จากรายงานประจำปีล่าสุด ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร ขององค์การสหประชาชาติ จำนวนพลเมืองโลกที่ขาดอาหารพุ่งสูง เพิ่มขึ้นปีเดียวถึง 118 ล้านคน จากปี 2562 ซึ่งอัตราประชากรขาดอาหาร อยู่ที่ 8.4% ของทั้งหมด

บทความของ ผศ.เจสสิกา ไอส์ อาจารย์ภาควิชาความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลันเทกซัสวิทยาเขตซานอันโตนิโอ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ประชาชนที่ขาดอาหารคือ ผู้ที่มีความหิวโหยเรื้อรัง หมายความว่าไม่มีอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ รับประทานเพียงพอเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

ภาวะขาดสารอาหารพบเห็นได้มากที่สุด และเติบโตรวดเร็วที่สุด ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ เช่น เยเมน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ ดีอาร์คองโก และบุรุนดี

ประชาชนเพียงน้อยนิดในกลุ่มประเทศร่ำรวยกว่า เช่น เยอรมนี แคนาดา และออสเตรเลีย ที่เขาเกณฑ์ขาดอาหาร ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)

การลดปัญหาความอดอยากของประชากรโลก ที่เคยมีความคืบหน้าในช่วงหลายปี แต่มาสะดุดตั้งแต่ปี 2557 และต่อมาเกิดปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่อง จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ภาวะอดอยากหิวโหยรุนแรง กำลังจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก

และแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มตัว ในกลุ่มประเทศยากจนที่สุดของโลก ยังคงอ่อนแอ นับถึงช่วงฤดูร้อนปี 2564

รายงานของเอฟเอโอ ระบุว่า ยังมีพลเมืองโลกอีกกว่า 30% เผชิญกับสถานการณ์วะ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ระดับปานกลางและรุนแรง ในปี 2563 หมายความว่า กลุ่มคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงอาหารที่จำเป็นทุกวันอย่างต่อเนื่อง  ตัวเลขส่วนนี้สูงขึ้นจาก 26.6% ในปี 2562

ประชาชนที่เผชิญภาวะอดอยากหิวโหยติดต่อกันหลายปี ขณะที่ยังเป็นเด็ก มีแนวโน้มสูงที่จะเสียชีวิตก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ส่วนผู้ที่รอดอาจประสบปัญหา ทางด้านสุขภาพร่างกาย และสติปัญญา ไปตลอดชีวิต

นั่นก็เพราะ เมื่อเด็ก ๆ ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ พวกเขาจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม แคระแกร็น (stunted) หมายความว่า สมองและร่างกายของเด็กไม่เติบโตอย่างเต็มที่ตามธรรมชาติ

ภาวะแคระแกร็นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของบุคคล ในการให้ความสนใจ การทำงานหลายอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน (multitask) และการควบคุมอารมณ์

การลดความอดอยากที่แพร่หลายทั่วโลก ในประชากรวันเด็ก ถือเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนอย่างยิ่ง ขององค์กรระหว่างประเทศ และรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนา และการเจริญเติบโตของประเทศโดยตรง

แต่รายงานของเอฟเอโอระบุว่า การดำเนินการเพื่อลดภาวะขาดอาหารทั่วโลก นอกจากจะไม่คืบหน้าไปตามเป้าหมายแล้ว ดูเหมือนจะล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง

ความอดอยากของประชากรโลก เกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึง ความยากจน ความขัดแย้ง สงครามสู้รบ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หรือที่เรียกกันว่าภาวะโลกร้อน

จากการประเมินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) คนทำงานทั่วโลก สูญเสียงานที่เคยทำเต็มเวลาประมาณ 255 ล้านคน ในปี 2562 ปัจจัยหลักจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหมายความว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ร้ายแรงกว่าช่วงเกิดวิกฤติการเงินปี 2552 เสียอีก

เพราะความอดอยากสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2562 ดังนั้นเพียงแค่โควิด-19 หายไป ไม่น่าจะพลิกกลับแนวโน้มนี้ได้ ความขัดแย้งและความยากจน ยังเป็นภัยคุกคามหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชีย

นอกจากนั้น ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนยังสูงขึ้นเช่นกัน โดยพืชผลที่มีความอ่อนไหวต่อความร้อน และสภาพอากาศแปรปรวนสุดขีด ได้รับผลกระทบโดยตรง หากไม่มีมาตรการที่ดีพอในการแก้ไขแนวโน้มสูงขึ้นของอุณหภูมิโลก การลดจำนวนประชากรโลกที่ขาดอาหาร ก็จะยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS