คำตอบคือ ในคนที่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าและเลิกสูบไม่ได้ ทางการแพทย์จัดเป็นโรคหนึ่ง ชื่อโรค “พึ่งพานิโคติน” ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการคือ โรค “Nicotine dependence” จัดอยู่ในรหัสโรค ICD-10 รหัส F 17.2 เป็นโรคเรื้อรังที่เบิกค่ารักษาการเลิกสูบบุหรี่ได้

                คนที่ติดบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า เพราะติดสารเสพติดนิโคติน ซึ่งมีอันตรายต่ออวัยวะต่างๆในร่างกาย ตั้งแต่สมอง หัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันสูงขึ้น เส้นเลือดแข็งตัวและยืดหยุ่นน้อยลง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่โรคหัวใจ การเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนทำให้เพิ่มความเสี่ยงเป็นเบาหวาน

                นิโคตินยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของสมองนอกเหนือจากการเสพติด ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการซึมเศร้า

                นอกจากนิโคตินแล้ว บุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้ายังประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ สารก่อมะเร็งและโลหะหนัก ทำให้เกิดโรคปอด โรคมะเร็งชนิดต่างๆ และเกิดโรคหัวใจได้เร็วขึ้น

                คนสูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ที่ยังไม่มีอาการของโรค เช่นโรคหัวใจ โรคถุงลมปอดเสื่อม สมองเสื่อม จริงๆแล้วก็คือ โรคยังอยู่ในระยะฟักตัว อวัยวะเสียแล้ว มากน้อยแล้วแต่ว่าสูบมานานเท่าไร  แต่ที่ยังไม่มีอาการเพราะอวัยวะยังเสียไม่มากพอที่จะแสดงอาการของโรค

                ตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่ที่เส้นเลือดหัวใจตีบไป 50-60% อาจจะยังไม่มีอาการของโรคหัวใจ โดยเฉพาะในคนที่ไม่มีการออกกำลังกายที่หัวใจต้องทำงานมากขึ้น

                คนที่สูบบุหรี่ต่อไป หลอดเลือดจะค่อยตีบตัวมากขึ้นๆ จนวันหนึ่งเกิดตีบตันกระทันหัน หัวใจวายกะทันหัน

                ในคนที่สูบบุหรี่อยู่นาน ที่ยังไม่มีอาการป่วย แต่หลังจากเลิกสูบบุหรี่ไปแล้วหลายปี จึงเกิดโรคหัวใจ โรคถุงลมปอดพอง หรือเป็นมะเร็ง เพราะอวัยวะที่ได้รับความเสียหายแล้ว จะไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติ และจะเสื่อมต่อไปตามเวลา/อายุที่มากขึ้น จนถึงขั้นเกิดอาการของโรคขึ้น

                สรุปคือ คนที่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ป่วยเป็นโรคพึ่งพา( เสพติด) นิโคตินแล้ว ยิ่งสูบนานโรคที่ฟักตัวอยู่ ก็ยิ่งมีโอกาสแสดงอาการของโรค และยิ่งเลิกสูบเร็วเท่าไร ยิ่งลดโอกาสที่จะเกิดโรค

                ขอให้ทุกคนโชคดีในการเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด ก่อนที่จะสายเกินไปนะครับ

                ข้อมูลจาก ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

อ้างอิง

https://d3futrf33lk36a.cloudfront.net/wp-content/uploads/sites/240/2017/09/icd10.pdf
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nicotine-dependence/symptoms-causes/syc-20351584

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่