ท่าทีของอดีตนายกฯแม้ว บางครั้งก็ทำให้นักข่าวหูเหลือกตาเหลือกกันหมด โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึง “ไอ้โม่ง”ที่ทำตัวเป็นไอ้เข้ขวางคลองกับงานของรัฐบาล ถ้าไปกันไม่ได้ก็ให้เขียนใบลาออก ( จากพรรคร่วมรัฐบาล ) ก็เดากันใหญ่ไอ้โม่งที่ว่าคือใคร ? เป้าหมายแรกเล็งไปที่ “เสี่ยหนู”นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ลูกพรรคดูออกอาการยึกยักเรื่องประชามติ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นคนที่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยมากที่สุด แต่ทางเสี่ยหนูปฏิเสธ แถมเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ยังพานายเนวิน ชิดชอบ นายกสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ดไปพบอดีตนายด้วย  

ส่วนทางฝั่งประชาธิปัตย์ที่เพิ่งไปร่วมรัฐบาล ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หัวหน้าพรรคบอกว่าไม่มีปัญหา และทิ้งเชื้อไว้ว่า “ใครทำอะไรรู้อยู่แก่ใจตัวเอง” เป้าหมายจึงพุ่งไปที่ “หัวหน้าตุ๋ย”พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ซึ่งชูนโยบายลดราคาพลังงาน ไม่ซื้อพลังงานส่วนเกินสำรองมากเกินความจำเป็น ..ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนายทุนพลังงาน จึงมี “ข่ายปล่อย” ว่า ทาง“ผู้มีอุปการคุณบางท่านของรัฐบาลไม่ค่อยปลื้ม” ไปจนถึงว่า ลูกพรรค รทสช.ก็ไม่ค่อยปลื้มหัวหน้าตุ๋ยค่าที่เข้าถึงยาก อาจเกิดกรณีลอยแพหัวหน้าตุ๋ย

ลอยแพอย่างไร ? ก็อย่างโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจต้นปีนี้ ถ้า รมว.พลังงานโดนด้วย ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม อาจเกิดสวิงเสียงที่ลูกพรรค รทสช.และคนในพรรคร่วมรัฐบาลบางคนไม่โหวตรับรองให้ เมื่อมีปัญหาพรรคแตกขึ้นมาจริงๆ ก็เตรียมตัวไปอยู่พรรคใหม่ ซึ่งก็มีข่าวอีกนั่นแหละว่า “เป็นพรรคที่นายทุนพลังงานตั้ง” โดยอาศัยเครือข่ายของ “ปลัดกระทรวงคนดังสมัย คสช.” ซึ่งน่าจะต้องช้อนตัวพวก สส.หรือพวกที่เคยสอบตกแต่คะแนนเกินสองหมื่นไปรวมกัน

การเมือง บางที“มูล”ที่ปล่อยออกมามันก็คือการโยนหินถามทาง หรือมีใคร“ได้กลิ่นจากวงใน”มาแล้วเอามาขยายความต่อ ก็อย่างดาราเลิกกันตอนแรกๆ ก็ปฏิเสธ ต่อมาก็ยอมรับ ข่าวการเมืองก็แบบนี้ ในช่วงที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าวิ่งเคลียร์สถานการณ์กันได้ ก็เงียบ แต่ถ้าเคลียร์ไม่ได้แตกหักกันจริง เราก็ได้เห็นจากร่องรอยที่ทิ้งไว้รายทางว่า “น่าจะเกิดจากอะไร”  ความจริงบางเรื่องต้องรอเวลาที่มันจะเปิดตัวขึ้นมาเอง   

เมื่อไม่กี่วันก่อน หัวหน้าตุ๋ยก็โพสต์เฟซบุ๊กยาวเหยียด เขียนถึงเรื่องผลงานที่ประชาชนเห็นแล้วตาลุกว่า ถ้าทำได้จริงๆ นี่คือลดรายจ่ายได้เยอะ และถ้าทำได้กระแสต่อรัฐบาลและพรรค รทสช.ดีขึ้นเต็มๆ ว่า “สลัดภาพรับใช้นายทุน” ..อย่างน้อยก็เจ้านึง..ออกไปได้ หัวหน้าตุ๋ยเขียนถึงสิ่งที่จะทำในปี 68 คือ การยื่นร่างกฎหมายกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อสภา ซึ่งกฎหมายนี้จะมีกติกาที่ไม่ให้ปรับราคาน้ำมันขึ้นลงรายวัน มีระบบพิสูจน์ต้นทุน และยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ โดยนำระบบต้นทุนบวกค่าใช้จ่ายจริงที่เรียกว่าระบบ COST PLUS มาใช้แทน ที่สำคัญคือ จะให้มีน้ำมันเพื่อเกษตรกร และชาวประมงในราคาที่ถูกลง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งและองค์กรสาธารณกุศลสามารถนำน้ำมันเข้ามาใช้ได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก รัฐสามารถจัดให้มีน้ำมันเพื่อผู้มีรายได้น้อยด้วย 

กฎหมายที่ทำเสร็จแล้ว คือกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์รูฟ ซึ่งจะพังทลายกฎเกณฑ์กติกาเดิมๆ ที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องยุ่งยากและล่าช้า ผมยกเลิกการขออนุญาตทุกรูปแบบโดยเปลี่ยนมาเป็นการติดตั้งได้ทันทีตามกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน  จากนั้นแต่ละหน่วยงานก็จะไปตรวจสอบเอง หากมีสิ่งใดต้องแก้ไขก็ว่ากันไป ไม่ต้องเสียเวลารอการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน  

จะร่างกฎหมายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง หรือStrategic Petroleum reserve (SPR) ที่จะนำมาใช้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ ซึ่งจะทำต่อจากกฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมัน หัวหน้าตุ๋ยว่า “ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเราไม่เคยมีสำรองน้ำมันของประเทศเลย ที่มีอยู่ก็เป็นการสำรองของภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นหลักตามกฎหมายการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น และเก็บสำรองเพียงประมาณ 20-25 วัน แต่หลักเกณฑ์ของการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศต้องไม่ใช่เพื่อการค้าแต่เพื่อประโยชน์ของชาติ และต้องมีสำรองขั้นต่ำ 90 วัน

ผมจะนำระบบนี้มาใช้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนการเก็บเงินจากการซื้อขายน้ำมันที่ไล่เก็บจากประชาชนไปเข้ากองทุนน้ำมัน เป็นระบบเก็บเป็นน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันแทน ระบบนี้จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงทันทีอย่างน้อย 2.50 บาท ถึง 4 บาทกว่าๆ แล้วแต่ประเภทของน้ำมันเพราะไม่มีการเก็บเงินส่วนนี้จากประชาชนอีก แล้วใช้น้ำมันในส่วนนี้ไปชดเชยราคาน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันแทนเงินที่เก็บจากประชาชน”

“ผมเคยพูดไว้ว่า สิ่งที่ผมทำเพื่อพี่น้องประชาชนจะมีคนที่เคยได้ประโยชน์กันมากว่า 50 ปีเป็นอย่างน้อยต้องเสียประโยชน์  เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงสองสามเดือนก่อนสิ้นปี 2567 ผมถูกกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อบางกลุ่มรุมกระหน่ำปั้นข่าวทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวเปิดตัวพรรคใหม่ทุนหนา ก็มีบัญชีอวตารเปิดใหม่พรึ่บเพื่อใช้ถล่มผมแบบไม่ยั้งมือ แต่ผมไม่เคยหวั่นไหวและจะทำในสิ่งที่ต้องทำเสมอครับ พอเห็นว่ากลยุทธ์แบบเดิมทำท่าจะเล่นงานไม่ไหว ก็ไปปั้นข่าวว่าผมขัดแย้งกับนายกฯบ้างขัดแย้งกับพรรคแกนนำรัฐบาลบ้าง ทั้งๆ ที่ผมและทั้งนายกฯ แพทองธารและอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสินไม่เคยมีอะไรขัดแย้งกันเลย  ทั้งสองท่านก็สนับสนุนการทำงานของผมตลอดมา”

หัวหน้าตุ๋ยได้ชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้ง ในกระทู้ของนายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว.  เรื่องมาตรการสนับสนุนตลาดพลังงานสะอาดผ่านโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop)  ว่า ที่ผ่านมาถูกเอื้อให้กับกลุ่มทุนที่รัฐบาลซื้อพลังงานหมุนเวียน เริ่มตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่รู้เพื่อความมั่นคงของใคร ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการหรือหลักการสำรองไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟให้กับประชาชนทั่วประเทศ มีโรงงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเลย แต่ยังได้เงินจากประชาชนผ่านค่า FT ที่สำคัญการรับซื้อนั้นไม่มีการประมูล

หัวหน้าตุ๋ยชี้แจงว่า  ไม่ทราบมาก่อนว่ามีการผูกขาดพลังงาน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง จึงยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ในทันที ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน  แต่ยังมีข้อผูกพันทางกฎหมายไม่ใช่ทำได้ทันทีที่อยากทำ ประเทศเราที่เหมาะสมที่สุดคือแสงอาทิตย์ ปัจจุบันที่ต้องปรับราคาไฟฟ้าเพราะผลิตจากแก๊ส และเราเจอภาวะราคาตลาดโลก  ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแยกส่วนการไฟฟ้าไปอยู่ในกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย เพราะเมื่อมีการแยกระหว่างการไฟฟ้านครหลวง  ( กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ.) ทั้ง 2 หน่วยงาน ต้องรับไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ( กฟผ.) ซึ่งต้องมีกำไร  ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย กฎหมายไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีมาตั้งแต่ปี 2511 ดังนั้นควรมีการปรับแก้ ปัญหาพลังงาน ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเห็น แต่ประเด็นคือใครจะเป็นคนทำ

ส่วนเรื่องการติดโซล่าร์รูฟนั้น  ต้องขออนุญาตถึง 5 หน่วยงาน ซึ่งซ้ำซ้อนและยุ่งยากมาก รวมถึงต้องรอเป็นปี  ในฐานะกำกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงาน ได้สั่งการแก้ระเบียบไปแล้ว วันนี้การแก้กฎหมายไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน อีกนานกว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รวมถึงเรื่องการหาเงินทุน  

เรื่องความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาราคาพลังงานนี้ ต้องยอมรับว่า รมว.พลังงานคนนี้ดูมีบทบาทชัดที่สุด อาจเรียกได้ว่าตั้งแต่มีกระทรวงพลังงานมาเลยก็ว่าได้ รัฐมนตรีก่อนหน้าหลายคนดูไม่ค่อยมีบทบาท อย่างสมัย คสช. แทบไม่มีคนจำบทบาท พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์,นายศิริ จิรพงษ์พันธ์,  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ได้ แต่มานายพีระพันธุ์ แค่นโยบายที่โพสต์ก็ชวนตาลุกว่า “ทำได้จริงไหม กลุ่มทุนพลังงานไม่ทุบเอาเหรอ”

สิ่งที่หัวหน้าตุ๋ยพูด กลายเป็นอะไรที่เป็น “วาระแห่งชาติ” ปี 2568 ที่น่าจะใหญ่ที่สุดทันที ( ไม่ต้องไปสนใจแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ดึงเช็งกันจนน่ารำคาญ ) หรือถ้าเห็นว่า วาระแห่งชาติมีหลายเรื่อง ปราบคอลเซนเตอร์ก็ใช่ ..ก็เอาเป็นว่า ลดราคาพลังงานได้คือวาระแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ ลองคิดดูว่า แจกเงินหมื่นครั้งเดียว กับตัดเรื่องการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันลด ค่าไฟฟ้าไม่ต้องอิงค่าเอฟที ( ค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยน ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน  รวมถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ มีการปรับทุก 4 เดือน ) อะไรดีระยะยาวกว่ากัน กระบวนการอาจช้าเพราะขั้นตอนตามกฎหมาย  แต่พรรคร่วมรัฐบาลไหนค้านก็แปลก

คิดว่าประชาชนก็คงลุ้นๆ กันว่า กฎหมายจะผ่านได้เมื่อไร หรือจะมีรูปแบบการสกัดอะไรที่คาดไม่ถึงนอกจากการดึงเช็งเรื่องไปเรื่อย แต่เรื่องนี้ตัวหัวหน้าตุ๋ยเอง ยืนยันว่า “เป็นนโยบายที่ผลักดันตั้งแต่นายกฯเศรษฐา มาจนถึงนายกฯแพทองธาร” เหมือนกับว่า ทางฝั่งเพื่อไทยถ้าจะเห็นต่างก็อาจถูกทวงถามด้วยคำนี้  

 ในเรื่องที่มีผลประโยชน์มหาศาลอยู่เบื้องหลังนี้ การทำสำเร็จคือการสร้างภาพลักษณ์และคะแนนนิยมของรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง สำหรับพรรค รทสช.เอง ก็จะช่วยแก้ข้อครหาเรื่อง “เครือข่ายประชาธิปัตย์เก่า พลิกท่าทีมาร่วมรัฐบาลกับพรรคที่เคยไล่ เพราะเห็นว่าพรรคไปไม่รอด” กลายเป็นว่า “นี่คือการจับมือเพื่อชาติ” ..และคนที่น่าสนใจที่สุดในเกมคือ อดีตนายกฯแม้ว เพราะดูยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นี่คือเงาที่ครอบรัฐบาลอยู่” และ“ผู้เล่นตัวรอง”คือเสี่ยหนู ในฐานะพรรคเสียงลำดับสองและฝ่ายที่ใกล้ชิดกับ สว.ชุดปัจจุบัน

เชื่อว่า ประชาชนก็อยากเห็นกฎหมายที่กล่าวถึงมาทั้งหมด ผ่านสภาในปีนี้.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่