วันนี้ “เดลินิวส์” ถือโอกาสจับเข่าคุยกับ พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค เพื่อไขข้อข้องใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันและความจำเป็นของการฉีดวัคซีน

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ โฆษกกรมควบคุมโรค อธิบายถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า “ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ถึง 21 พฤษภาคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 143,650 ราย เรียกได้ว่าตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นของการระบาด ก่อนสงกรานต์เคสยังน้อยกว่า 15,000 ราย แต่หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันเราถือว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นที่สามารถมีการระบาดได้ ความรุนแรงเมื่อเทียบกับการระบาดในปีแรกๆ ลดลงอย่างมาก อัตราการป่วยเสียชีวิตลดจาก 0.14% เหลือเพียง 0.02% ในปัจจุบัน ทำให้โควิด-19 มีการระบาดคล้ายกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่พบมากในช่วงฤดูฝนหรือหลังสงกรานต์”

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นคือ ภูมิคุ้มกันของประชาชนลดลง เนื่องจากไม่ได้รับวัคซีนต่อเนื่องเหมือนช่วงแรกๆ ประกอบกับสายพันธุ์ XBC ที่แพร่ระบาดได้ง่าย และอาการของโรคที่อ่อนลง ทำให้บางคนไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ จึงมีการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นในช่วงที่มีการรวมตัวกันหลังสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม อัตราการป่วยเสียชีวิตก็ยังน้อยกว่าช่วงแรกๆ

เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการระบาดมาตั้งแต่ต้นปี มีผู้ป่วยประมาณ 6,000-7,000 รายต่อสัปดาห์ แต่ไม่ได้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนโควิด-19 ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มักมีอาการชัดเจนกว่า เช่น ไข้สูง เพลียซึม ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อต่อได้น้อยกว่า

“โรคติดเชื้อทางเดินหายใจไม่ได้มีแค่ไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมี RSV และไวรัสระบบทางเดินหายใจอื่นๆ อีก ที่หากเจอในกลุ่มเสี่ยง อาจทำให้อาการรุนแรงได้” พญ.จุไร กล่าวเน้นย้ำถึงกลุ่มที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว (โรคปอด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, ไต, โรคอ้วน, ธาลัสซีเมีย, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง) เด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบ และหญิงตั้งครรภ์ “กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้คือที่เราพยายามปกป้องไม่ให้พวกเขารับเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นโควิด ไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสระบบทางเดินหายใจอื่นๆ”

ดังนั้น มาตรการป้องกันยังคงสำคัญ พญ.จุไร แนะนำว่า “หากต้องเข้าสู่ชุมชน ควรใส่หน้ากากอนามัยไว้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรใส่ตลอดเวลาเมื่อต้องออกสู่ชุมชน หรือเจอคนเยอะ และต้องล้างมือบ่อยๆ ส่วนผู้ที่ป่วยมีอาการ มีไข้สูง ควรทดสอบ หากผลเป็นบวกไม่ว่าโรคใด ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยไปโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหากได้รับยารักษาเร็วก็จะเป็นผลดี”

คำถาม-คำตอบ เจาะลึกสถานการณ์โควิด-19

ถาม: โควิด-19 ก่อความรุนแรงกับกลุ่มเสี่ยงได้มากแค่ไหน?
ตอบ: “ยังรุนแรงลดลงเช่นกันครับ ย้อนกลับไปช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ อัตราการป่วยเสียชีวิตในประเทศไทยอยู่ที่ 0.14% ต่อมาปี 2567 เหลือ 0.03% และปีนี้ ข้อมูลล่าสุดอยู่ที่ 0.02% เรียกได้ว่าอัตราการป่วยเสียชีวิตลดลงมาเรื่อยๆ แต่เราไม่อยากให้ชะล่าใจ โดยเฉพาะถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ป่วยอยู่วันสองวันแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรจะไปพบแพทย์ดีกว่า

อีกอย่าง ถ้าเราดูอัตราการป่วยเสียชีวิตของโควิด จะสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอยู่ที่ 0.01% แต่ไข้หวัดใหญ่มีข้อได้เปรียบคือมีวัคซีนฉีดฟรีสำหรับกลุ่มเสี่ยงช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม และมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่รับประทานง่ายและมีในทุกโรงพยาบาล ทำให้ไข้หวัดใหญ่อัตราการป่วยเสียชีวิตน้อยกว่าโควิด ที่จริงโควิด-19 ก็มียารักษา และข้อมูลผู้ป่วยเสียชีวิตมักเจอในผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป”

ถาม: คาดการณ์โรคโควิด-19 จากนี้จะสูงแบบทรงตัวไปเรื่อยๆ ในหน้าฝน หน้าหนาว หรือจะพีคขึ้นไปอีก?
ตอบ: “ปกติ พอถึงฤดูฝนของทุกปี การติดเชื้อโรคทางเดินหายใจจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่อาจจะสูงขึ้นกว่านี้ได้อีกนิดหน่อยแล้วจะค่อยๆ ลดลง ขึ้นอยู่กับมาตรการ ซึ่งขณะนี้มาตรการที่เรากำลังพยายามจะเพิ่มเข้าไปคือ ทางกรมพยายามพยากรณ์ว่า หากมาตรการที่เราขอให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่าง ซึ่งถ้าทุกคนร่วมใจกันปฏิบัติตามก็จะทำให้เราลดจำนวนผู้ป่วย และลดระยะเวลาการระบาดให้สิ้นสุดได้เร็ว ลดต่ำได้เร็ว”

ถาม: ความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19?
ตอบ: “วัคซีนป้องกันโควิด-19 ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมการฉีดฟรีโดยภาครัฐ แต่ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) และในส่วนของประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้มีคำแนะนำว่า ในกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น หากยังไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดมาก่อน หรือยังไม่เคยป่วยโควิดมาก่อน ในขณะที่ช่วงนี้มีการระบาดเยอะก็อาจจะต้องเข้าไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด แต่อาจจะต้องไปรับที่สถานพยาบาลเอกชน

ผู้ที่จะรับวัคซีนโควิดนั้นร่างกายก็ต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมด้วย ดังนั้นก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ ว่าสภาพร่างกายจะพร้อมรับวัคซีนหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องคงมาตรการปกป้องตัวเองให้ดี คือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง

ตอนนี้เด็กนักเรียนเปิดเทอมแล้ว เราพบเด็กป่วยเยอะ ที่นอนแอดมิทอยู่ตอนนี้เป็นเด็ก ซึ่งถึงในเด็กอาการจะไม่เยอะ แต่เด็กสามารถแพร่กระจายได้ ดังนั้นมาตรการคัดกรองที่โรงเรียน ซึ่งเขาทำได้ดีอยู่แล้ว เพราะเจอหลายรอบ การคัดกรองที่โรงเรียนมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเด็กมาโรงเรียนแล้วเกิดการติดเชื้อ แล้วกลับเอาเชื้อไปติดคนสูงอายุก็จะอันตรายเหมือนกัน

Woman with plaster on shoulder sitting in chair after vaccination

ถาม: การเตรียมวัคซีน และยารักษาโรคโควิดของไทย?
ตอบ: “ตอนนี้มีวัคซีนเพียงตัวเดียวที่มีการขึ้นทะเบียนอยู่ในประเทศไทยคือ ชนิด mRNA ส่วนวัคซีนชนิดอื่นตอนนี้ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ตัววัคซีน mRNA นั้น ในส่วนของภาครัฐไม่ได้มีการจัดให้ฉีดฟรีแล้ว แต่มีที่สถานพยาบาลเอกชน ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องของยา มีการรักษาด้วย เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาฉีด, โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยารับประทาน มีในโรงพยาบาล และแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้กับคนไข้อยู่แล้ว”

ถาม: ในส่วนของกลุ่มเสี่ยง ที่เคยฉีดวัคซีนแล้ว สามารถไปฉีดเข็มกระตุ้นได้หรือไม่?
ตอบ: “ใช่ค่ะ นี่คือคำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ คือคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำ แต่ตอนนี้การรับวัคซีนเป็นเรื่องความสมัครใจ”

ถาม: สถานการณ์ที่เจอคนป่วยโควิดเพิ่มขึ้นเช่นนี้มีการคาดการณ์ หรือมีความกังวลอย่างไรหรือไม่?
ตอบ: “คิดว่ามันจะเป็นเหมือนสถานการณ์ที่ผ่านมา ที่เรามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ หรือการระบาดของโรค RSV ในปีก่อนๆ ที่มีคนป่วยเยอะเหมือนกัน และเรามีการเตรียมความพร้อมของยารักษาโรค และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ก็ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมในเรื่องของยารักษาโรค ห้องแยกโรค ฯลฯ เหมือนทุกครั้งที่เราเจอการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ”

ถาม: ในคนเสียชีวิตในยุคที่โควิดอ่อนกำลังลง มีเหตุผลประวัติสุขภาพ หรือมีประวัติการรับวัคซีนหรือไม่?
ตอบ: “ข้อมูลตรงนี้ ขณะนี้กำลังให้กองระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขทำการวิเคราะห์อยู่ แต่ข้อมูลที่ได้รับตอนนี้ พบว่าการระบาดของโรคโควิดรอบนี้ 80% ของคนเสียชีวิต คือเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี แต่ยังไม่สามารถลงไปวิเคราะห์ในรายละเอียดได้ว่ามีประวัติการรับวัคซีน หรือประวัติเจ็บป่วยอื่นๆ อย่างไรบ้าง”