ทั้งนี้ กับเรื่องร้าย ๆ แบบนี้กรณีใด ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ละกรณีผลลัพธ์เป็นอย่างไรก็ดังที่ทราบ ๆ กัน อย่างไรก็ตาม หากจะโฟกัส “ความโกรธ”ก็มี “แง่มุมชวนคิด”
“ความโกรธ” มีการศึกษาทางวิชาการ
ในฐานะ “กลไกร่างกายรูปแบบหนึ่ง”
เป็น “หนึ่งในอารมณ์ติดตัวตั้งแต่เกิด”
เรื่องของ “ความโกรธ” ในทางวิชาการ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้เป็นข้อมูลจาก วารสารพุทธจิตวิทยา ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2565) ที่มีการเผยแพร่บทความเรื่อง “ความโกรธในทัศนะพุทธจิตวิทยา (Anger in Buddhist Psychology)” โดย จำรัส พรหมบุตร ซึ่งได้ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ โดยสังเขปมีว่า… ในแง่ภาษา-ในความหมายของคำแล้ว คำว่า “โกธะ” และ “โทสะ” นั้นมีความหมายใกล้เคียงกันมาก โดย โกธะ…จะหมายถึงความโกรธ ส่วน โทสะ…คือความคิดประทุษร้าย ซึ่งทั้ง 2 คำนี้มักจะนำมาใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายของความโกรธนั่นเอง
อนึ่ง ในบทความดังกล่าวระบุถึง “ธรรมชาติความโกรธ” ไว้ว่า… เป็นความรู้สึกที่แสดงออกทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ และส่วนมากจะเกี่ยวกับอารมณ์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งความโกรธที่เกิดขึ้นจะรุนแรงเพียงใด ขึ้นกับการตีความของคน ๆ นั้นเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ ค่านิยม ความเชื่อ และประสบการณ์ในอดีตของคน ๆ นั้นด้วย ซึ่งความรุนแรงของความโกรธโดยส่วนใหญ่ของคนทั่วไปก็มักเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจ ที่เกิดได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงไม่พอใจอย่างมาก
เมื่อบุคคลใด มีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น ร่างกายจะมีการหลั่งอะดรีนาลีนเพิ่มมากขึ้น จนร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ม่านตาขยายมากขึ้น กล้ามเนื้อตึง หน้าแดง รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย หรือมีอาการชาของอวัยวะบางส่วน และนอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีของสไพลเบอร์เกอร์ (Spielberger) ที่อธิบายว่า… “ความโกรธ” ยังสามารถสัมพันธ์กับอารมณ์อื่น ๆ เช่น ความกลัว ความเจ็บปวด ความรู้สึกผิด ความละอาย ความเศร้า ความอิจฉาริษยา ความคับข้องใจ ความว้าเหว่ หรือแม้แต่ความร่าเริง ที่เป็น แนวทางหนึ่งของการป้องกันตนเอง…
แม้บุคคลทั่วไปต่างก็มีความโกรธได้ แต่หากแสดงความโกรธอย่างไม่เหมาะสม–ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ตามมา เช่น ความขมขื่น ความเกลียด การอาฆาตมุ่งร้าย ทั้งนี้ บุคคลใดบุคลหนึ่งจะแสดงความโกรธได้มากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนค่านิยมและความเชื่อ รวมถึงการอบรมเลี้ยงดู กลุ่มเพื่อน โรงเรียน สังคม และวัฒนธรรมด้วย …เป็นคำอธิบายธรรมชาติ “ความโกรธ” ที่ยุคนี้ใช้คำว่า “หัวร้อน”

อย่างไรก็ตาม “ความโกรธ” ก็ถือเป็นพฤติกรรมที่ “มีพัฒนาการตามช่วงวัย” เช่นกัน โดยสามารถแบ่งตามช่วงวัยได้ เช่น… วัยทารก จะเกิดความโกรธจากประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่สบายทางกายหรือความเจ็บป่วย โดยการตอบสนองต่อความโกรธในวัยทารกจะเป็นไปแบบสุ่ม ๆ ไม่มีจุดหมายตอบโต้ต่อที่มาของความโกรธ เช่น ฟาดแขนขากับเบาะ การงอหลัง การถีบตัวออกจากผู้ใหญ่, วัยเด็ก เมื่อเด็กมุ่งมั่นอยู่กับความตั้งใจบางอย่างจะแสดงพฤติกรรมให้บรรลุจุดมุ่งหมายนั้น แต่ถ้าไม่สำเร็จก็จะเกิดคับข้องใจและนำสู่ความโกรธ ซึ่งจะแสดงออกต่อที่มาที่ทำให้คับข้องใจ หรือแสดงความก้าวร้าวทางอ้อม
ส่วน วัยรุ่น จะมีสาเหตุความโกรธจากความต้องการที่จะตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ หรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่ถูกทำให้เกิดขึ้น เช่น จะโกรธเมื่อถูกทำลายความนับถือ หรือความภูมิใจในตนเอง อาทิ เมื่อถูกเยาะเย้ยถากถาง ถูกล้อเลียน ถูกปฏิเสธจากผู้อื่น หรือผิดหวังจากความล้มเหลว ถูกหลอกลวง หรือรู้สึกได้รับความไม่ยุติธรรม เป็นต้น โดยการตอบสนองของวัยรุ่น หรือ วัยหลังวัยรุ่น มักจะ ตอบสนองความโกรธผ่านการกระทำและคำพูดที่รุนแรง …นี่เป็นกรณี “ความโกรธตามช่วงวัย”
หลายคนมองความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี ขณะที่ “ความโกรธก็มีหน้าที่เฉพาะ” เช่นกัน โดยในบทความดังกล่าวระบุไว้ว่า… ความโกรธเป็นพลังอย่างหนึ่งที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมทางลบต่อผู้อื่น จากการถูกกระตุ้นหรือถูกเร่งเร้า แต่ความโกรธก็มีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยป้องกันตัวเองจากความอ่อนแอภายใน เปลี่ยนความวิตกกังวลไปสู่ความคับข้องใจภายนอก จนกระตุ้นให้บุคคลแสดงความก้าวร้าวออกมา อีกทั้ง “ความโกรธ” ยังถูกมองว่า “เป็นกลไกทางจิตอย่างหนึ่ง” เป็นกลไกที่ ช่วยให้คนที่ไม่กล้าแสดงออกสามารถแสดงออกได้มากขึ้น หรือกล้าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้ไม่เคยทำมาก่อน ก็ตาม
แต่ทั้งนี้ จำรัส พรหมบุตร ผู้จัดทำบทความดังกล่าว ได้ระบุถึง “ผลของความโกรธ”ไว้ว่า… ความโกรธส่งผลทั้งต่อจิตใจและร่างกาย กล่าวคือ ก่อให้เกิดความเครียด จนเกิดความผิดปกติทางสรีระวิทยา ซึ่งควบคุมด้วยระบบประสาทออโตโนมิค เช่น นำสู่การป่วยเป็นความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน แผลในกระเพาะอาหารเป็นต้น หรือทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เหงื่อออก ปากคอแห้ง กล้ามเนื้อเกร็ง และถ้ายิ่งโกรธจัด ๆ อาจถึงขั้นทำให้เกิดเส้นเลือดสมองแตกจนถึงแก่ชีวิตได้ …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโดยสังเขป “ความโกรธ” ในทางวิชาการ ซึ่งยังไม่รวมในทาง “คดี”…
“โกรธ” ยุคนี้นิยมใช้คำแสลง “หัวร้อน”
ในไทยยุคนี้ “หัวร้อนกันกลาดเกลื่อน”
มีอื้อที่ “ไม่น่าร้อนก็ร้อน…เลยเละ!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์