ไอซีซี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก 125 ประเทศ รับหน้าที่ดำเนินคดีกับบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุดในโลก เมื่อประเทศต่าง ๆ ไม่เต็มใจ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง

แม้กลไกของกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ดำเนินไปอย่างช้า ๆ ซึ่งสังเกตได้จากอัตราการตัดสินโทษในระดับต่ำ แต่ผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ไอซีซี ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่กระทำการโหดร้าย ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับ “การยกเว้นโทษ”

นับตั้งแต่ไอซีซี เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2545 ศาลได้เปิดคดีมาแล้ว 32 คดี ครอบคลุมข้อหาร้ายแรงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และความผิดต่อการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งในจำนวนนี้ 14 คดี หรือคิดเป็นประมาณ 40% ยังดำเนินอยู่ โดยส่วนใหญ่มักเป็นคดีที่ผู้ต้องสงสัยยังคงลอยนวล

“ไอซีซีต้องอาศัยอำนาจของรัฐในการจับกุมผู้ต้องสงสัย แต่แรงจูงใจที่ประเทศต่าง ๆ จะให้ความร่วมมือ กลับอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากศาลไม่มีอะไรตอบแทน นอกจากคำมั่นสัญญาว่าจะทำให้เกิดความยุติธรรม” นายปาสคาล ตูร์ลัน อดีตที่ปรึกษาของไอซีซี กล่าว

ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลที่ต้องการตัวของไอซีซี มีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย, นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล และผู้นำกองกำลังต่อต้านของยูกันดา รวมอยู่ด้วย ซึ่งทั้งสามคนถูกกล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมสงคราม

อย่างไรก็ตาม รัสเซียเป็นหนึ่งในหลายสิบประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐ อิสราเอล และจีน ที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลของไอซีซี ส่งผลให้ศาลไม่สามารถดำเนินการสอบสวนพลเมืองของประเทศเหล่านี้ได้ อีกทั้งประเทศสมาชิกไอซีซีบางประเทศ ยังท้าทายอำนาจศาลด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การปฏิเสธที่จะส่งตัวผู้ต้องสงสัย

“เมื่อรัฐต่าง ๆ ไม่ชอบในสิ่งที่ไอซีซีทำ พวกเขาก็มักจะไม่ให้ความร่วมมือ” นางแนนซี คอมบ์ส ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย จากโรงเรียนกฎหมายวิลเลียมแอนด์แมรี ในสหรัฐ กล่าว

ขณะที่ นายฟาดี เอล อับดุลลาห์ โฆษกของไอซีซี เน้นย้ำว่า บทบาทของศาลไม่ใช่การดำเนินดคีกับผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมสงครามทั้งหมด แต่เป็นการสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ จัดการกับคดีของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละคดียังมีความท้าทายที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การแทรกแซงของรัฐบาล ไปจนถึงการข่มขู่คุกคามพยาน

อนึ่ง คอมบ์ส ชี้ให้เห็นว่า ประเทศในแอฟริกาบางประเทศ รวมถึงยูกันดา ไอวอรีโคสต์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ยื่นเรื่องสงครามของพวกเขา ให้ไอซีซีสอบสวนในช่วงแรก ส่วนคดีอื่น ๆ อยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี).

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP