เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เสียงกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT) ค่อนข้างผิดหวังกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากที่มีคู่หญิงรักหญิงไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 ว่าด้วย สิทธิในการแต่งงาน (ปพพ.1448 รับรองการแต่งงานของชายและหญิง) ขัดต่อรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (หลักๆ คือมาตรา 4) หรือไม่ นัยว่า “เพราะมีการแยกกลุ่มหลากหลายทางเพศออกจากชายหญิง” และได้สิทธิไม่เท่าเทียมกันในด้านการสมรส

ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีแต่ข้อแนะนำช่วงท้ายคำวินิจฉัยฉบับสั้นว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐสภาในการออกกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพประชาชนต่อไป ซึ่งคำวินิจฉัยฉบับเต็มก็จะออกเร็วๆ นี้ เสียงความไม่พอใจดังอื้ออึงอยู่ในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง มีทั้งผู้ที่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย, สายเสรีนิยมที่อยู่ในกระแสการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียม เพราะ LGBT ก็คือความหลากหลายทางอัตลักษณ์ สายเสรีนิยมเขาก็เห็นว่าจะให้ “คนเท่ากัน” ก็ต้องสนับสนุนสิทธิของทุกกลุ่ม ซึ่งมันก็คือค่านิยมหรืออุดมการณ์ที่แต่ละคนยึด

เสรีนิยมบอกว่า “การแบ่งเพศชายหญิงเป็นเรื่องคร่ำครึ” เพราะเพศ ไม่ใช่แค่เรื่องสรีระอย่างที่คิดที่เชื่อกันมาตั้งแต่โบราณ แต่มันคือ “สำนึกทางเพศ”ของแต่ละบุคคล …พูดเยอะๆ ศัพท์หรูๆ บางคนก็งง …ง่ายๆ เกิดมามีอวัยวะเพศชาย ก็ไม่จำเป็นต้องมีความชอบหรือใช้ชีวิตแบบชาย เป็นเกย์หรือเป็นพวกข้ามเพศ (ทรานส์) ก็ได้ เช่นเดียวกับคนมีเพศกำเนิดหญิง ก็มีสำนึกทางเพศที่ไม่ใช่หญิง …แล้วตอนนี้มันล้ำไปมากขนาดเราไปชี้ว่าใครเป็นเกย์เป็นทอมไม่ได้แล้ว เกิดชุดสำนึกทางเพศแบบ “ไม่ขอระบุว่าตัวเองเป็นแบบไหน” ขึ้นมาอีก …เอาเป็นว่ามันเป็น “การเมืองทางเพศ” รูปแบบหนึ่งแล้วกัน ที่จะนิยามอัตลักษณ์ความเป็นตัวเองและรวมกลุ่มลักษณะเดียวกันเพื่อแสดงตัวตนและสร้างอำนาจต่อรอง

ถ้าจะให้อธิบายเรื่องเพศอีกมันก็คงจะยาวเกินไป ขอกลับมาที่เรื่อง ปพพ.1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็สร้างความไม่พอใจอยู่พอสมควร สายหนึ่งเขาก็ว่า “ทำให้ไม่มีกฎหมายสำหรับคนที่เขาจะใช้” ฝ่ายเสรีนิยมก็ว่า “คนไม่เท่ากัน”… แต่ก่อนจะกราดเกรี้ยวไปกว่านี้ ต้องบอกว่า “มันมีทางออก” เพราะย้ำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ปพพ.1448 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่ามันจะแก้ไม่ได้” ก็เข้าตามกระบวนการสภาปกติไป ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ได้ห้ามแก้ และก็มีร่างรออยู่แล้ว พรรคก้าวไกลจะเร่งร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ปพพ. (ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว

อันว่า ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ปพพ. นี้ เห็นทีว่าคงผ่านสภายาก เพราะ

1. เป็นร่างของฝ่ายค้าน

2.ร่างนี้จะต้องแก้ ปพพ. ที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 1448 หลายมาตรา (ซึ่งพรรคก้าวไกลบอกว่ารวมไว้ได้ราว 69 มาตรา) มีผู้เห็นว่ายุ่งยาก อาจมีปัญหาในอนาคต..การทำกฎหมายสมรสเพศเดียวกันมันไม่ได้ง่ายแค่แก้ ปพพ.มาตรา 1448 มาตราเดียว แต่ เรื่องสมรส เรื่องทรัพย์สิน เรื่องครอบครัวมันพัวพันอีกหลายมาตรา ซึ่งพอหมวดครอบครัว กฎหมายมันระบุเพศ และ หน้าที่แห่งเพศ เช่น คำว่า “สามีภรรยา บิดามารดา” มันคำระบุเพศทั้งนั้น..แก้เป็น “บุคคล”หรือ “ผู้หนึ่งผู้ใด” หมด จะลำบากอภิปราย-แก้ยากหรือไม่

3.รัฐบาลก็มีร่างของตัวเองอยู่แล้วก็ใช้ร่างเขา คือร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ต่างจากร่างของพรรคก้าวไกล ตรงที่พรรคก้าวไกลให้การรับรองการสมรสของเพศเดียวกันต้องแก้ไข ปพพ. แต่คู่ชีวิตคือกฎหมายสมรสเพศเดียวกันที่ทำแยกมาต่างหาก ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ความล่าช้าเกิดขึ้นในชั้นวิป ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยว่า “มีผู้ทักท้วงให้ทบทวน” อันนี้ก็น่าสนใจว่า “ใครทักท้วง ประเด็นอะไร?” มีข่าวกระเซ็นกระสายมาบ้างว่ามี กลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มรักศาสนา ไม่ค่อยอยากให้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันผ่าน เพราะไปขัดต่อความเชื่อของเขา

กลุ่มอนุรักษนิยมกับกลุ่มเคร่งศาสนามีความเห็นขัดแย้งกับกลุ่มเสรีนิยม และทำให้กฎหมายไม่ได้ดังใจเสรีนิยมในหลายประเทศ เอาง่ายๆ เรื่องสมรสเพศเดียวกัน ฟิลิปปินส์ที่ว่าค่อนข้างเปิดกว้างกับกลุ่ม LGBT ก็ไม่มีกฎหมายนี้ เพราะคาทอลิกที่เคร่งในประเทศไม่เห็นด้วย ขนาดประธานาธิบดีดูเตร์เตยังเคยแสดงอาการไม่เห็นด้วย หรือในไต้หวัน อันนี้ต้องอย่าหลงว่า “ไต้หวันได้สมรสเท่าเทียม” เพราะมันไม่ถึงขนาดนั้น มีกลุ่มอนุรักษนิยมขวาง

กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้กฎหมายที่ ไม่รับรองการสมรสเพศเดียวกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ชาว LGBT ไต้หวันก็ดีใจโพสต์อะไรติดแฮชแท็ก #lovewin กันใหญ่ กะว่าจะได้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว ปรากฏว่า ในกระบวนการออกกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน มีการทำประชามติ ..ผลประชามติคือคว่ำกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มอนุรักษนิยมนี่แหละ ทำให้ไต้หวันต้องพิจารณาร่างกฎหมายสมรสขึ้นมาต่างหาก และสิทธิมันไม่ได้เท่ากับกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน …ถ้าเป็นโมเดลไทย ก็คือการออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ใช่ พ.ร.บ.แก้ ปพพ.1448      

พอพูดถึงการประชามติและเสียงของพวกอนุรักษนิยม ..ก็น่าเห็นใจกลุ่ม LGBT ที่อยากได้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน มันเหมือนเป็น กฎหมายที่เสียงคนไม่ได้ใช้ดังกว่าเสียงคนใช้ เพราะคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้ คนที่ไม่เห็นจำเป็นต้องมี มีเยอะกว่าคนใช้ กระทั่งกลุ่ม LGBT เองก็มีจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องจะเอา เพราะไม่เห็นความจำเป็น ขออยู่เงียบๆ ดีกว่าออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลัง หรือเหตุผลอะไรก็ตาม (บางคนก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเองเป็น LGBT เขาก็ไม่อยากเคลื่อนไหวรณรงค์) ..พลังเรียกร้องมันก็อ่อนลง

กฎหมายนี้เรียกได้ว่า เป็นกฎหมายที่ชัดว่า “ความเป็นธรรมไม่ได้วัดกันด้วยเสียงข้างมากเห็นด้วย” แต่ความเป็นธรรมคือ“กฎหมายมันต้องมีสำหรับคนที่เขาจำเป็นต้องใช้” ซึ่งคนที่ต้องใช้ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลที่ชัดเจน สื่อสารไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ ว่า “ทำไมต้องเป็นสมรสเท่าเทียมแต่ทีแรก” ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องเปิดใจ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นศีลธรรมหรือวัฒนธรรม ไม่ใช่ประเด็นอะไรทั้งนั้นก็แค่ความจำเป็นของคนที่เขาต้องใช้

อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนในหลายประเทศ การสมรสเท่าเทียมมันก็ไม่ใช่ได้มาอย่างเท่าเทียมแต่ทีแรก แต่มันมีการ “ไต่ระดับ” เกิดจากการค่อยๆ คลายล็อกกฎหมายให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันทำอะไรได้ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มสิทธิจนได้เป็นสมรสเพศเดียวกัน เช่นในอังกฤษ ฝรั่งเศส มันเริ่มจากการ จดทะเบียนจัดการทรัพย์สินร่วมกัน แล้วค่อยๆ พัฒนา จนเมื่อสมบูรณ์ กฎหมายเก่าที่ถูกออกมาก็ไม่ได้ถูกล้มล้าง แต่ก็คงอยู่ไว้สำหรับคนที่ต้องการเงื่อนไขการอยู่ร่วมกันแค่ตามทะเบียนที่จดไว้เท่านั้นแหละ (เช่น ต้องการแค่จัดการทรัพย์สิน ไม่ถึงขนาดสิทธิฟ้องชู้)

group of people under garment

ถ้าจะเอาร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ปพพ.1448 มันคงเป็นไปได้ยาก เพราะมันพัวพันหลายมาตรา วิธีที่ง่ายสำหรับกลุ่ม LGBT ที่ต้องการกฎหมายสมรส (และเป็นโมเดลเดียวกับประเทศอื่น) คือลุ้นการได้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่า “เตรียมจะเสนอบรรจุระเบียบวาระเข้าสภาแล้ว น่าจะเข้าได้ในสมัยนี้” (ก็ต้องเช็กดีๆ ก่อนเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมสภา หรือเข้าไปแล้วต่อคิวรอเฉยๆ ถ้าแค่ต่อคิวก็ไม่น่าสนใจ)

เอาจริง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เท่าที่อ่านร่างล่าสุดมาก็ สิทธิก็ได้เกือบเทียบเท่าการสมรสตาม ปพพ.1448 อาจขาดไปบางอย่างเช่นเรื่องการรับสวัสดิการข้าราชการของคู่สมรส แต่เมื่อได้ยินนายวิษณุ เครืองาม บอกว่า “มีผู้ทักท้วงให้ทบทวนในชั้นวิป” ทำให้ยังไม่สามารถไว้ใจได้นักว่าจะตัดสิทธิแก้สิทธิอะไรอีก จนกว่าจะบรรจุระเบียบวาระ แล้วก็มีการเผยแพร่ตัวร่างฉบับสุดท้าย แล้วหยิบมาวิพากษ์กัน อะไรที่ควรต้องแก้ต้องเพิ่มก็พยายามผลักดันในชั้นกรรมาธิการ (ถ้าไม่ขัดหลักการ)

เมื่อใช้คู่ชีวิตไปสักระยะ มันสามารถมีการรีวิวเพื่อทบทวนกฎหมายได้ ปรับแก้ให้เข้ากับยุคสมัย อย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ก็ครบระยะเวลาใช้  6 ปี เขาก็จะรีวิวกันอยู่เพื่อให้กฎหมายมันเข้มแข็งขึ้น อย่างการร้องเรียนหากมีการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ก็แก้กำหนดกรอบระยะทำงานให้คณะกรรมการวินิจฉัยเร่งเร็วขึ้น เพื่อเยียวยาผู้เสียหายให้ได้ในเวลาที่เหมาะสม  (กระบวนการทบทวนถึงขั้นแก้กฎหมายหรือไม่ยังไม่สรุปเพราะติดสถานการณ์โควิด) …เช่นกัน หากคู่ชีวิตบังคับใช้สักระยะก็มีการเรียกร้องให้ทบทวนได้

ทาง “รับไปก่อนแล้วปรับใช้” เป็นทางเลือกที่น่าเอามาคิด ในมุมหนึ่งถ้ารอจนกว่าจะได้ตามอุดมคติครั้งเดียวเห็นจะยาก อย่าลืมว่ามันยังมีความเห็นต่างในสังคมจากกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มไม่เห็นความจำเป็น…ถ้าคู่ชีวิตผ่าน เมื่อบังคับใช้กฎหมายไปสักระยะมันจะมี “กรณีตัวอย่าง” มีการ “ถอดบทเรียน” เพื่อปรับใช้ได้ และถ้ามีตัวอย่างปัญหาก็จะโน้มน้าวใจกลุ่มที่ตั้งป้อมไม่เห็นด้วยแต่แรกได้ง่ายขึ้น

ว่าแต่ รัฐบาลเองเถอะ กล้าจริงไหมที่จะเริ่ม “ก้าวแรก” ด้วยการผ่านกฎหมายคู่ชีวิต

ไม่ใช่แค่หลอกหาเสียง.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash