สัปดาห์ที่ผ่านมา  นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จัดกิจกรรม Press Visit นำคณะสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) นอกจากจะประกาศความพร้อมของท่าอากาศยานรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาลแล้ว 

ยังพาเยี่ยมชมเครื่อง KIOSK สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service : CUSS) 196 เครื่อง และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) 42 เครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้ผู้โดยสาร ลดเวลารอคิวเช็กอิน และลดการสัมผัส เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายนิตินัย บอกว่า หลังเกิดโควิด-19 การให้บริการของสนามบินได้เปลี่ยนไป เน้นการเดินทางแบบวิถีใหม่ (New Normal) นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อลดสัมผัส ซึ่งเครื่องเช็กอินอัตโนมัติ ผู้โดยสารจะเช็กอิน และเลือกที่นั่งได้ตนเอง เพราะเครื่องจะแสดงรายละเอียดของที่นั่งได้เสมือนจริง ดูเข้าใจง่าย นอกจากนี้ยังสามารถเช็กอินล่วงหน้า 6-12 ชั่วโมง (ชม.) ก่อนเดินทาง และเมื่อเช็กอินเรียบร้อย สามารถนำกระเป๋าสัมภาระโหลดผ่านเครื่องรับกระเป๋าฯ ได้ด้วยตนเอง ได้ติดตั้งเครื่องกระจายบริเวณแถวเช็กอิน ตั้งแต่ Row B ถึง Row U ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ทสภ. และยังมีแผนนำระบบจดจำใบหน้า (ไบโอเมตริกซ์)  มาใช้ยืนยันตัวตนผู้โดยสาร ขณะเดียวกันจะเปิดให้ใช้แอพพลิเคชั่น SAWASDEE by AOT ซึ่งมีระบบการทำงานที่หลากหลาย ช่วยอำนวยความสะดวกในงานบริการต่างๆ ให้ผู้โดยสารด้วย

ในโอกาสนี้ยังนำคณะสื่อมวลชนทดลองใช้บริการ รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite : SAT 1) เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมอาคาร SAT 1 ด้วย 

รถไฟฟ้า APM จะนำมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารฟรีภายในท่าอากาศยานของประเทศไทยเป็นครั้งแรก เปิดให้บริการพร้อมกับการเปิดใช้ SAT 1ในเดือน เม.ย.66 ขณะนี้การก่อสร้าง SAT 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังทดสอบการทำงานร่วมกันของแต่ละระบบ เหลืองานระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด อยู่ระหว่างติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ก.ค.-ส.ค.65 ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์จะตกแต่งร้านค้า และร้านอาหาร ประมาณเดือน ต.ค.65

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้รายละเอียดว่า อาคาร SAT1 มีพื้นที่ 2.16 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร มี 28 หลุมจอดอากาศยาน รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของ ทสภ. จากปัจจุบัน 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 60-63 เที่ยวบินต่อชม. เป็น 68 เที่ยวบินต่อชม. 

ในการออกแบบอาคารได้ต่อยอดสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับอาคารเทียบเครื่องบินเดิม โดยหลังคาตรงกลางของอาคารถูกยกให้สูงขึ้นกว่าส่วนอื่นๆ เลียนแบบการไล่ระดับหลังคาเป็นชั้นๆ ในสถาปัตยกรรมไทย

ภายในอาคารได้ตกแต่งอย่างงดงาม ทรงคุณค่า ทันสมัย โอ่โถง ไม่อึดอัด มีเอกลักษณ์ สร้างความจดจำ และเป็นที่ประทับใจของนักเดินทาง โดยติดตั้งปะติมากรรมช้างเผือก “คชสาร(น)” มีขนาด 7 เมตร และ 5 เมตร ไว้บริเวณโถงกลาง ชั้น 3 ถือเป็นประติมากรรมชิ้นเดียวในโลก ซึ่งขึ้นรูปงานในลักษณะการสานวัสดุสเตนเลสด้วยมือ สะท้อนรูปแบบหัตถศิลปะงานสานแบบพื้นบ้านของไทยได้อย่างสวยงาม ทำให้เกิดเป็นจุดหมายตาแรกของอาคาร 

ขณะที่ห้องน้ำบริเวณชั้น 2 และ 3 ได้ออกแบบ โดยคำนึงถึงความสะดวกสบาย และประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก อีกทั้งได้นำเอกลักษณ์ หรือลักษณะเด่นแต่ละภาค และประเพณีวัฒนธรรม เช่น ลอยกระทง และมวยไทย มาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่ ช่วยให้ผู้โดยสารจดจำพื้นที่ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังตกแต่งสวนบริเวณชั้น 2 และ 3 เป็นสวนแนวตั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย

นายกีรติ แจกแจงด้วยว่า อาคาร SAT1 เป็นอาคารที่อยู่ในเขตพื้นที่การบิน (Airside) จะให้บริการผู้โดยสารขาออกที่เช็กอิน และโหลดกระเป๋าสัมภาระที่อาคารผู้โดยสารหลักแล้ว จากนั้นผู้โดยสารจะเดินเข้าไปในเขต Airside ตรงไปยังด้านหลังเกษียรสมุทร บริเวณชั้น 4 Concourse D เพื่อลงไปยังสถานีรถไฟฟ้า APM และนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคาร SAT 1 ส่วนผู้โดยสารขาเข้า เมื่อลงเครื่องบินที่ SAT1 ต้องลงไปยังชั้น B2 เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคารผู้โดยสารหลักไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า และจุดรับกระเป๋าสัมภาระต่อไป

สำหรับรถไฟฟ้า APM เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับล้อยาง รุ่น Airval ขนส่งมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ถึง ทสภ. ครบแล้ว 6 ขบวน 12 ตู้ โดย 1 ขบวน มี 2 ตู้ ขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อชม. เบื้องต้นในการให้บริการจะนำขบวนรถวิ่งพร้อมกันครั้งละ 2-3 ขบวนต่อเส้นทาง ส่วนอีก 1 ขบวนเก็บไว้ใช้สำรอง การเดินรถภายในอุโมงค์มี 4 ทางวิ่ง แบ่งเป็น สายสีแดง และสายสีเขียว สำหรับผู้โดยสารขาเข้า และออก ให้บริการทุกวัน 24 ชม. มี 2 สถานี ได้แก่ สถานีอาคาร SAT 1 และสถานีอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน 

รถไฟฟ้า APM จะใช้ความเร็วในการเดินรถสูงสุดที่ 80 กม.ต่อชม. ระยะทางต่อเที่ยวประมาณ 1 กิโลเมตร (กม.) ใช้เวลาประมาณ 2 นาที …..อดใจรออีก 2 ปีได้ใช้รถไฟฟ้าในสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย 

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…