้อเฉพาะเสื้อผ้ามือสองหรือจากร้านขายของเพื่อการกุศล และเธอประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายกว่าที่คิดไว้ ทำให้เธอรู้สึกดีและประสบความสำเร็จ
ทำให้เป้าหมายเป็นเรื่องน่าสนุก
บางทีการเขียนเพียงปณิธานหรือเป้าหมายเฉย ๆ อาจดูเลื่อนลอย ไม่ค่อยน่าติดตามเท่าไหร่ แต่หากเปลี่ยนวิธีการให้กลายเป็นเรื่องสนุก คล้ายการเล่นเกม แบ่งเป้าหมายเป็นขั้นตอนย่อย ๆ แล้วเมื่อทำสำเร็จแต่ละขั้นตอน ก็อาจมีรางวัลให้ตัวเอง หรือเปลี่ยนจากการเป้าหมายยิ่งใหญ่หรือยากเกินไป เป็นเป้าหมายเล็ก ๆ สัก 5-10 อย่างที่คิดว่าน่าสนุกและอยากทำ เช่น การเรียนดนตรี, เล่นกีฬาที่ไม่เคยเล่นมาก่อน, ลองทำอาหารแปลก ๆ, หัดวาดรูป ฯลฯ ซึ่งทำได้ง่ายกว่า และสนุกกว่าด้วย
ให้ความสำคัญต่อความมุ่งมั่นแทนกิจกรรม
การตั้งเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงมีข้อดีคือมีความชัดเจนและทำให้เรามุ่งมั่นได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากทำไม่ได้หรือเกิดความผิดพลาดจนทำให้ไม่บรรลุเป้าหมาย ก็อาจทำให้เรารู้สึกท้อแท้ได้อย่างมากเช่นกัน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นแค่เจตนารมณ์หรือความตั้งใจที่จะทำในขอบข่ายของกิจกรรมนั้น ก็จะมีตัวเลือกที่ยืดหยุ่นมากกว่า
สมมติว่าเราตั้งเป้าจะลงแข่งวิ่งมาราธอนให้ได้ในปีนี้ แต่สุดท้ายเกิดบาดเจ็บ สุขภาพไม่แข็งแรงพอจะวิ่งระยะไกลมาก ๆ ได้ ก็เท่ากับเราสูญเสียเป้าหมายของปีนั้นไปเลย แต่ถ้าปรับเป็นแค่ว่า “จะลงแข่งกีฬาให้ได้สักครั้ง” เราก็ไม่จำเป็นต้องลงแข่งมาราธอนเท่านั้น อาจเป็นแค่การแข่งขันมินิหรือฮาล์ฟมาราธอน หรือเปลี่ยนไปเป็นกีฬาอย่างอื่นที่เหมาะกับเราในปีนั้น ๆ มากกว่าก็ได้
ตั้งเป้าหมายจากวิสัยทัศน์โดยรวม
อาจพูดได้ว่าเป็นการแบ่งเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเราเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วแบ่งทำไปทีละส่วนในแต่ละปี เพื่อให้บรรลุปลายทางได้ง่ายขึ้น
สมมติว่าเป้าหมายสูงสุดของเราคือการเที่ยวรอบโลก ซึ่งปัจจัยสำคัญมากคือเงินทุนและการเตรียมการต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถดึงมาทำเป็นเป้าหมายหรือปณิธานปีใหม่ได้ เช่น จำนวนของเงินที่ต้องการเก็บออม, การสะสมข้อมูลของประเทศที่ต้องการเดินทางไปเที่ยว, การเรียนภาษาเพิ่มเติมเพื่อการสื่อสารที่คล่องตัว
อย่ากดดันตัวเองว่าต้องเริ่มตั้งแต่ต้นปี
การเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ พร้อมกับการขึ้นศักราชใหม่อาจทำให้รู้สึกตื่นเต้นและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แต่ถ้าหากเรายังไม่พร้อมที่จะไปตามเป้าหมายตั้งแต่ตอนต้นปี ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนหรือร้อนรน ควรรอเวลาที่เหมาะสมหรือเวลาที่ “ใช่” สำหรับตัวเรา เพื่อไม่ให้การทำตามปณิธานของเราเป็นเรื่องขมขื่นหรือน่าทุกข์ใจ แทนที่จะเป็นเรื่องราวแห่งความสำเร็จที่เราสามารถชื่นชมได้ในตอนท้ายปี
ที่มา : yahoo.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES