เป็นเรื่องปกติ ที่ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาก็จะได้ยินว่ามีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกมาระบุว่า องค์การอนามัยโลก จัด สายพันธุ์อัลฟา เดลตา แกรมมา และเบตา ล่าสุดคือการมาของเชื้อ “โอไมครอน” ที่มีการกลายพันธุ์กว่า 50 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้ มี 32 ตำแหน่งที่เป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสไปก์โปรตีน แน่นอนว่า ของเพิ่งมาใหม่นํ้ายาตรวจจำเพาะอาจจะต้องรอไม่เกินเดือนนี้ แต่ต้องยํ้ากันตัวโต ๆ ว่าวิธีตรวจ RT-PCR ปัจจุบันยังสามารถตรวจเจอเชื้อนี้ได้

ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์

“ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์” หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ยํ้าว่า เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์สูง การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่บนยีนที่เป็นหนามแหลม (S) เมื่อเทียบกับการตรวจด้วย RT-PCR ปัจจุบันแทบจะไม่มีผลกระทบเลย ปัจจุบันยังตรวจหาเชื้อนี้ได้ แต่ยังไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดเท่านั้นเอง

ดังนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบชุดตรวจจำเพาะต่อสายพันธุ์โอไมครอน โดยมีการดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรมเชื้อดังกล่าวและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำ จากนั้นได้ส่งไปที่ประเทศเกาหลีเพื่อสังเคราะห์สารต่าง ๆ ที่มาตรวจ RT-PCR จำเพาะต่อเชื้อโอไมครอนต่อไป คาดว่าจะได้ผลแล้วเสร็จใน 2-3 สัปดาห์

“โอไมครอนอาจจะดูว่าระบาดเร็วขึ้น วัคซีนอาจจะไม่ได้ผล แต่ใครที่ฉีดวัคซีนแล้วจะช่วยให้แทนที่จะอาการหนักก็เป็นเบาลงได้ ซึ่งคนไทยตอนนี้ถึงจะมีข่าวว่ากลัววัคซีน แต่โดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน และให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเองทั้งการสวมหน้ากาก มากกว่าต่างประเทศ ดังนั้นแม้ว่าอาจจะเจอเชื้อโอไมครอนเข้ามา แต่การที่เราฉีดวัคซีนกันจำนวนมาก จะช่วยลดไม่ให้รุนแรงได้ ดังนั้นขอให้ช่วยกันฉีดวัคซีนด้วย ส่วนการตรวจ ไม่เกินสิ้นเดือนนี้ก็จะมีชุดตรวจจำเพาะแล้ว เพื่อให้สบายใจได้”

อย่างไรก็ตาม การตรวจแอนติเจนก็ยังสามารถตรวจเจอได้ เช่น ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นได้มีการผลิต และใช้เครื่องตรวจหาเชื้อโควิดจากนํ้าลาย Lumipulse G1200 ในสนามบินเพื่อตรวจคนเดินทางเข้าประเทศ และสามารถตรวจจับได้โดย ใช้สารฟลูออเรสเซนต์ในการตรวจทำให้มีความไวสูง เมื่อตรวจเจอผลบวกแล้วก็นำไปตรวจยืนยันผลด้วย RT-PCR

ทั้งนี้การตรวจ ถ้าเทียบการตรวจเชื้อจากนํ้าลายและการแยงจมูกนั้น แน่นอนว่าเชื้อที่จมูกมากกว่า แต่ก็มากกว่ากันไม่มาก แต่นํ้าลายสามารถเก็บตัวอย่างง่ายด้วยตัวเอง ตรวจได้จำนวนมากใช้เวลาไม่นาน 30-40 นาที โดยหลักการดังกล่าวจึง สามารถนำมาสกรีนกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ได้ เช่น นักเรียน นักศึกษา โรงงาน และสนามบินซึ่งเหมาะมากคนเดินทางเข้า-ออกเยอะ วิธีการหากมีเครื่องนี้ตั้งอยู่ สมมุติว่า 5 เครื่อง 1 เครื่องตรวจได้ประมาณ 200 ตัวอย่าง พอคนลงเครื่องมาก็มีการเก็บตัวอย่าง ใช้เวลา 30 นาที ระหว่างการรอโหลดกระเป๋าก็ได้ ไม่ต้องรอรถรับส่งโรงแรมเพื่อไปรอตรวจ RT-PCR คิดว่าน่าจะสะดวก อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าตอนนี้ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น กังวลว่าเชื้อจะหลุดเข้ามา จึงต้องใช้การตรวจ RT-PCR

ปัจจุบัน รพ.รามาธิบดี และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ได้มีการนำเครื่องนี้มาใช้เพื่อคัดกรองผู้ป่วย และญาติที่มารพ. และตรวจในกลุ่มบุคลากร เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยง วันเว้นวัน ผลการตรวจพบว่า กรณีที่มีการกำกวมเหมือนจะเป็นผลบวก ทางรพ.ก็ได้ส่งตรวจด้วย RT-PCR ซํ้า พบว่าเป็นผลลบ กรณีนี้เรียกว่าผลบวกลวง ซึ่งถือว่าไม่น่ากังวลเพราะการบวกปลอมทำให้เราได้ระมัดระวังมากขึ้น โดยพบอยู่ที่ 2% แต่สิ่งที่กลัวมากกว่าคือ การให้ผลลบปลอม แต่จากการใช้เครื่องตรวจนํ้าลายดังกล่าวยังไม่พบว่ามีการให้ผลลบปลอมแต่อย่างใด

ดร.เอกวัฒน์ บอกว่าถ้าเทียบชุดตรวจนํ้าลายด้วยเครื่องนี้ กับชุดตรวจ ATK จะพบว่าเครื่องตรวจนํ้าลายเก็บตัวอย่างสะดวกแล้ว เนื่องจากเป็นเครื่องอัตโนมัติ จึงสามารถอ่านผลและส่งรายงานผลเข้าโทรศัพท์มือถือได้ ที่สำคัญคือ ATK แยงจมูกนั้นต้องผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในช่วงที่ทำการประเมินกับตัวอย่างเชื้อเสมือนจริง แต่จากการใช้งานจริงในภาคสนามนั้น ATK จะมีทั้งบวกปลอม และลบปลอมสูงมาก จากปัญหาการเก็บตัวอย่าง เช่น กรณีถ้าเป็นขี้มูก จะเจอบวกปลอม 5% ส่วนลบปลอมเจอได้จากการที่เก็บตัวอย่างเชื้อไม่ดี หรือเก็บชุดตรวจ ATK ไม่ดี นอกจากนี้ ATK ยังมีความไวน้อยกว่า

ขณะที่เครื่องตรวจนํ้าลายจะให้ผลบวกปลอมน้อยกว่า เพราะเมื่อบ้วนนํ้าลายดี ๆ ในขณะที่ยังไม่ได้กินข้าว เคี้ยวหมาก มาก่อน จะไม่มีปัญหา นอกจากนี้การตรวจจะต้องนำนํ้าลายมาปั่นแยกชั้น มีกระบวนการมากขึ้น ทำให้ตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น ตรวจแล้วมีก็คือมี ไม่มีก็คือไม่มี จะตอบได้ชัดกว่า แต่การแยงจมูกไม่ถูกต้องก็ไม่เจอจุดที่มีเชื้อ หรือหากเก็บได้อะไรมาก็ตรวจไม่เจอ.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง