ขยับเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 หลังโศกนาฏกรรม ครั้งประวัติ ศาสตร์ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แผ่นดินไหวจุดศูนย์กลาง เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ทั้งคนไทยและผู้คนทั่วโลกยังช็อกกับ ภาพอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)กำลังก่อสร้าง สูง 30 ชั้น อยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร พังถล่มลงมาเพียงชั่วพริบตา
คำถามผู้คนในสังคม ติดตามมาเกิดอะไรขึ้น ทำไม “ตึก สตง.” มูลค่าถึง 2,136 พันล้านบาท พังถล่มลงมาแห่งเดียวเท่านั้น ทั้งที่ในกรุงเทพมหานครยังมีอาคารสูงใหญ่กำลังก่อสร้างอีกหลายแห่งแต่ได้รับผลกระทบไม่มาก
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับ การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การปฏิบัติงาน และการดำเนินการอื่น ที่เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล ปัจจุบันมี นายมณเฑียร เจริญผล เป็นผู้ว่าการ สตง.ยืนยันกระบวนการคัดเลือกผู้รับจ้างโครงการฯยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้
จากที่เคยตรวจสอบสารพัดหน่วยงาน กลายเป็นว่าสังคมร่วมกันตรวจสอบ ผู้คว้างานก่อสร้าง ตึก สตง. คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เสนอราคาต่ำสุด2,136 ล้านบาท ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2563 เบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 22 งวด 966.80 ล้านบาท
เมื่อไล่เช็ก บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ที่มาร่วมกับอิตาเลียนไทยฯ พบสภาพที่ตั้งของบริษัทเป็น อาคารพาณิชย์ ในซอยพุทธบูชา 44 เขตทุ่งครุ และอีกแห่ง ซอยรัชดาภิเษก 3 เขตดินแดง มี 3 ผู้ถือหุ้นคนไทย สัดส่วน 51% ขณะที่อีก 49% (ชาวจีนถือหุ้น) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ตามรอยข้อมูลบริษัท ถึงกับตะลึงเมื่อพบว่า ไชน่า เรลเวย์ฯ คว้างาน ก่อสร้างอาคารหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ 29 สัญญา วงเงิน 27,803,123,433.13 บาท ที่สำคัญรวมถึง โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ–นครราชสีมา มูลค่า 9,348 ล้านบาท
ยิ่งตรวจประวัติ “3 คนไทย” ถือหุ้นแล้วก็ไม่สอดคล้องกับสถานะทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นพนักงานขับรถ, หัวหน้าคนงาน ดีเอสไอจึงมีเหตุต้องเร่งสอบสวนไชน่าเรลเวย์ฯ รับเป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 เพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณี ถือหุ้นหรือทุนแทนนิติบุคคลต่างชาติ (นอมินี) หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
ไม่น่าเชื่อ จากโศกนาฏกรรมตึก สตง.ถล่ม ยิ่งกว่าช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด สารพัดหลากหลายเรื่องราวผุดขึ้นมา ถูกตีแผ่ให้สังคมไทยได้เห็น โดยเฉพาะ “ทุนข้ามชาติ” ตั้งนอมินีชาวไทยขึ้นมาถือหุ้นแทน เพื่อหวังหลีกเลี่ยงภาษีประกอบกิจการสารพัดธุรกิจเกิดมานานแล้วโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแหล่งท่องเที่ยว ล่าสุด คดีกลุ่มทุนเขมือบที่ดิน คทช. ขยายทำอาณาจักรสวนทุเรียนแปลงใหญ่ เข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนฯ จ.ฉะเชิงเทรา
ประชาชนเฝ้าจับจ้อง รอดูฝีมือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากแผ่นดินไหว กำลังบานปลายกลายเป็น “คดีนอมินีทุนข้ามชาติ“ และอีกเรื่องใหญ่ “สงครามภาษีสหรัฐ“ กำลังปั่นป่วนไปทั่วโลก ถึงแม้ รัฐบาลแพทองธาร จะตัดสินใจเลื่อน พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฯ ซึ่งมีประชุมวาระแรก 9 เม.ย.นี้ออกไปก่อน
แต่บรรดาม็อบยังรวมตัวเดินหน้าออกมาประท้วงต่อต้านกาสิโน งานนี้คงภาวนาอย่าให้ซ้ำรอย “พ.ร.บ.นิรโทษฯสุดซอย” ปี 2556 ที่เป็นชนวนให้ม็อบจุดติดออกมาขับไล่จน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ต้องตัดสินใจยุบสภาในที่สุด.
……………………………….
เชิงผา