ตำรวจทาจิกิสถาน ยกระดับการบุกจับบุคคลที่พวกเขาเรียกว่า “ปรสิตที่ทำกิจกรรมน่าเกลียดที่สุดเท่าที่จินตนาการได้” นั่นคือ การทำนายดวงชะตา และการใช้เวทมนตร์คาถา

นอกเหนือจากทาจิกิสถาน ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลาง ก็กำลังปราบปรามสิ่งที่กลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่แพร่หลาย และการต่อสู้กับศาสตร์ลึกลับเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมที่เข้มงวดอย่างกว้างขวางในประเทศระบอบเผด็จการ ซึ่งพยายามควบคุมกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง และความเชื่อที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ

“การสอนทางศาสนาที่ผิดกฎหมาย นำไปสู่การหลอกลวง การทำนายโชคชะตา และการใช้เวทมนตร์ ชาวทาจิกไม่ควรไปหาหมอดูและผู้วิเศษโดยเด็ดขาด” ประธานาธิบดี อีโมมาลี ราห์มอน ผู้นำทาจิกิสถาน ซึ่งปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2535 กล่าวเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ราห์มอนยังประกาศในปีเดียวกันว่า ทางการทาจิกิสถานทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย 1,500 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เวทมนตร์และการดูดวง รวมถึงมุลเลาะห์ หรือผู้สอนศาสนาอิสลามมากกว่า 5,000 คน ที่สัญญาว่าจะรักษาผ่านการสวดมนต์

ปัจจุบัน การกระทำความผิดซ้ำเกี่ยวกับไสยศาสตร์ มีโทษจำคุก 2 ปี และปรับเงิน 12,800 ยูโร (ราว 452,000 บาท) ซึ่งเทียบเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ย 6 ปี ของชาวทาจิกิสถาน

แม่มดและหมอดูหลายคนในทาจิกิสถาน ต่างปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการบุกค้นของตำรวจ โดยในกรณีของอดาลัต หมอดู วัย 56 ปี ในชานกรุงดูชานเบ เธอไม่รับลูกค้าเข้ามาในบ้านของตัวเองแล้ว แต่ไปหาพวกเขาแทน ซึ่งอดาลัตกล่าวว่า เธอมีทักษะเฉพาะในการทำให้คู่รักคืนดีกัน และมองเห็นอนาคตของพวกเขา

อนึ่ง ค่าใช้จ่ายของการให้คำปรึกษามีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่กี่ยูโร ไปจนถึงราคาเครื่องประดับทองคำ ขึ้นอยู่กับคำขอของลูกค้า อย่างไรก็ตาม อดาลัตกล่าวว่า เธอไม่สามารถดำรงชีวิตโดยอาศัยการดูดวง และต้องพึ่งพาเงินที่บุตรชายส่งมาให้เป็นประจำ ซึ่งเขาทำงานอยู่ในรัสเซีย

ด้านลูกค้าคนหนึ่งของอดาลัต วัย 42 ปี กล่าวว่า เธอหันไปพึ่งพาหมอดูและหมอชาวบ้าน เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ อีกทั้งค่าใช้จ่ายยังถูกกว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งมีราคาแพงมาก

ทั้งนี้ นางเมห์รีกิอุล อับเลโซวา ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งเอเชียกลาง (เอยูซีเอ) กล่าวว่า แรงดึงดูดความสนใจของเวทมนตร์และการทำนายดวงชะตา อาจเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และการขาดการเข้าถึงบริการสาธารณะ

“ในประเทศที่มีระบบสุขภาพหรือสวัสดิการที่จำกัด ผู้คนอาจมองหาวิธีการรักษาและการช่วยเหลือทางเลือกอื่น และปราบปรามเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะต่อต้านธรรมเนียมและความเชื่อที่ฝังรากลึกในเอเชียกลาง ซึ่งมีอยู่มาก่อนการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม” อับเลโซวา กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP