ญี่ปุ่นส่งเรือพิฆาตผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นครั้งแรก จำนวน 2 รอบ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ญี่ปุ่นเต็มใจที่จะท้าทายจีนโดยตรง ในประเด็นเกี่ยวกับเส้นทางน้ำ และการอ้างสิทธิเหนือเกาะปกครองตนเอง

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเพิ่มงบประมาณทางทหาร และขอบเขตการซ้อมรบทางทะเลไปไกลถึงมหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่รัฐบาลปักกิ่งอ้างว่าควบคุมเกือบทั้งหมด แต่มันก็เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก

อนึ่ง ความก้าวร้าวของจีน ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศตื่นตระหนก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งเพิ่มการประจำการทหารทางอากาศและทางทะเลรอบไต้หวัน เผชิญหน้ากับเรือฟิลิปปินส์หลายครั้งบริเวณหมู่เกาะและแนวสันดอนที่เป็นข้อพิพาท ตลอดจนส่งเรือรบเข้าไปในน่านน้ำสากลนอกชายฝั่งของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

แม้ญี่ปุ่นระมัดระวังการพัวพันทางทหารต่างประเทศมานานหลายสิบปี ตามรัฐธรรมนูญสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งห้ามการใช้กำลังเพื่อยุติข้อพิพาท แต่การที่รัสเซียปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบในยูเครน และการที่จีนยิงขีปนาวุธเหนือไต้หวันในปี 2565 ถือเป็นจุดเปลี่ยน

ปัจจุบัน รัฐบาลโตเกียวดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศ กับประเทศพันธมิตรในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็ตั้งตำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของสหรัฐที่มีต่อพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ โดยกล่าวว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไม่จ่ายเงินให้สหรัฐมากพอ สำหรับการประจำการทหารอเมริกันในทั้งสองประเทศ และไม่มีความชัดเจนว่าพวกเขาจะสนับสนุนไต้หวันหรือไม่ หากไต้หวันถูกโจมตี

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2565 รัฐบาลโตเกียวให้คำมั่นว่าจะจัดสรรงบประมาณ 43 ล้านล้านเยน (ราว 9.7 ล้านล้านบาท) เพื่อเสริมกำลังทหาร ซึ่งจะครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี และเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมจาก 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นประมาณ 2% ของจีดีพี

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นายพีต เฮกเซธ รมว.กลาโหมสหรัฐ เดินทางเยือนกรุงโตเกียว และกล่าวว่า สหรัฐจะสร้างการป้องปรามจีนขึ้นใหม่กับประเทศพันธมิตร รวมถึงญี่ปุ่น พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตามแผนของรัฐบาลสมัยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการจัดตั้งศูนย์บัญชาการทหารแห่งใหม่ในญี่ปุ่น

แต่ถึงอย่างนั้น ทรัมป์ก็วิพากษ์วิจารณ์สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐ-ญี่ปุ่น โดยกล่าวว่า รัฐบาลโตเกียวได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้มากกว่ารัฐบาลวอชิงตัน

ด้านนายโคอิจิ อิโซเบะ พลโทเกษียณอายุของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น (เจจีเอสดีเอฟ) กล่าวว่า ญี่ปุ่นทำการคำนวณด้วยตัวเองว่า ต้องการส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังจีน แต่ถ้าการป้องปรามประสบความล้มเหลว ผลกระทบที่ตามมาจะรุนแรงมาก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP