วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ในครั้งพุทธกาล เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช หลังการตรัสรู้ 2 เดือน พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ในวันนั้นเกิดสาวกซึ่งเป็นภิกษุองค์แรกของโลก ทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์ 3 บริบูรณ์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้สาวกเป็นภิกษุองค์แรกในบวรพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก

วันอาสาฬหบูชากำลังจะเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ 24 ก.ค. 64 ตามปฏิทินสุริยคติ จึงขอเชิญชวนชาวพุทธทั้งหลายได้ตระหนักถึงความล้ำค่าและความสำคัญของพระธรรม เพื่อจะได้เป็นพุทธมามกะที่ประกอบด้วยปัญญา โดยการฟังธรรมตามกาลที่ตรงตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฏก การมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในพระธรรม จะทำให้ละความไม่รู้ (อวิชชา)ในสิ่งที่มีจริงหรือธรรมะที่มีจริง(สัจธรรม) เป็นเหตุให้มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ)

 การดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความหลงลืมสติ สนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับรูปทางตา เสียงทางหู  กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ มุ่งหวังในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอย่างเมามัน มีความเห็นแก่ตัว ไม่แยกแยะผิดชอบชั่วดี ไม่ละอายชั่ว ไม่กลัวบาป กล้ากระทำทุจริตตามไฟกิเลสที่แผดเผาอยู่ตลอดเวลา

ชาวพุทธพึงทราบว่าประโยชน์จากการฟังธรรมนั้น จะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง 1 ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว 1 ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ 1 ย่อมทำความเห็นให้ตรง 1 จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส 1 ฉะนั้นชาวพุทธจึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิตโดยไม่ฟังธรรมตามกาลเพราะจะมีแต่ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) มิเช่นนั้นแล้วทุคติภูมิหรืออบายภูมิจะเป็นจุดหมายปลายทางรอคอยอยู่เบื้องหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ข้อความจากปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีว่า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกับพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด 2 อย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้นนั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิดย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วย ปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1 พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณได้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเกื้อกูลแก่ชาวพุทธให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในพระธรรม จึงขอนำการสนทนาธรรมของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในโอกาส และวาระต่าง ๆ มาให้ได้พิจารณาดังนี้

การสนทนาธรรมระหว่างการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ปี 2538 อาจารย์สุจินต์ฯ กล่าวว่า “…จุดประสงค์ของพุทธบริษัท วันที่จะรอคอยคือวันที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ควรจะเป็นจุดมุ่งไม่ใช่ว่าฟังธรรมะเผินๆ ยังไม่มีจุดของการฟังธรรมะ การฟังธรรมะเพื่อเข้าใจพระธรรมให้เป็นการถูกต้อง แต่ก็จะรู้ได้ว่าเข้าใจอะไร เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะประจักษ์ความจริงตามที่เราศึกษา แม้แต่คำว่าธรรมะ ไม่ใช่ตัวตนและสภาพธรรมที่ขณะนี้กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้น มีเหตุปัจจัย ทุกอย่างที่เราเรียนเราสามารถ ที่จะประจักษ์แจ้งได้ แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งโดยสัจธรรม บางคนอาจจะเรียนก็ยังสนุกสนาน ก็ไม่เป็นไรไม่ได้ว่ากัน เพราะอุปนิสัยสะสมมาอย่างนั้น แต่ควรจะมีจุดมุ่งหมายในชีวิตด้วย แต่ว่าจะถึงวันนั้นเมื่อไร ไม่มีใครทราบ…

แต่เราก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาท คืออย่างน้อยที่สุด ไม่ว่าชีวิตของเราจะประสบกับลาภ ยศ สรรเสริญ หรือชีวิตจะเปลี่ยนแปลงจากสุขเป็นทุกข์ หรือจากลาภเป็นเสื่อมลาภ ยศเป็นเสื่อมยศ หรืออะไรก็ตามแต่…การรอคอยจริงๆของพุทธบริษัท คือ การที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม… จากการฟังธรรม พิจารณาธรรม เข้าใจธรรม เพื่อที่จะให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นวันที่เรารอคอยไม่ใช่เรารอคอยเปล่าๆ โดยไม่กระทำเหตุให้สมควรแก่ผล เพราะว่าเราเฉยๆจะไม่มีผลเกิดขึ้น แต่เพราะรู้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีเหตุที่สมควร คือ การเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ จุดประสงค์ของการฟังธรรมต้องไม่ลืมเลย ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ทุกคนก็วัดตัวเองได้ว่าอวิชชามากหรือน้อยที่ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ…

ขั้นต้นที่สุดผู้นั้นรู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ ด้วยความเป็นปรกติ จะเห็นได้จริงๆว่า สัจธรรมไม่ใช่ผิวเผิน เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นการรู้จริงๆว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม สติจะเกิดระลึกเมื่อไหร่ได้ทั้งนั้น และระลึกตรงตามความเป็นจริงอย่างเช่น กำลังโกรธ สติอาจจะระลึกก็ได้ กำลังเป็นโลภะมาก ๆ สติอาจจะระลึกก็ได้ กำลังเห็น สติจะระลึกก็ได้ ทิ้งให้เป็นหน้าที่ของสติ…

การสนทนาธรรมที่ จ.เชียงใหม่ ปี 2540 อาจารย์สุจินต์ฯ กล่าวว่า “…หนทางนี้ที่จะถึงธาตุซึ่งเป็นธาตุที่ดับกิเลสได้ ต้องเป็นโดยการละโดยตลอด ที่จะไม่ติดข้อง ที่จะไม่มีอะไรมาบัง ที่จะไม่มีอะไรชวนให้ไปสู่ทางซึ่งไม่สามารถจะทำให้ละคลายได้ เพราะเหตุว่าแม้การละ ต่อไปก็จะรู้ว่าละคลายความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้…

อริยสัจ 4 มี 3 รอบ ข้อความนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก รอบที่ 1 คือสัจญาน รอบที่ 2 คือกิจญาน รอบที่ 3 คือกตญาน… ต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆว่า ทำไมทรงแสดงอริยสัจ 4 ถึง 3 รอบ และรอบที่ 1 คือสัจญาน เป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ ในอริยสัจ4 เข้าใจจริงๆว่าขณะนี้เป็นธรรมะทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจจริงๆว่าทุกข์ไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากสิ่งนี้ที่เกิดแล้วดับ ขณะนี้เองทุกอย่างที่กำลังปรากฏเกิดดับเร็วมาก นี่คือสภาพที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนเลย ความไม่ยั่งยืนไม่ว่านานแสนนาน พอเกิดมาแล้วค่อยๆเจ็บ ค่อยๆตาย ไม่นานอย่างนั้นเลย แต่ความไม่ยั่งยืนนั้นเร็วที่สุด เร็วแสนเร็วจนไม่ปรากฏ นี่คือทุกขอริยสัจ ซึ่งปัญญาสามารถจะประจักษ์แจ้งได้ ถ้าไม่มีการประจักษ์แจ้ง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่อาจจะประจักษ์แจ้งได้ เพราะมีการประจักษ์แจ้งจึงทรงแสดงหนทางที่จะทำให้บุคคลอื่นประจักษ์แจ้งด้วย

จากทุกข์ก็ไปถึงสมุทัย ไปถึงนิโรธ ไปถึงมรรค ปัญญาก็จะต้องค่อยๆเข้าใจไปตามลำดับเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเรารู้จริงๆว่าขณะนี้สภาพธรรมะเป็นสัจจะ ปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้จึงเป็นสัจญาณ ถ้ารู้อย่างนี้ก็ละสมุทัย ละความติดข้องต้องการที่จะทำอย่างอื่น ถ้าละความติดข้องต้องการได้ หนทางนี้ก็จะเป็นทางที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เราก็มีความมั่นคง… ถ้ารู้ว่าปัญญารู้ความจริงที่กำลังเกิดดับของสภาพธรรม ขณะนั้นละสมุทัย ละความติดข้องต้องการ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้แล้วไม่รู้ก็จะต้องอบรมเจริญหนทาง สามารถที่จะรู้มรรค และรู้ว่าหนทางนี้เป็นทางที่จะประจักษ์แจ้งนิพพานธาตุ ก็มีสัจญาณทั้ง 4 ในอริยสัจทั้ง 4 เพราะเป็นทางเดียวกัน หนทางที่จะไปถึงไม่ได้แยกจากกัน…”

การสนทนาธรรมที่ จ.เชียงใหม่ ปี 2541 อาจารย์สุจินต์ฯ กล่าวว่า “…ทรงแสดงหนทางไว้ด้วย เพราะนั้นก็ต้องศึกษาให้ละเอียด สำหรับอริยสัจ 4 ทุกคนก็คงจะอ่านพบข้อความที่ว่า 2 อริยสัจจะแรก คือ ทุกขอริยสัจะกับสมุทัยสัจจะ ลึกซึ้งจึงเห็นยาก เราเข้าใจสภาพธรรมเกิดดับ ใครก็พูดได้ แต่ความลึกซึ้งของลักษณะที่กำลังเกิดดับเห็นยาก ไม่ใช่เห็นง่าย ไม่ใช่เพียงบอกก็รู้แล้วว่าเกิดดับ ประจักษ์แล้วว่าเกิดดับ ไม่ใช่เลย แต่ 2 อริยสัจจะหลัง เห็นยากเพราะลึกซึ้ง 2 อริยสัจจะหลัง คือ นิโรธสัจจะนิพพานกับมรรคสัจจะ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย ใครฟังแล้วเข้าใจได้เลย เห็นยากเพราะลึกซึ้งจริงๆ เพราะว่าลึกซึ้งโดยการที่ว่าแม้ขณะฟัง เพียงในขณะฟัง ปัญญาที่เกิดเกิดพร้อมกัน เวลาที่สติปัฏฐานเกิด การที่จะอบรมเจริญให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็พร้อมกับการละ จะต้องมีเรื่องของการละไปโดยตลอด มิเช่นนั้นจะละสมุทัยไม่ได้ เมื่อละสมุทัยไม่ได้ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งนิพพาน เพราะฉะนั้นมรรคสัจจะเห็นยากว่า นี่เป็นหนทาง เพราะเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นลำดับ….   ”

การสนทนาธรรมระหว่างการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ปี 2542 อาจารย์สุจินต์ฯ กล่าวว่า “…ประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรม ไม่ว่าเรื่องของศีล ไม่ว่าเรื่องของสมาธิ ไม่ว่าเรื่องของปัญญา ก็จะต้องรู้ว่าได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร แม้แต่มรรคมีองค์ 8 สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะ  สงเคราะห์เป็นปัญญา ถ้าไม่มีวิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะที่จะตรึกหรือจรดในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบ ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้นในมรรคมีองค์ 8 2 องค์แรกเป็นฝ่ายของปัญญา 3 องค์ต่อมาคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นศีล สำหรับสัมมาวิริยะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นส่วนหรือเป็นฝ่าย แต่ว่าสภาพธรรมของเจตสิกต้องตรง… การฟังธรรมขั้นต้นเป็นเรื่องราวของสภาพธรรมคือของจิต เจตสิก รูป ซึ่งภายหลังเวลาที่ปัญญาเจริญขึ้นและมีการรู้ชัดก็จะรู้ชัดอื่นไม่ได้ นอกจากรู้ชัดลักษณะของนามธรรม รูปธรรม จิต เจตสิก รูป ตรงตามที่ได้ศึกษา ด้วยเหตุนี้ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงต้องสอดคล้องกัน…”

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”