ก่อนหน้านี้ อ่อง หล่า เคยเป็นชาวนา เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมายึดอำนาจในการรัฐประหาร เมื่อปี 2564 ส่งผลให้กองโจรที่สนับสนุนประชาธิปไตย เข้ามามีบทบาทในสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์

4 ปีต่อมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า เมียนมาติดอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ของความขัดแย้ง ความยากจน และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น

อ่อง หล่า ถูกบีบบังคับให้ออกจากที่ดินของเขาในหมู่บ้านโมบีเย เนื่องจากการสู้รบหลังเหตุการณ์รัฐประหาร และเมื่อเข้าย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ พืชผลตามปกติของเขาก็ไม่สามารถทำกำไรได้อีกต่อไป แต่ฝิ่นกลายเป็นสิ่งที่ “เพียงพอต่อการดำรงชีพ”

“ทุกคนคิดว่าคนปลูกดอกฝิ่นจะร่ำรวย แต่พวกเรากำลังพยายามอย่างหนักเพื่อเอาชีวิตรอด” อ่อง หล่า กล่าวในเมืองเปกอน ของรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมา

แม้อ่อง หล่า รู้สึกเสียใจที่ปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเฮโรอีน แต่รายได้จากการขายฝิ่น เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขาไม่ต้องอดอาหาร และเชื่อว่าถ้าใครอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเขา ก็คงจะทำเช่นนี้เหมือนกัน

อนึ่ง การผลิตฝิ่นของเมียนมา อยู่ในอันดับสองรองจากอัฟกานิสถาน แต่หลังจากรัฐบาลตาลีบันเริ่มปราบปรามการเพาะปลูกฝิ่น เมียนมาก็แซงหน้าอัฟกานิสถาน และกลายเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อปี 2566 ตามข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี)

นอกจากนี้ ยูเอ็นโอดีซียังระบุว่า เศรษฐกิจฝิ่นของเมียนมา ซึ่งรวมถึงมูลค่าการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกไปต่างประเทศ มีมูลค่าระหว่าง 589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20,000 ล้านบาท) ถึง 1,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 52,700 ล้านบาท)

ขณะที่ นายอ่อง นาย เกษตรกรอีกคนหนึ่ง วัย 48 ปี กล่าวว่า ฝิ่นทำกำไรได้มากกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับพืชอาหารหลายชนิด เช่น ข้าวโพด เต้าหู้ และมันฝรั่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเมื่อฝนตก

อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นโอดีซีระบุว่า เกษตรกรชาวเมียนมาขายฝิ่นสดในราคาเพียงกว่า 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม (ราว 10,000 บาท) เมื่อปี 2567 ซึ่งถือว่า “ถูกมาก” เมื่อเทียบกับราคาในตลาดมืดระหว่างประเทศ อีกทั้งฝิ่นยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าข้าว เนื่องจากต้องใช้แรงงานมากกว่า ต้องใช้ปุ๋ยราคาแพง แต่มันกลับให้ผลผลิตน้อย

ยิ่งไปกว่านั้น การหลบหนีจากพื้นที่ขัดแย้งเพื่อปลูกฝิ่น ก็ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยแต่อย่างใด ซึ่งเกษตรกรชาวเมียนมาหลายคนในไร่ฝิ่น ต่างทำงานด้วยความกังวลและความกลัว แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องเพาะปลูกฝิ่น เพราะไม่มีทางเลือกอื่นท่ามกลางสงครามแล้ว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP