“นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบทางร่างกายแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤติทางจิตใจด้วย” …เป็นการสะท้อนจากนักวิชาการด้านประชากรและสังคม ที่ระบุถึง “ผลพวงพิษโควิด” ซึ่งทำให้ผู้คนเกิด “ปัญหาสุขภาพจิต” ด้วย และหนึ่งในอาการที่เกิดมากคือ “เหงา” โดยแง่มุมดังกล่าวนี้ได้ถูกสะท้อนไว้ผ่านบทความเรื่อง “มาทำความรู้จักกับความเหงา…ผลพวงโรคระบาดที่ไม่ควรมองข้าม” ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์เดอะประชากร (The Prachakorn) ที่อาการดังกล่าวนี้แม้จะสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ก็ตาม แต่ถ้า“มากเกินไปนานเกินไป” 

อาจลุกลามกลายเป็น “ความบาดเจ็บทางจิตใจ!!”

ที่ในระยะยาวอาจทำให้ เกิดผลเสียต่อสุขภาพ!!

จาก “อาการเหงาเรื้อรัง…ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19”…

เกี่ยวกับข้อมูลเรื่องนี้ เป็นการระบุของ รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ในบทความดังกล่าว ซึ่งได้อธิบายไว้ โดยสังเขปมีว่า… อีกหนึ่ง ผลพวงจากโรคระบาดที่ไม่ควรมองข้าม ก็คือ ผลกระทบด้านจิตใจ ซึ่ง “ความเหงา” ก็เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่พบได้มากขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โควิด-19  โดย “นิยามของความเหงา” นั้น ทางนักวิชาการท่านนี้ได้อธิบายไว้ สรุปได้ว่า…

“ความเหงาหมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมที่บุคคลหนึ่งมีในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าที่บุคคลนั้นต้องการ ซึ่งความเหงาจะเกิดขึ้นเมื่อคน ๆ หนึ่งรู้สึกว่าปฏิสัมพันธ์ที่ตนเองมีกับผู้อื่นยังน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคน ๆ นั้นนำความรู้สึกดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับความต้องการของตนเอง

ทั้งนี้ ทางนักวิชาการด้านประชากรและสังคมยังได้อธิบายเกี่ยวกับ “ความเหงา” ไว้ในบทความเรื่อง “มาทำความรู้จักกับความเหงา…ผลพวงโรคระบาดที่ไม่ควรมองข้าม” อีกว่า… แม้ว่าความเหงานั้นมักจะเกิดกับคนที่มีความรู้สึกว่า…ตนเองมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นน้อยเกินไป ในขณะเดียวกันก็พบว่า…ยังมีอีกหลายคนที่ถึงแม้จะอยู่คนเดียวลำพังก็อาจจะไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะถ้าคน ๆ นั้นพอใจระดับความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีแล้ว แต่ในทางกลับกัน กับบางคน แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาขึ้นมาได้เช่นกัน …ซึ่ง “ในยุคโควิด-19 นี่เกิดกันเยอะ

“ผลสำรวจความเหงาระดับโลก เมื่อปี 2561 ช่วงก่อนที่จะมีโควิด-19 พบว่า…คนชาติตะวันตกจะมีระดับความเหงาสูงกว่าคนชาติตะวันออก และเนื่องจากช่วงมีโควิด-19 ทำให้โอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว ลดลง ส่งผลให้มีคนเหงาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาด” …รศ.ดร.มนสิการ ระบุไว้

มีการสำรวจที่ชี้ว่า “ตัวเลขคนเหงาเริ่มสูงขึ้น”…

“ตั้งแต่เชื้อโควิด-19 เริ่มเกิดการระบาด” แล้ว!!

ดูกันที่ประเด็น “ช่วงวัยที่มีโอกาสมากที่สุด” ที่จะเกิดโรคเหงา”  กับประเด็นนี้ทาง รศ.ดร.มนสิการ ได้ระบุไว้ว่า… ได้แก่ “กลุ่มเยาวชนกลุ่มวัยรุ่น” เนื่องจากกลุ่มคนหนุ่มคนสาวจะเป็น “กลุ่มที่มีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์สูง” เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า ทำให้กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่น รู้สึกไม่เติมเต็มด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มากกว่า

ขณะที่การจัดแบ่ง “ระดับความเหงา” นั้น ทางนักวิชาการท่านเดิมได้มีการระบุไว้ว่า… สามารถจำแนกออกมาได้เป็นหลายระดับ โดยหลัก ๆ ก็มีตั้งแต่… ระดับเล็กน้อย หรือขยับขึ้นเป็น…ระดับปานกลาง ขึ้นไปจนถึง… ระดับรุนแรง โดยในกลุ่ม-ในคนที่เกิดอาการ “เหงารุนแรง” นั้น คน ๆ นั้นมักจะมีลักษณะของอารมณ์ ดังต่อไปนี้คือ… รู้สึกเหงาบ่อยครั้ง หรือ รู้สึกเหงาเกือบตลอดเวลา หรือ รู้สึกโดดเดี่ยว รวมถึง ชอบมองโลกในแง่ลบ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดอาการเช่นนี้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆอาจ เสี่ยงต่อการพัฒนาไปเป็นโรคทางจิตเวช โรคจิตประสาท เช่น… โรคเครียด โรควิตกกังวล

รวมถึงเสี่ยงเกิดโรคทางอารมณ์อย่าง “โรคซึมเศร้า

ที่อาจเป็นสาเหตุนำสู่การ “ฆ่าตัวตายหนีความเหงา!!

ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่นในบทความดังกล่าวทาง รศ.ดร.มนสิการ ก็ยังได้มีการระบุถึงผลสำรวจ “ความเหงา” ของประเทศต่าง ๆ ไว้ด้วยว่า… ข้อมูลจากการสำรวจความเหงาระดับประเทศ ในสหรัฐอเมริกา และในอังกฤษ ในช่วงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2563 พบว่า… นอกจากกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นจะเป็น “กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความเหงารุนแรง” แล้ว…กับ “กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็เป็น “อีกกลุ่มเสี่ยงสูง”  ที่พบระดับความเหงาสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจนั้น กว่า 51% มีอาการเหงาระดับรุนแรง โดยเฉพาะ “เพศหญิง” ที่เป็นกลุ่ม “แม่เลี้ยงเดี่ยว”

ส่วนในญี่ปุ่นกลุ่มที่ “เหงาระดับรุนแรง” มากที่สุดนั้นได้แก่ “กลุ่มผู้สูงอายุ” ที่พบว่า… ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นี่คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนความเหงาในระดับรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นจากในช่วงปกติ …นี่ก็เป็นอีกส่วนของ “ข้อมูลที่น่าพิจารณา”

“เหงา” อีก ผลพวงจากโควิด-19″ ก็ ไม่ควรมองข้าม”

มี “มุมวิชาการ” ที่ “สะท้อนสถานการณ์เชิงเตือนไว้” 

ตอนนี้ โควิดโอมิครอน” ก็กำลัง ซ้ำเติมเพิ่มเหงา”

คนไทยเราก็ต้องดูแลจิตใจกันและกันให้มาก ๆ“.