พิธีลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะ(เฟส)ที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  (25พ.ย.)  นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อัพเดทโครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 4 โครงการวงเงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาทว่าได้ลงนามสัญญากับเอกชนครบแล้ว ทั้ง 4 โครงการ

แบ่งเป็น เอกชนร่วมทุน 4.1 แสนล้านบาท และรัฐร่วมทุน 2.4 แสนล้านบาท โดยเอกชนให้ผลตอบแทนภาครัฐ 4.4 แสนล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสุทธิประมาณ 2 แสนล้านบาท จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มาก อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ สามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาดึงเอกชนให้เข้าร่วมลงทุน เพราะขณะนี้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  

สำหรับ 4 โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ประกอบด้วย

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด  (เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด Asia Era One Co., Ltd หรือ AERA1) วงเงินลงทุน 2.7 แสนล้านบาท ผลตอบแทนให้รัฐ 3.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 66 เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่มีที่ค้าขาย 

โครงการมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สนามบินดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร(กม.)  

2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง สกพอ. และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด วงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท ผลตอบแทนให้รัฐ 3.05 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ 3 สนามบินรองรับผู้โดยสารรวมกันได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง 30 กม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง)

แผนพัฒนาโครงการแบ่งเป็น 4 เฟส โดยเฟส 1 มีอาคารผู้โดยสาร พื้นที่ 1.57 แสนตารางเมตร(ตร.ม.) พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และ 60 หลุมจอดอากาศยาน คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 67 รองรับผู้โดยสารได้ 15.9 ล้านคนต่อปี, เฟส 2 อาคารผู้โดยสาร มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.07 แสน ตร.ม. พร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มอีก 16 หลุมจอด จะแล้วเสร็จปี 73 รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี

เฟส 3 ต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากเฟส 2 กว่า 1.07 แสน ตร.ม. เพิ่ม APM 1 ขบวน และเพิ่มอีก 34 หลุมจอด แล้วเสร็จปี 85 รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี และเฟส 4 มีพื้นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพิ่มขึ้นกว่า 8.2 หมื่นตร.ม. ติดตั้งระบบเช็กอินอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มอีก 14 หลุมจอด แล้วเสร็จปี 98 รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี

3.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด วงเงินลงทุนทั้ง 2 ช่วง 6.4 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนให้รัฐ 1.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดบริการปี 68   ปัจจุบันท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเฟส 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า

DCIM\100GOPRO\G0069178.

4.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เฟสที่ 3 ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกลุ่มกิจการค้า จีพีซี วงเงินลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ผลตอบแทนให้รัฐ 8.2 หมื่นล้านบาท จะเริ่มดำเนินการท่าเทียบเรือ F ก่อน ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี โดย กทท. จะเป็นผู้ก่อสร้างงานทางทะเล รองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือชายฝั่ง งานระบบรางและย่านรถไฟ ในส่วนของงานระบบรางนั้น กทท. ลงทุน 700 ล้านบาท เส้นทางจากหลังท่าเรือไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร(กม.) โดยต้องถมทะเล เพื่อให้เดินรถไฟเข้าถึงหลังท่าเรือ บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือได้ทันที คาดว่าจะให้บริการได้ทันในปี 68

ขณะที่จีพีซี จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 รองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ มีความสามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4 ล้านทีอียู.ต่อปี จีพีซี จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ เช่น ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ ค่าภาระยกขนตู้สินค้า และค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า  ขณะที่ กทท. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำรวมทั้งโครงการประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนจีพีซี กล่าวว่า  หลังจากนี้จะเริ่มงานการออกแบบควบคู่ไปกับการเตรียมทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการ และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันให้เกิดท่าเรือที่จะกลายเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์สำคัญทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค จีพีซี จะติดตั้งอุปกรณ์ยกตู้คอนเทนเนอร์ในปี 66 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เฟสแรกปี 68 และเฟส 2 ในปี 72

นายรัฐพล ย้ำด้วยว่า  ท่าเทียบเรือ F เป็นท่าเรือที่ใหญ่ ลึก 18.5 เมตร รองรับเรือขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าเรือแม่ได้ มีความยาวหน้าท่า 2 กม. จะนำเทคโนโลยีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด และระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Automation) ใช้แคร่ และหุ่นยนต์มาดำเนินงาน ไม่ต้องใช้บุคลากร ปัจจุบันมีประมาณ 20 ท่าเรือทั่วโลกที่ใช้ระบบนี้ 

ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะช่วยส่งเสริมการขนส่งแบบไร้ร้อยต่อ โดยเฉพาะระบบรางจะใช้ขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากขณะนี้ 7% คาดว่าในปี 68-72 จะสามารถสร้างรายได้ 4 พันล้านบาทต่อปี และหลังปี 72 จะสามารถสร้างรายได้ได้ประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี  สถานะล่าสุดของ  4 โปรเจคท์ “อีอีซี” 6.5 แสนล้านบาท  โครงสร้างพื้นฐานด้านการ“คมนาคมขนส่ง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง