ทั้งนี้ “มุมความสัมพันธ์” ของ “ด้อม” แบบนี้นั้น ความสัมพันธ์เช่นนี้ก็มีนักจิตวิทยาให้ความสนใจศึกษา เพื่อค้นหาและอธิบายเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์ความรัก” รูปแบบนี้…

ในฐานะ “อีกหนึ่งปรากฏการณ์สังคม”

ปรากฏการณ์ “ที่พัฒนาตามยุคสมัย”

โดยเฉพาะ “ยุคโซเชียลสังคมดิจิทัล”

กับคำอธิบาย “ปรากฏการณ์ความสัมพันธ์” หรือ “รักแบบด้อมยุคใหม่” หรือความชื่นชอบคลั่งไคล้ที่คนทั่วไปมีต่อศิลปิน ดารา คนมีชื่อเสียง ที่ปัจจุบัน มีพัฒนาการแตกต่างจากยุคอดีต ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล… ปรากฏการณ์นี้มีการสะท้อนไว้ผ่านรายการออนไลน์ที่จัดโดย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้ร่วมรายการ ประกอบด้วย ผศ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ อาจารย์แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะจิตวิทยา คือ นัทธ์ชนัน สังฆรักษ์ กับ วรินธา วิจิตรวรศาสตร์ ซึ่งในรายการได้มีการวิเคราะห์และสะท้อนเกี่ยวกับ“ความสัมพันธ์ของด้อมยุคใหม่”

วิเคราะห์ผ่าน “มุมมองทางจิตวิทยา”

ทาง ผศ.ดร.หยกฟ้า อาจารย์คณะจิตวิทยา ได้สะท้อนไว้ในรายการดังกล่าว โดยสังเขปมีว่า… ความสัมพันธ์ของ “ด้อมยุคใหม่” หรือ “แฟนคลับยุคดิจิทัลยุคโซเชียล” ในเชิงจิตวิทยาสังคมแล้วอาจใกล้เคียงกับคำศัพท์วิชาการคำว่า… พาราโซเชียล รีเลชั่นชิป”หรือในภาษาอังกฤษParasocial Relationship ที่เป็นหนึ่งในรูปแบบ “ความสัมพันธ์แบบข้างเดียวความสัมพันธ์แบบฝ่ายเดียว”ที่คน ๆ หนึ่งได้ “สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง” เพื่อที่จะแสดงถึง “ความรักความชอบ” ของบุคคลหนึ่ง เพื่อ “ต้องการที่จะแสดงออก” ให้คนที่ชอบหรือคนที่บุคคลนั้นมีความสัมพันธ์แบบฝ่ายเดียวมองเห็น

ขณะที่ นัทธ์ชนัน นิสิตคณะจิตวิทยา ที่เป็นผู้ร่วมรายการ ได้ระบุเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์แบบข้างเดียว” ที่เรียกว่า “พาราโซเชียล รีเลชั่นชิป” นี้ไว้ว่า… สำหรับคำนี้ หากเป็นภาษาไทยก็น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า “ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม” เช่นกัน ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์ที่ จะเกิดขึ้นกับคนที่แอบชอบเพียงฝ่ายเดียว หรือเป็นความผูกพันข้างเดียวที่ฝ่ายหนึ่งมีกับอีกฝ่ายหนึ่ง และถึงแม้ความสัมพันธ์รูปแบบนี้จะไม่เรื่องใหม่ แต่ในยุคโซเชียลที่มีแฟลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายเช่นนี้ กรณีนี้จึงทำให้รูปแบบความสัมพันธ์นี้เข้มข้นมากกว่าในอดีต!!! …นี่เป็นคำอธิบายโดยสังเขปของความสัมพันธ์…

ที่เรียกว่า “พาราโซเชียล รีเลชั่นชิป”

รูปแบบ “ความรักของด้อมยุคดิจิทัล”

ทั้งนี้ ภายใต้ “ยุคโซเชียลสังคมดิจิทัล” เช่นยุคปัจจุบันนี้ กับประเด็นที่ว่า… สื่อโซเชียลเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ “พฤติกรรมแบบพาราโซเชียลฯ เพิ่มขึ้นเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม” ทาง นัทธ์ชนัน สะท้อนมุมมองเพิ่มเติมไว้ว่า… น่าจะมีผล เพราะสื่อโซเชียลทำให้ผู้คนติดต่อหรือแชร์อะไรต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ซึ่งก็อาจทำให้แฟนคลับหรือ “ด้อม” เกิดความรู้สึกว่า…ตัวเองมีสิทธิที่จะเข้าใจหรือรับรู้ชีวิตศิลปินหรือคนที่ตนติดตามได้มากขึ้น ซึ่งในอดีตจะไม่มีเรื่องพวกนี้เพราะไม่มีช่องทางให้ ศิลปินหรือคนดังไลฟ์สด โพสต์อะไรต่าง ๆ หรือแม้แต่ตอบคำถาม หรือทักทายแฟนคลับ ได้ตลอดเวลา ดังเช่นปัจจุบันนี้ ที่…

ส่งผลให้ด้อมรู้สึกใกล้ชิดศิลปินยิ่งขึ้น

และกับ “ปัจจัยโซเชียล” ที่ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์แบบข้างเดียว หรือ “พาราโซเชียล รีเลชั่นชิป” แตกต่างไปจากในอดีตนั้น กรณีนี้ก็มี “ปุจฉา” เช่นกันว่า… ปัจจัยนี้จะ “ยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงล้ำเส้น” ความสัมพันธ์ของแฟนคลับกับศิลปินหรือไม่?? ซึ่งเรื่องนี้ทาง วรินธา ผู้ร่วมรายการอีกคน ก็มองว่า… ถึงแม้การไลฟ์สดของศิลปินจะช่วยในแง่การ “เพิ่มความนิยมเพิ่มผู้ติดตาม” ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อตัวศิลปิน แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางครั้งความรักความชอบที่ “ด้อม” มีก็มากล้นจนสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดกรณี “ล้ำเส้น” ได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาระดับความสัมพันธ์ไม่ให้เกินขอบเขตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก…

การไลฟ์สด มองแง่ดีก็ทำให้เห็นว่าศิลปินก็เป็นคนเหมือนกัน โดยมีสิทธิจะมีแฟน ใช้ชีวิตปกติได้เหมือนแฟนคลับ แต่บางกรณีก็อาจจะเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าแฟนคลับแยกไม่ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับความเป็นจริง จนมองว่าเขามีโอกาสจะช่วยจัดการชีวิตให้ศิลปิน??” …วรินธา กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้

และกับกรณีปัญหานี้ ผศ.ดร.หยกฟ้า ก็เสริมไว้ว่า… ปัจจุบันแฟนคลับหรือ “ด้อม” เป็นฐานความนิยมที่สำคัญของศิลปิน จึงต้องมีช่องทางโซเชียลเอาไว้สื่อสาร หรือเช็กเรทติ้งของตน เพื่อรักษาความนิยมเอาไว้ อย่างไรก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าก็มีแฟนคลับบางส่วนที่มีพฤติกรรมล้ำเส้น “รุกล้ำเข้าไปในชีวิตศิลปินเกินขอบเขต” โดยกรณีนี้เข้าข่าย “ความสัมพันธ์ที่มีปัญหา” ที่ปัจจุบันเริ่ม “พบปัญหานี้มากขึ้น” ซึ่งแฟนคลับหรือ “ด้อม” ก็ “ต้องรักษาระดับ”สัมพันธ์ “รัก” ที่ตนสร้างขึ้น…

ไม่ให้เป็นรักร้าย ๆ “ไม่ให้ล้นเกินไป”

ถ้าทำได้ “สัมพันธ์รักเช่นนี้จะมีข้อดี”

จะดียังไง??…ตอนต่อไปมาดูกัน…

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์