การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามหมวด 15/1 การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.)  ร่างของพรรคเพื่อไทย เสนอให้ มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด  โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  คุณสมบัติของ ส.ส.ร. กำหนดให้อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี  มีสัญชาติไทยทั้งนี้  ผู้สมัคร ส.ส.ร. ต้องมีมีชื่อในทะเบียนบ้านที่สมัครในจังหวัดที่รับเลือกตั้ง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี  หรือเคยศึกษา รับราชการ  หรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ข้อห้ามใช้แบบการสมัคร สส. ตามรัฐธรรมนูญ ม. 98 ห้ามเป็นข้าราชการการเมือง รวมถึง สส. สว. หรือรัฐมนตรี

การยกร่าง พรรคเพื่อไทยกำหนดให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ  47 คน มาจากการตั้งของ ส.ส.ร. 24 คน  คุณสมบัติต้องเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และอีกจำนวน 23 คนนั้น ให้ ส.ส.ร. แต่งตั้งจากการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร  12 คน วุฒิสภา 5 คน และ คณะรัฐมนตรี 6 คน พร้อมกับกำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 180  วัน

พรรค ปชน. เสนอให้มี จำนวน 200 คน แต่มาจากการเลือกตั้งที่แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ มาจากเขตเลือกตั้ง 100 คน และมาจากแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้ส่งแบบทีม และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง กำหนดให้สิทธิสมัครต้องผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัด ไม่น้อยกว่า 1 ปี อาศัย ทำงานหรือศึกษาในเขตเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 1 ปี ส่วนข้อห้ามจะน้อยกว่าเพื่อไทย คือเพิ่มส่วนของผู้ที่อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก็น่าจะเพื่อให้คนอนาคตใหม่- ก้าวไกล ที่ถูกตัดสิทธิ์ไป เข้ามาทำหน้าที่ได้

พรรค ปชน.กำหนดให้มีกรรมการยกร่างอย่างน้อย 45 คน โดยตั้งจาก ส.ส.ร. อย่างน้อย 2 ใน 3 หรือ 30 คน ส่วนที่เหลือให้ตั้งจากบุคคลที่เป็นหรือไม่ได้เป็น ส.ส.ร. ก็ได้ โดยพิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการ ในการทำหน้าที่และมีจำนวนตามความจำเป็น พร้อมตั้งกรอบ ให้จัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ภายใน 360 วัน

เมื่อร่างเสร็จ  พรรคเพื่อไทย กำหนดให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ  เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นำไปจัดการออกเสียงประชามติ  หากรัฐสภามีความเห็นแย้ง ไม่เห็นชอบ หรือเห็นว่าควรแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ส่งคืนไปยัง ส.ส.ร.  ซึ่ง ส.ส.ร.มีทางเลือก 2 ทาง คือ จะแก้ไข หรือยืนยันตามเนื้อหา โดยกำหนดให้ใช้เสียงยืนยัน ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3  ของ ส.ส.ร.ที่มีอยู่ หากไม่ถึงให้ตกไป จากนั้นให้ส่งไปยังรัฐสภา  พิจารณาให้ความเห็นและส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ทำประชามติ ภายในกรอบ 90 – 120 วัน

ส่วนพรรค ปชน. เขียนให้รัฐสภาอภิปรายโดยไม่ลงมติ และจากนั้นส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติด้วยคำถามที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย ภายใน 90- 120 วัน โดยหากผลประชามติเห็นชอบด้วย  ให้ประธาน ส.ส.ร. ทูลเกล้าฯ  และประกาศใช้  หลังจากนั้นให้ ส.ส.ร.ทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก เพื่อเสนอต่อรัฐสภา  แต่หากผลประชามติไม่เห็นด้วยให้ถือว่าตกไป

แต่ให้สิทธิ ครม.หรือ สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน สส. ที่มีในสภา หรือ สส. และ สว.รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกสองสภา เสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อฟื้นการจัดทำรัฐธรรมนูญ ส่วนเกณฑ์โหวตเห็นชอบต้องใช้เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา โดยจำนวนดังกล่าวต้องมีเสียง สส. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3  ของ สส.ที่มีอยู่

เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เคยเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล แต่ไปๆ มาๆ ก็อิ๊อ๊ะยึกยักกันไม่รู้แล้ว ตั้งแต่จะแก้รายมาตรา แล้วก็ยกเลิก ต่อมา จะรีบผ่านกฎหมายประชามติเพื่อ “หวังว่า” รีบแก้รีบทำประชามติ กฎหมายประชามติก็ดันไม่ผ่าน สว. ต้องรอไปถึง ก.ค.ถึงจะให้สภาผู้แทนราษฎรหยิบมายืนยันใช้ได้  และก็มาตีกันอีกเรื่องจะเขียนหมวดหนึ่งและหมวดสองใหม่หรือไม่ ทางพรรค ปชน.เขาบอกทำนองว่า ..มันก็สามารถแก้ได้..

ทางพรรคภูมิใจไทย “เลขานก”ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เคยออกมาตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่ต้องรีบแก้ ว่า “ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องประชาชนอย่างไร” ท่าทีของ “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร ยังบอกเมื่อวันที่ 11 ก.พ.แค่ “เดี๋ยวต้องคุยกันในพรรค” เลยยังไม่ชัดเจนว่า เพื่อไทยจะว่าอย่างไรสำหรับวาระในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เมื่อหัวหน้าพรรคยังไม่มีท่าที ก็มีแค่ข้อถกเถียงกันในพรรค ซึ่งดูทรงจะออกไปทางคงต้องให้ใครยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ต้องทำประชามติตอนไหนกันแน่ ก่อนแก้ ม.256 หรือแก้แล้ว ผ่านวาระสามแล้ว ทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ..ทางพรรคร่วมรัฐบาลเขาคิดว่า เพื่อไทยคงไม่กล้าเสนอญัตติให้ถามศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะเป็นผู้เสนอร่าง

ทางฝั่ง สว.นั้น แบะท่ามาบางคนว่า “ไม่เอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้” คือไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่ไม่เอาแบบนี้ เพราะในส่วนมาตรา 256 ( เฉพาะวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับส่วน ส.ส.ร.) มันไปตัดอำนาจ สว. เขาจะยอมหรือ ? ก็คงมีพวกกลุ่มที่ประกาศตัวเองเป็นพันธุ์ใหม่นั่นแหละที่โหวตรับ ซึ่งเสียงไม่น่าจะพอ

ในวันสุกดิบก่อนประชุมร่วมรัฐสภา “หัวหน้าเท้ง”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ( ปชน.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า  “นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า นายกฯ เคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 12 ก.ย.67 ดังนั้น เราหวังว่าจะได้เห็นการแสดงเจตน์จำนงและบทบาทของนายกฯ ที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ  โจทย์ใหญ่ของการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะนี้ คือการต้องได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เกิน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด  ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการได้เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลผสม ต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการความเห็นต่าง ขอให้สร้างเอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ รักษาคำพูดต่อนโยบายเรือธงที่ตัวเองเคยประกาศ”

“ไอติม”พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ปชน. กล่าวว่า  แม้รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบแก้ไข แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่ต้องมีการทำประชามติ หลังวาระ 3 ตามมาตรา 256 (8) และหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติอีกรอบ   เมื่อเทียบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเมื่อปี 2563 และที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการไปแล้ว และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เราจะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกัน  

แต่เอาจริง คิดว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ น่าจะ “ตัดจบ”ที่นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ที่บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ “ยากที่จะผ่านความเห็นชอบ”  เพราะ “สมาชิกรัฐสภากังวลเรื่องทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน ว่าให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่  ถ้าโหวตไปแล้ว เกรงว่าจะมีคนร้องแน่ว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  

และยังอาจมีการเสนอญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่ง เชื่อว่าวุฒิสภาจะเป็นผู้เสนอญัตติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องทำประชามติอย่างไร  และหาก สว.ไม่ร่วมโหวตก็ถือว่าจบ มันต้องใช้เสียง สว. ส่วนหนึ่งในการผ่านตั้งแต่วาระแรก”นายนิกร กล่าว

นายนิกรยังตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยคงไม่เสนอญัตติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการทำประชามติเอง เพราะเป็นเจ้าของร่างด้วย  การยื่น จะต้องได้เสียงผู้ร้อง 40 คน หรือหากจะทำประชามติก็จะต้องพิจารณาว่าจะใช้วิธีดำเนินการตามกฎหมายฉบับใด เนื่องจากกฎหมายประชามติที่แก้ไขเพิ่มเติมและยังติดล็อค 180 วันอยู่ต้องรอถึงช่วงเดือน ก.ค. หากรับหลักการก่อนและต้องทำประชามติตามกฎหมายเดิมด้วยหลักเกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น ( ผู้มาโหวตเกินกึ่งของผู้มีสิทธิ์ เสียงโหวตผ่านเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ) เช่นนี้ประชามติจะผ่านหรือไม่” นายนิกร กล่าว

                “แด๊ก”ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ก็มาย้ำหมุดเรื่องไม่ผ่าน บอกว่า  แก้รัฐธรรมนูญคงไม่ผ่านสภา เพราะสมาชิกรัฐสภาเกรงจะขัดคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่4 / 2564  เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่าในการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องจัดทำประชามติก่อนและหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากไม่ทำประชามติท้ายที่สุด จะมีปัญหาภายหลังเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

จะยกร่างทั้งฉบับโดยไม่ทำประชามตินั้นสุ่มเสี่ยงอย่างมาก  ทั้งต่อผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณาเห็นชอบร่างด้วย  สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องเอาผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงและอาจถูกส่งให้ ป.ป.ช.ถอดถอนได้

ก็ไม่รู้ว่า เพื่อไทยจะโล่งหรือเปล่าถ้าทางลงมันคือแก้ไม่ผ่าน หรือชะงักไว้ก่อน ถ้ามีใครยื่นญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพราะถือว่า “ประวิงเวลาไปได้สักพัก”แม้จะบอกว่า อยากแก้ แต่ดูๆ โดยรวมแล้วไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไร จะอ้างว่า ผ่านกฎหมายโดยใช้อำนาจสมาชิกรัฐสภา แต่กรณีแก้ ม.112 ก็เหตุผลนี้ “เป็นอำนาจสมาชิกรัฐสภาเสนอได้” แล้วจบอย่างไรล่ะ ? ยุบหายไปพรรคนึง

ก็อย่าคาดหวังไปก่อน เรื่องวันที่ 13-14 ก.พ.จะได้ข้อสรุป เรื่องรัฐธรรมนูญนี่สาละวันเตี้ยลงๆๆ วนในอ่างมาหลายรอบ ผ่านไม่ผ่านก็พ้นช่วงน่าตื่นเต้นไปแล้ว ตอนนี้มีข่าวอื่นอย่างคอลเซนเตอร์ กะเทยอันธพาล น่าสนใจกว่า. 

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่