ปีงบประมาณ 2565 นี้ ทาง สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เป็นเงินกว่า 150 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด 58 แห่ง ที่ร่วมดำเนินงานกับกองทุนฯ โดยพื้นที่ อบจ.สระบุรี ที่คณะได้เดินทางมาติดตามการดำเนินงาน ได้รับงบประมาณ 2,199,070 บาท โดยทาง อบจ.สระบุรีได้สมทบงบเพิ่มอีก 4,000,000 บาท” …เป็นการระบุจาก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เกี่ยวกับ “งบสนับสนุน” ปี 2565 ภายใต้งบประมาณของ “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด” ที่ได้จัดสรรให้จังหวัดต่าง ๆ รวมถึง “พื้นที่ จ.สระบุรี”

ที่เป็น “ต้นแบบ” การ ’ยกระดับบริการทางสุขภาพ“

ผ่านกลไก อบจ.” เพื่อ “บริการประชาชนในพื้นที่

บริการ “ฟื้นฟูผู้ป่วย” ด้วยกลไกที่ชื่อ “ศูนย์ร่วมสุข

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะผู้บริหาร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นำโดย นพ.จเด็จ เลขาธิการ, นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ, นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้มีการนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของ “ศูนย์ร่วมสุข จ.สระบุรี” โดยมี นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.สระบุรี, นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.สระบุรี, สุจิน บุญมาเลิศ รองปลัด อบจ.สระบุรี และ นพ.ศุภศิลป์ จำปานาค นายแพทย์เชี่ยวชาญสาขาเวชกรรมฟื้นฟู รพ.สระบุรี  ให้การต้อนรับ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางคณะผู้บริหาร สปสช.

สำหรับ “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด” และการบริหารจัดการกองทุนฯ นั้น นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลว่า… กองทุนฯ ดังกล่าวนี้ สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับ อบจ.-องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านกลไกการทำงานที่มอบหมายให้ อบจ.ต่าง ๆ เป็นผู้ดำเนินงาน และมีการบริหารกองทุนฯ ให้ดำเนินการได้ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อ สนับสนุนส่งเสริมระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อ ช่วยกลุ่มผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ให้สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น …นี่เป็น “เป้าหมาย” ของกองทุนฯ นี้

ด้านตัวแทนของ อบจ.สระบุรี ธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายก อบจ.สระบุรี ได้บอกเล่าถึง “ประโยชน์” ที่เกิดจากการเข้าร่วมโครงการฯ ของ สปสช.ดังกล่าวนี้ ว่า… มีการจัดตั้ง “ศูนย์ร่วมสุข ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อให้ เป็นศูนย์กลางการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของกองทุนฯ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง กลุ่มผู้ป่วยระยะยาว กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะเป็นการ ยกระดับการให้บริการให้สอดคล้องกับบริบทของคนในพื้นที่ แล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญก็คือ… เพื่อ สนับสนุนให้เกิดความเอื้ออาทรระหว่างกันของผู้คนในสังคม

ทางรองนายก อบจ.สระบุรี ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า… สำหรับโครงการพัฒนา “ศูนย์ร่วมสุข” จ.สระบุรีขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 42 แห่ง ใน 13 อำเภอ และกำลังจะขยายเพิ่มอีก 30 แห่ง ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกพื้นที่ที่ อบจ.สระบุรีดูแล โดยในปี 2565 นี้ สปสช.เขต 4 สระบุรี ก็ได้สนับสนุนงบให้ตามจำนวนประชากรในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งยอดรวมมีทั้งหมด 11,312,465 คน โดยศูนย์ร่วมสุขที่ทางคณะ สปสช. และสื่อมวลชน ได้มีการมาเยี่ยมชมนี้ ตั้งอยู่ ในพื้นที่ของ ต.ห้วยบง อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่ถือเป็น “อีกหนึ่งศูนย์ร่วมสุขดีเด่นของพื้นที่” นี้ ที่ทาง สปสช.ได้เข้ามาให้การสนับสนุบงบดำเนินงาน

ทั้งนี้ นอกจากการเยี่ยมชม “ศูนย์ร่วมสุข” ดังกล่าวแล้ว ทางคณะฯ ก็มีโอกาสรับฟัง “เสียงสะท้อนของผู้รับบริการ” ภายใต้งบประมาณของกองทุนฯ ดังกล่าวนี้อีกด้วย โดย สมบูรณ์ จันทร์กระจ่าง อายุ 75 ปี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ สะท้อนความรู้สึกจากการเข้ารับบริการว่า… มาทำกายภาพบำบัดที่ รพ.สต.ห้วยบง ได้ประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ จนขณะนี้สามารถเดินได้เองบ้างแล้ว แม้จะต้องใช้อุปกรณ์ช่วย แต่อาการก็ดีขึ้นจากในช่วงแรก ๆ มาก โดยนอกจากจะได้รับบริการที่นี่แล้ว ทาง รพ.สต.ห้วยบง ยังได้ส่งนักกายภาพบำบัดไปให้ความรู้กับครอบครัวถึงที่บ้าน ซึ่งทำให้สามารถทำกายภาพที่บ้านด้วยตัวเองได้ด้วย

และอีกหนึ่งเสียงของผู้เข้ารับบริการ บุญเลิศ สุขศรี อายุ 53 ปี ที่ก็ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ รายนี้บอกเล่าว่า… ตอนที่ป่วยนั้นตนเองแขนขาไม่มีแรง ไม่สามารถจะไปไหนมาไหนได้เลย แต่ภายหลังจากได้รับบริการทำกายภาพบำบัด และได้ฝึกเดินด้วยเครื่องสกายวอล์คเกอร์ ปัจจุบันสภาพร่างกายก็ดีขึ้นกลับคืนมาถึง 70% และ… สุขภาพจิตก็ดีขึ้นอย่างมากด้วย ทำให้ครอบครัวรู้สึกมีความสุขกันมากขึ้น…เป็นอีกเสียงสะท้อนของผู้รับบริการสุขภาพ ที่มี “ศูนย์ร่วมสุข” เป็นกลไก

ขณะที่ ละเอียด ยาตรกาศ อายุ 82 ปี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งรักษาติดเตียง และให้อาหารทางสายยางมานานกว่า 1 ปี ก็เล่าว่า… ตอนแรกรู้สึกท้อใจมากกับอาการของตนเอง แต่หลังจากได้รับกำลังใจจากบุตรสาว และจากนักฟื้นฟู ทำให้พยายามฝึกหัดเดินเองที่บ้าน และหมั่นมาทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอที่ “ศูนย์ร่วมสุข” โดย อบต.ห้วยบง ได้จัดรถรับส่งให้ถึงบ้าน เพื่อการทำกายภาพบำบัดที่ศูนย์ฯ ซึ่งเมื่อผ่านมา 5 เดือนหลังทำกายภาพ ร่างกายก็ค่อย ๆ ฟื้นตัว จนสามารถลุกขึ้นนั่งทานอาหารได้ และรู้สึกดีใจมากที่ลดภาระการดูแลจากครอบครัวลงได้บ้าง …นี่ก็เป็นอีก “เสียงสะท้อน” ที่ฉายภาพประโยชน์…

ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ “สปสช.” และ “อบจ.”

“ประโยชน์สุขภาพ” ที่ “สอดคล้องบริบทคนในพื้นที่

จาก “ศูนย์ร่วมสุข“…อีก “กลไกฟื้นสุข” ให้คนไทย.