ท่ามกลางปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการ SME ต้องตรวจเช็กสภาพธุรกิจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันรับมือกับปัญหาที่ไม่คาดคิด ที่วันนี้คอลัมน์นี้ก็มีข้อมูลดี ๆ นำมาสะท้อนต่อ ซึ่งเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “ความแตกต่าง” ระหว่าง Profit กับ Cash Flow จะเป็นยังไงนั้นต้องลองมาพิจารณา โดยเป็นข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ DX by SME D Bank ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เขียนโดย กนกพร ลิปิมงคล

               ทั้งนี้ แหล่งข้อมูลดังกล่าวชวนผู้ประกอบการตั้งคำถามว่า ทุกคนเคยสงสัยไหม? ธุรกิจขายดี มีรายรับสูง แต่จู่ ๆ ก็ไปไม่รอด เพราะเงินสดในมือไม่พอจ่ายค่าเช่า ค่าแรงงาน หรือแม้แต่ค่าวัตถุดิบ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจในความแตกต่างระหว่าง Profit กับ Cash Flow ว่าเหมือน-ไม่เหมือนกันอย่างไร โดยข้อมูลจาก DX by SME D Bank ได้อธิบายว่า Profit หรือ “กำไร”  คือ เงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกจากรายได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือหากคิดง่าย ๆ สมมุติว่า ขายของได้ 100 บาท ต้นทุนสินค้า 50 บาท ค่าเช่าร้าน 10 บาท ค่าจ้างพนักงาน 20 บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายแล้วเป็น 80 บาท ดังนั้น กำไรก็คือ 100 – 80 = 20 บาท นั่นเอง เป็นคำอธิบายโดยสังเขปของคำว่า Profit แล้ว Profit บอกอะไรให้ธุรกิจ ซึ่งกำไรนี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนให้ถึง ความสามารถในการทำเงินของธุรกิจ ว่าขายของแล้วคุ้มค่าใช้จ่ายหรือไม่ หรือมีประสิทธิภาพแค่ไหนในการบริหารจัดการต้นทุน

ส่วน “Cash Flow” หรือ “กระแสเงินสด” คือ การเคลื่อนไหวของเงินสดที่เข้าและออกจากธุรกิจในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรืออธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็สามารถแบ่งเป็น กระแสเงินสดไหลเข้า ได้แก่ เงินที่ได้จากการขายสินค้า เงินที่ได้จากลูกค้าที่จ่ายหนี้ รวมถึงเงินกู้ และเงินเพิ่มทุนด้วย ขณะที่ กระแสเงินสดไหลออก ได้แก่ เงินจ่ายซื้อสินค้า ค่าเช่า ค่าจ้าง จ่ายหนี้ การซื้อสินทรัพย์ โดย “กระแสเงินสดสุทธิ” หาได้จากการนำเงินสดไหลเข้ามาลบกับเงินสดไหลออก ถ้าผลเป็นบวกแสดงว่ามีเงินสดเหลือ แต่ถ้าเป็นลบแสดงว่ากำลังเกิดปัญหาเงินสดขาดมือ โดย Cash Flow จะสะท้อนถึงสภาพคล่องของธุรกิจว่า มีเงินสดเพียงพอที่จะใช้จ่ายหรือไม่ เช่น จ่ายค่าสินค้า จ่ายค่าจ้าง หรือแม้แต่การชำระหนี้ เพราะแม้ธุรกิจจะมีกำไร แต่ถ้าไม่มีเงินสดหมุนเวียนก็อาจจะทำให้มีปัญหาได้ และนี่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับคำศัพท์สองคำที่สำคัญต่อธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการควรที่จะต้องทำความเข้าใจให้ดี อย่างไรก็ดี ทางผู้เขียนบทความ อย่าง กนกพร ลิปิมงคล ยังได้มีการเนเนย้ำว่า แม้ตัวเลขบัญชีจะแสดงว่าธุรกิจมีกำไร แต่ความจริงอาจกำลังเผชิญความเสี่ยงสภาพคล่อง หากไม่มีเงินสดเพียงพอในการบริหารจัดการรายจ่ายที่เกิดขึ้นแต่ละเดือนจนอาจขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินงานและการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรบริหารจัดการ “กำไร” และ “กระแสเงินสด” ควบคู่กัน เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจ.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]