หลายประเทศเริ่มยื่นคำร้องต่อดับเบิลยูทีโอ โดยกล่าวหาว่า กำแพงภาษีสูงลิ่วที่กำหนดโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูทีโอพบว่า พื้นที่ดำเนินการของตนเองถูกจำกัด โดยเฉพาะจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลวอชิงตันในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ในการจำกัดกลไกระงับข้อพิพาทด้วยการขัดขวางการแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาอุทธรณ์
ทั้งนี้ ดับเบิลยูทีโอ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในระบบของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และอำนาจของหน่วยงานไม่ได้ถูกมอบให้แก่ผู้อำนวยการหรือคณะกรรมการบริหาร ซึ่งแตกต่างจากองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
แต่ดับเบิลยูทีโอถูกควบคุมโดยฉันทามติจากประเทศสมาชิก 166 ประเทศ ซึ่งรวมกันเป็นตัวแทนการค้าโลกถึง 98% และมีสำนักงานเลขาธิการดับเบิลยูทีโอ เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาหลักสำหรับคณะกรรมการขององค์กร ซึ่งไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอ
แม้นางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ และอดีตรมว.การคลังไนจีเรีย รู้วิธีที่จะทำให้เสียงของเธอได้รับความสนใจ และนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สอง เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เธอก็ใช้แนวทางที่ระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป แต่จนถึงขณะนี้ เธอยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ตอนแรก โอคอนโจ-อิเวียลา ระบุเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่า เธอมี “ความกระตือรือร้น” ที่จะทำงานร่วมกับทรัมป์ และมองว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยคุกคามจากภาษีของเขา “ยังเร็วเกินไปเล็กน้อย” ซึ่งหลังจากทรัมป์กลับเข้าสู่ทำเนียบขาว และเริ่มดำเนินการด้านภาษีเหล่านั้น เธอก็เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ “อยู่ในความสงบ” และเตือนไม่ให้ตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
อนึ่ง ระบบระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ อ่อนแอลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลวอชิงตันระงับการดำเนินงานขององค์กรอุทธรณ์ของดับเบิลยูทีโอ เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 หลังจากขัดขวางการแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาชุดใหม่มานานหลายปี
ในการประชุมของดับเบิลยูทีโอ เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์เน้นย้ำคำเดิม คือปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอจากประเทศสมาชิก 130 ประเทศ ที่เรียกร้องให้มีการคัดเลือกผู้พิพากษาอุทธรณ์อีกครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น การขัดขวางดังกล่าวเป็นไปได้ เนื่องจากกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอ กำหนดให้การตัดสินใจใด ๆ ต้องมีฉันทามติร่วมกันอย่างสมบูรณ์ จากประเทศสมาชิกทั้ง 164 ประเทศ ส่งผลให้ประเทศสมาชิกดับเบิลยูทีโอ เกือบ 30 ประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) และจีน พัฒนากระบวนการอุทธรณ์ทางเลือก เพื่อช่วยให้คดีบางส่วนสามารถดำเนินการต่อไปได้ แม้สหรัฐไม่ได้ร่วมลงนามก็ตาม.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP