ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการเล่นน้ำ สืบสานประเพณีไทย ทั่วทุกพื้นที่แบบ “จัดเต็ม”  กิจกรรมเล่นสาดน้ำสงกรานต์มันหยด!! มีความเสี่ยงมากที่อุปกรณ์ต่าง ๆ จะมีสิทธิโดนน้ำแบบไม่ตั้งใจ

วันนี้จึงมีเคล็ดไม่ลับ! มาบอกกันเพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแกดเจ็ต ที่ใช้ส่วนตัวเสียหายใช้งานไม่ได้ ไม่ต้องเสี่ยงที่ต้องเสียเงินซ่อม หรือต้องซื้อใหม่ยิ่งช่วงนี้เศรษฐกิจแบบนี้ เซฟ ๆ เงินกันไว้ดีกว่าเริ่มกันที่

Mobile phone cases mockup product showcase

สมาร์ตโฟน

แม้ว่าสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่วางขายในตลาดจะมีมาตรฐานในการกันน้ำได้  ในมาตรฐานระดับ IP68 และ  IP67 ที่สามารถแช่อยู่ในน้ำได้เป็นเวลาสูงสุด 30 นาที แต่ก็ไม่ควรเสี่ยงให้โดนน้ำเพราะแม้ว่าสมาร์ตโฟนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานกันน้ำก็จริง แต่การเล่นสงกรานต์ต้องเจอสารพัดน้ำจากแหล่งต่าง ๆ ก็ไม่รู้จะสะอาดมากน้อยแค่ไหน หากเป็นน้ำจากคูคลอง อาจมีตะกอน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก จึงควรหาซองกันน้ำมาใช้กันได้เลย  มีขายราคาชิ้นละไม่กี่บาทหรือบางทีมีแจกกันฟรีในช่วงนี้ ขณะเดียวกันก็มีวิธีตรวจซองกันน้ำที่มีคุณภาพกันน้ำได้จริง ๆ โดยสามารถทดสอบด้วยการนำไปลองแช่น้ำ 10-15 นาที แล้วดูว่ามีน้ำซึมเข้าไปในถุงหรือไม่

อีกวิธีที่จะช่วยป้องกันได้ดียิ่งขึ้นคือ อาจจะหาถุงพลาสติก มาใส่มือถือก่อนแล้วใช้หนังยางรัดก่อนที่จะนำไปใส่ซองกันน้ำ ก็จะเป็นการป้องกันสองชั้นช่วยให้มือถือปลอดภัยจากน้ำเข้าในช่วงสงกรานต์นี้

แต่ถ้าใครพลาดน้ำเข้ามือถือซึ่งหลาย ๆ คนใช้วิธีการ โดยการนำไปวางไว้ในถังข้าวสาร หรือใช้ไดร์เป่าผมมาเป่านั้น เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ไม่แนะนำเช่นกันเพราะในถังข้าวสารอาจจะมีเศษข้าวเล็ก ๆ กากเปลือกข้าว อาจส่งผลให้มือถือได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นได้ จากที่เศษดังกล่าวหลุดเข้าไปตามซอกเล็ก ๆ ของมือถือ ส่วนการใช้ไดร์เป่าผมมาเป่านั้น ไอความร้อนจากลมของไดร์เป่าผม อาจทำให้มือถือพังได้

สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขด้วยตนเองเบื้องต้น คือ ปิดเครื่องแล้วรีบเอาผ้าเช็ดมือถือให้แห้งก่อนจากนั้นให้หาซองดูดความชื้น ที่ข้างในเป็นซิลิกาเจล (Silica Gel) สารช่วยดูดความชื้น มาใส่ในกล่อง หรือซองที่มีซิปล็อก พร้อมกับมือถือเพื่อทำการไล่ความชื้นออกก่อน โดยให้ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน  เพื่อให้ดูดความชื้นออกแล้วลองเปิดเครื่องหากสามารถใช้งานได้ตามปกติ ก็ไม่ต้องส่งซ่อมให้เสียเงิน

แต่ถ้ายังไม่หาย คงต้องส่งเข้าศูนย์บริการหรือที่ร้านรับซ่อมมือถือ เพื่อให้ช่างที่เชี่ยวชาญตรวจเช็กสภาพเครื่องให้ว่ามีความเสียหายตรงส่วนไหนประเมินราคาค่าอะไหล่ และค่าซ่อม แล้วลองพิจารณาดูว่า ค่าซ่อมที่ต้องจ่ายกับการเสียเงินซื้อ
เครื่องใหม่เลย อย่างไหนจะคุ้มกว่ากัน

Laptop with blank black screen on a white table

โน้ตบุ๊ก

ช่วงสงกรานต์ หลาย ๆ คนยังจำเป็นต้องมีโน้ตบุ๊กติดตัวไปด้วย เผื่องานเข้า โดนสั่งงานแบบด่วน จำเป็นต้องทำงาน ซึ่งสำคัญคือต้องเก็บโน้ตบุ๊กให้ดี รอดพ้นจากการโดนน้ำ ไม่เช่นนั้น ต้องเสียเงินซ่อม หรือซื้อใหม่ โดยเฉพาะหากโดนน้ำแล้วเสี่ยงที่เครื่องจะพังได้มาก ๆ จึงควรเก็บโน้ตบุ๊กให้ดีใส่กระเป๋าที่
กันน้ำ หรือใช้เคสกันน้ำ  หรือไม่ถือนำไปในพื้นที่ที่มีการเล่นน้ำ

แต่เมื่อพลาดโน้ตบุ๊กเปียกน้ำ วิธีแก้ไขในเบื้องต้น คือ ให้รีบปิดเครื่องทันทีห้ามเปิดใช้งานโน้ตบุ๊กเด็ดขาด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และให้ถอดปลั๊กและแบตเตอรี่ออกทันที แล้วรีบซับน้ำออกจากตัวเครื่อง โดยใช้ผ้าแห้งโดยจุดที่ต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ คือบริเวณช่องต่าง ๆ เช่น พอร์ต USB, ช่องเสียบหูฟังที่น้ำอาจไหลหลุดรอดเข้าไปสร้างความเสียหายได้ง่าย

รวมถึงให้คว่ำโน้ตบุ๊กเพื่อให้น้ำไหลออกจากตัวเครื่องได้ง่ายขึ้น และให้ใช้ลมเย็นเป่า เพื่อไล่น้ำออกจากซอกต่าง ๆ และขอย้ำว่าอย่าใช้ลมร้อน หรือนำไปตากแดดเด็ดขาดเพราะอาจส่งผลเสียต่อชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องได้และให้นำตัวดูดความชื้นคือ ซิลิกาเจลหรือถุงดูดความชื้นใส่ในถุงซิปล็อก วางโน้ตบุ๊กไว้ในถุง ปิดให้สนิททิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามหากโน้ตบุ๊กเปียกน้ำมาก ทางที่ดีที่สุด คือควรนำไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบโดยเร็วที่สุด

PNG Power bank isolated on white background

พาวเวอร์แบงก์

ถือเป็นอีกหนึ่งแกดเจ็ตที่จำเป็นจริง ๆ ทุกคนต้องมีพกติดตัว ในยุคนี้สำหรับพาวเวอร์แบงก์หรือแบตเตอรี่สำรอง ช่วยให้เรายังสามารถใช้มือถือได้อย่างต่อเนื่องไม่ต้องคอยหาจุดเสียบชาร์จมือถือที่อาจไม่สะดวกหากกำลังเดินทาง โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ใครที่เดินทางโดยรถยนต์ สิ่งสำคัญที่ต้องระวังก็คืออย่าวางพาวเวอร์แบงก์ทิ้งไว้ในรถยนต์โดยเฉพาะหากต้องจอดรถตากแดดเป็นเวลานาน รวมถึงอย่านำไปวางไว้ในสถานที่ที่มีความร้อนสูงเพราะมีความเสี่ยงที่พาวเวอร์แบงก์จะทนความร้อนไม่ไหว เกิดระเบิดหรือไฟลุกขึ้นมา จะเป็นอันตรายได้อาจทำให้การเดินทางกลับบ้านหรือทริปท่องเที่ยวหมดสนุกไปเลย

และในปัจจุบันมีข่าวว่าเกิดพาวเวอร์แบงก์ระเบิดบนเครื่องบิน ทำให้หลาย ๆ สายการบินออกกฎใหม่ตั้งแต่ มี.ค.ที่ผ่านมาจากเดิมที่ห้ามโหลดใต้ท้องเครื่องบินอยู่แล้ว โดยได้เพิ่มเติม คือห้ามเก็บพาวเวอร์แบงก์ในช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ ต้องพกติดตัวตลอดการเดินทางห้ามใช้งานและห้ามชาร์จพาวเวอร์แบงก์ทุกกรณี และห้ามเสียบชาร์จพาวเวอร์แบงก์กับปลั๊กไฟหรือ USB บนเครื่องบิน ซึ่งหากช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เราต้องเดินทางโดยเครื่องบินก็ต้องศึกษากฎระเบียบของสายการบินนั้น ๆ ว่ามีข้อห้ามอย่างไรบ้างด้วย

Still life of tech device

หูฟัง

คนที่ต้องเดินทาง ติดดูหนังฟังเพลง แน่นอนว่า “หูฟัง” จะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีพกติดตัวไว้ โดยปัจจุบันหูฟังมีวางขายกันหลายแบรนด์ หลายราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นทั้งหูฟังมีสาย ไร้สาย หูฟังบลูทูธก็สามารถเลือกซื้อได้ตามความชอบและกำลังทรัพย์เงินในกระเป๋าของแต่ละคน โดยส่วนใหญ่หูฟังจะมีคุณสมบัติต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการกันเหงื่อกันน้ำ แต่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ หูฟังอาจเปียกน้ำจนทำให้น้ำเข้าไปขังอยู่ในตัวหูฟังส่งผลให้ระบบเสียงมีความเสียหายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

ซึ่งหากหูฟังเปียกน้ำให้รีบปิดหยุดการทำงานของหูฟังทันที ถ้าเป็นหูฟังแบบมีสายให้ดึงออกจากอุปกรณ์ที่ทำการเชื่อมต่ออยู่ แต่ถ้าเป็นหูฟัง True Wireless ไร้สายนั้น สิ่งสำคัญ คือ อย่าเก็บลงเคสเพราะอาจจะทำให้ช็อตจากเคสที่จะชาร์จไฟ โดยเมื่อปิดหูฟังแล้วให้ดึงเอาจุกหูฟังและฟองน้ำหูฟังออกมาเพื่อป้องกันน้ำขังจากนั้นให้ใช้สำลีก้านหรือทิชชูม้วนปลายแหลม ทำความสะอาดในมุมหรือซอกเล็ก ๆ ให้แห้ง ข้อสำคัญคือห้ามนำไปตากแดดนำเข้าไมโครเวฟ หรือเป่าด้วยลมร้อนเพราะความร้อนที่สูงเกินไปจะทำให้หูฟังเสียหายได้

โดยให้ใช้วิธีนำหูฟังใส่ลงไปในถุงแล้วดูดอากาศออกให้หมด และใช้ซิลิกาเจลหรือถุงดูดความชื้นใส่ในถุงซิปล็อก ทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง แล้วลองเปิดใช้งานดูว่ายังใช้งานได้หรือไม่หากไม่หาย หรือเสียงไม่สมบูรณ์ ผิดเพี้ยน ติด ๆ ดับ ๆ คงต้องซื้อใหม่

ทั้งหมดเป็นวิธีการป้องกันและดูแลอุปกรณ์ไอทีและแกดเจ็ตต่าง ๆ ในช่วงสงกรานต์นี้ซึ่งน่าจะช่วยให้อุปกรณ์ของทุก ๆ คนปลอดภัยใช้งานได้ต่อไปไม่เสียหายตลอดเทศกาลสงกรานต์ปี 68 นี้.