เรื่องแก้ไข ป.อาญา ม.112 เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมมาก ณ ขณะนี้ … เอาจริงมันพูดกันมาตั้งนานแล้ว และพรรคก้าวไกลเหมือนจะเข้าชื่อขอแก้ไขไปแล้ว แต่ติดการตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตรงนี้อ้างจากคำพูดของ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่า การแก้ ม.112  เป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ม.6 ที่กำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และหลักการความคุ้มกันประมุขแห่งรัฐ  แตกต่างจากความผิดฐานหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงและเกียรติของคนทั่วไปและเป็นความผิดต่อส่วนตัว จึงไม่สามารถยกเลิกมาตรานี้ได้”

“และสภาก็เคยมีความเห็นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ว่า การแก้ไข ม.112 เพื่อให้มีการยกเว้นความผิดและการยกเว้นโทษ ต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์นั้เป็นการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ด้วย

กระแสนี้ดังขึ้นจากเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดม็อบเรียกร้องยกเลิก ม.112 ที่ราชประสงค์ ประชาชนไปร่วมเยอะอยู่ พรรคเพื่อไทย “แอค” ขึ้นมาทันที ออกแถลงการณ์สนับสนุนการแก้ไข ม.112 บอกทำนองว่า “เราเป็นเสียงข้างมากในสภา สร้างความหวังในเรื่องนี้ได้แน่นอน” คนที่เขาเห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ก็แซ่ซ้องกันใหญ่ พรรคก้าวไกลอุ่นใจเจ้าประคุณเอ๋ย เราได้แนวร่วมใหญ่ พร้อมเดินหน้าผลักดันแก้เต็มที่

ปรากฏว่าอนิจจาเอ๋ย…ผ่านไปไม่ทันเท่าไร “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ที่มีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทยอยู่ ก็ออกมาเบรกหัวทิ่ม โพสต์เฟซบุ๊กด้วยข้อความทำคนอยากแก้ใจสลาย บอก “ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา” ไปดูที่นายทักษิณโพสต์ในเฟซบุ๊กลองอ่านความเห็นดูก็ค่อนไปในทางก่นด่าผิดหวังเสียเยอะ อ่านกันบันเทิงไปข้าง กลายเป็นเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยถูกเหน็บให้เจ็บใจว่า “ขึ้นอย่างหงส์ ลงอย่างตัวอะไรไปคิดเอง” แม้จะผิดหวังแต่คณะก้าวหน้าไม่จบ เปิดเว็บไซต์รณรงค์ล่ารายชื่อเป็นทางการ เพื่อใช้รายชื่อนั้นแหละ แนบเข้าเสนอกฎหมาย ซึ่งก็ไม่รู้ได้รับการพิจารณาหรือถูกตีตก  

ทั้งสายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะให้แก้มีเหตุผลหมด เพราะเรื่องนี้มันเป็น เรื่องของอุดมการณ์ บางคนก็มีชุดความเชื่อที่ยึดว่า สถาบันฯ คือศูนย์รวมจิตใจเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ต้องได้รับความคุ้มครองมากกว่าคนทั่วไปเป็นเรื่องปกติ  ..ตัวอย่างสายที่ไม่ต้องการให้แก้ ไม่เห็นปัญหา อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ที่ค้านสุดตัว เขาบอกว่า “บรรดาบุคคลที่อ้างว่าการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์คือการวิจารณ์โดยสุจริตนั้น คงต้องย้อนถามกลับไปว่า สุจริตใจจริงหรือไม่ ที่พูดไปแล้วมีผลประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง อัยการเขาก็จะไม่สั่งฟ้อง แล้วจะไปแก้โทษ ม.112 เพื่ออะไร”

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า มองว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไข ป.อาญา ม.112 มีแนวโน้มทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น และเมื่อดูคดีช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งหนึ่งประชาชนเป็นผู้ฟ้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ยอมไม่ได้กับการจาบจ้วงสถาบันฯ การยกเลิกมีโอกาสม็อบชนม็อบนำไปสู่รัฐประหาร

ทางออกคือควรกำหนดแนวทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย ควรตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งที่มีองค์ประกอบอาจมาจากเจ้าหน้าที่ร่วมกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี สามารถใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการได้ทันที โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องได้ในชั้นตำรวจอัยการ วิธีนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าสินไหมทดแทนการลงโทษทางอาญา เพราะจะยิ่งทำให้คนไม่เท่ากัน คนรวยมีความได้เปรียบ ด่าใครก็ได้ เพราะด่าแล้วก็ไปจ่ายค่าสินไหมทดแทน   

เราควรแก้ ม.112 หรือไม่ เอาจริงให้กลับไปดูแบบสามัญสำนึกว่า “แก้แล้วได้อะไร” จะบอกว่า แก้เพื่อให้คนเท่าเทียมกัน เช่นนั้นสายไม่เอาแก้ 112 เขาก็ถามว่า “แล้ววิจารณ์สถาบันได้ช่วยให้ชีวิตและปากท้องดีขึ้นอย่างไร?” พูดเรื่องความเท่าเทียมไม่เท่าเทียมมันก็นามธรรมสุดๆ โลกนี้ไม่มีความเท่าเทียมที่แท้จริงอยู่แล้ว ขนาดคอมมิวนิสต์ยังมีชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครอง แล้วยิ่งในโลกเสรีทุนนิยมนี่ ..ไม่ต้องแก้ ม.112 หรอก ไปด่านายทุนเขาก็ฟ้องเข้าให้ ซึ่งบางคดีการท่องคาถา “วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจ” ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าอีกฝ่ายพิสูจน์ว่าทำให้เขาเสียหาย

ใครจะรณรงค์แก้ ม.112 ก็ต้องทำให้เกิดแนวร่วม ให้คนเห็นมากกว่านี้หน่อยว่า “มันกระทบชีวิตอย่างไร” โดยเฉพาะอธิบายให้ได้แบบตรงๆ ว่า “การแก้ ม.112 เกี่ยวพันกับเรื่องปัญหาปากท้องอย่างไร” คือทำให้มันเป็น เรื่องใกล้ตัวประชาชน แล้วจะได้แนวร่วมเยอะขึ้น พวกที่ตื่นตัวเพราะมีอุดมการณ์มันก็มีส่วนหนึ่ง แต่ใครจะรู้เล่าว่า เอาจริงแล้วอาจน้อยกว่าพวกไม่สนใจใยดี (ignorance) หรือไม่ ถ้าอยากให้มีพลังก็ต้องเอากลุ่มนี้เข้ามาเป็นแนวร่วมให้ได้

สิ่งที่เป็นผลกระทบจาก ม.112 ที่น่าพูดถึงคือ “มันเป็นกฎหมายที่ไม่มีมาตรฐานการใช้” ง่ายๆ คือ “ใครๆ ก็โดนฟ้องได้ถ้าไปทำไม่ถูกใจพวกสติแตกเข้า” มันกลายเป็เครื่องมือการกลั่นแกล้ง ได้ง่าย ม.112 นั้น คุ้มครองพระมหากษัตริย์, พระราชินี และองค์รัชทายาท “ในรัชกาลปัจจุบัน” แต่บางทีมีการเอาไปฟ้องเลยเถิด ตัวอย่างเช่น กรณี ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการที่เป็นฝั่งขวาด้วยซ้ำ ถูกฟ้อง ม.112 เพราะ วิจารณ์พระนเรศวร คุ้นๆ ว่าท่านนี้ต้องไปขึ้นศาลสู้คดีที่ต่างจังหวัด ..แล้วยังมีคนโดนฟ้องเพราะ วิจารณ์สุนัขทรงเลี้ยง.. จนรู้สึกว่า “คนบางคนว่างมากขนาดไล่จับผิดชาวบ้าน หาเรื่องให้เขาเป็นคดี”

กรณีที่มันดูเลยเถิด คือบางคนไม่ได้พูดอะไรที่เป็นการหมิ่นสถาบันด้วยซ้ำ แต่ถูกฟ้องหาว่า “ปล่อยปละละเลยให้มีการหมิ่นสถาบัน” อย่างกรณี บก.ประชาไท เคยโดนฟ้อง ม.112 เพราะไม่ทันเห็นว่า มีการแสดงความเห็นเนื้อหาไม่เหมาะสมอยู่บนแพลตฟอร์ม ก็ถูกฟ้องว่า ปล่อยให้มีเนื้อหาเช่นนั้นอยู่โดยไม่จัดการ จนบางสื่อถ้าเป็นข่าววัง ปิดคอมเมนต์ซะให้รู้แล้วรู้รอด ..ใครที่เป็น เครือญาติของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็โดนจับผิด อย่างนางพัฒนรี ชาญกิจ แม่ของนายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิวที่เคลื่อนไหวต้าน คสช.ตั้งแต่ช่วงแรกๆ มีคนแชตข้อความไม่เหมาะสมมา นางพัฒนรีก็รับคำส่งๆ ไปไม่ได้ผสมโรง โดนฟ้อง 112 คาดว่าเพราะมีคนหมั่นไส้พฤติกรรมลูกชาย

แล้วก็มีกรณีจับแพะชนแกะ ตะบี้ตะบันจะให้หมิ่นสถาบันให้ได้ อย่างกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ไป ลงพื้นที่ดูบริษัทสยามไบโอไซน์ เพราะอยากรู้ศักยภาพในการผลิตส่งวัคซีนแอสตราเซเนกา ก็โดนฟ้อง 112 เฉย ..ทำไมถึงโดน? ตอบว่า พูดไม่ได้เพราะการ “ผลิตซ้ำ” ข้อมูลที่โดนฟ้องผิด 112 ก็ทำให้คุณเข้าตะรางได้เช่นกัน อย่างกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล สื่อชื่อดัง เอาคำพูด “ดา ตอร์ปิโด” ที่หมิ่นสถาบันมาเล่าบนเวทีพันธมิตรฯ ผลคือนายสนธิโดนฟ้อง ม.112 ไปอีกคน  แม้ว่าบางคดีจะพิสูจน์ได้จนยกฟ้องในชั้นศาล หรือในชั้นอัยการไม่สั่งฟ้องก็ตาม แต่ปัญหาคือ “ใครมันจะอยากเป็นคดี” บั่นทอนสุขภาพจิตจะตาย ระหว่างรอผลสั่งฟ้อง หรือระหว่างขึ้นศาล

แล้วยิ่งปัจจุบันมีการรวม กลุ่มองค์กรอะไรสักอย่าง คิดว่าหลายคนรู้จักชื่อ…คอย “เฝ้าระวัง” และไล่ฟ้องคนที่ “เขาเห็นว่าทำผิด 112” ..บรรยากาศยังกะเกาหลีเหนือเจ้าประคุณเอ๋ย มีหน่วยสอดแนมใครด่าท่านผู้นำ ..ซึ่งก็ต้องขอให้ฝ่ายพิทักษ์สถาบันคิดว่า การเอากฎหมายมาใช้ในลักษณะนี้ มันเป็นการสร้างความกลัว แล้ว การสร้างความกลัวมีผลต่อความจงรักภักดีหรือไม่คิดว่าคงเข้าใจกันด้วยสามัญสำนึก

แล้วชวนให้คิดว่า ตัวบทมันครอบจักรวาลมาตั้งแต่ต้นหรือไม่? การบังคับใช้จะไม่มีปัญหา หากต้องการคงโทษเดิมไว้เพราะถือว่า “สถาบันคือศูนย์รวมจิตใจที่ใครไม่พึงลบหลู่หรือหมิ่น” ก็ต้องไปแก้เรื่องกระบวนการบังคับใช้ ไม่ใช่ให้ใครฟ้องก็ได้ ..เอาอย่างที่นายอรรถวิชช์ว่า คือ “มันต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรอง” ก่อนส่งอัยการสั่งฟ้อง เปิดช่องให้สองฝ่ายได้โต้แย้งแสดงเหตุผล และถ้าพบว่า อีคนฟ้องมีเจตนาให้คนถูกฟ้องถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือโดนดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ก็ให้คนถูกฟ้องฟ้องกลับให้หอกกลับไปทิ่มปากคนฟ้องเสียที   

ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้มันกลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”